10 วิธีป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน สำหรับเด็กเล็ก
บ้านนับเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในครอบครัว แต่สำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ แล้ว สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายอาจทำให้ลูก ๆ ของเราบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ อุบัติเหตุในบ้านมีอะไรบ้าง และ วิธีป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน สำหรับเด็กเล็กควรทำอย่างไร คุณพ่อคุณแม่พลาดไม่ได้ค่ะ
อุบัติเหตุในบ้านใกล้ตัวเด็กเล็กมีอะไรบ้าง
1. การนอนของเด็ก
การเสียชีวิตจากการนอน เกิดจากการนอนคว่ำหน้านาน ๆ ทำให้เด็กขาดออกซิเจน หรือการที่ลูกนอนกับแม่และด้วยความไม่ตั้งใจทำให้แม่นอนทับเด็กจนเสียชีวิต หรือเด็กนอนทับเด็กด้วยกันจนเสียชีวิต
2. ของเล่นสำหรับเด็ก
ของเล่นเด็กอาจเป็นของมีคม ที่บาดลูกได้ หรือบางอย่างก็มีสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ ส่งผลระยะยาวต่อสมอง และบางอย่างอาจมีชิ้นเล็กเกินไปจนเด็กเอาเข้าปากและหลุดลงไปติดคอได้ ซึ่งอันตรายมาก
3. การคว้าสิ่งของ ดึง ปัด การปีนบ่ายที่สูง
อุบัติเหตุนี้ มักเกิดขึ้นในเด็กวัย 6-12 เดือน เด้กมักชอบคว้าของ อาจไปคว้ากาน้ำร้อนบนโต๊ะ คว้าสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าห้อยอยู่ต่ำ สายไฟอาจพันคอเด็ก เด็กอาจปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันไดบ้าน จนพลาดตก หรือปีนหน้าต่าง เป็นอันตราย แขนขามีกำลังไม่มากพออาจทำให้ลูกพลัดตกลงจากที่สูงได้ง่าย
4. การจมน้ำ
นี่คือสาเหตุอันดับ 1 ในการเสียชีวิตของเด็ก เพราะเด็กมีพฤติกรรมชอบเล่นน้ำ ชอบเอื้อมมือลงไปแกว่งในน้ำอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ การปล่อยเด็กอาบน้ำหรือเล่นน้ำในอ่างน้ำ กาละมัง หรือถังน้ำในบ้าน หรือแหล่งน้ำที่ผู้ใหญ่คิดว่าไม่น่าจะเป็นอันตราย จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการจมน้ำได้ง่ายกว่าที่คิด
5.รถพยุงตัว หรือรถหัดเดิน
1 ใน 3 ของเด็กที่ใช้รถพยุงตัว เกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บในขณะใช้ บางรายเสียชีวิต เพราะอาจใช้แล้วพลั้งตกจากที่สูง หรือออกไปนอกบ้านแล้วถูกรถชนได้
6. ไฟฟ้าดูด
หลายบ้านก็ยังปล่อยให้ปลั๊กไฟเป็นจุดเสี่ยง ลูก ๆ ในวัยอยากรู้อยากเห็นมักไม่รู้ถึงอันตราย อาจใช้นิ้วแหย่เข้าไปในรูปปลั๊กจนเกิดอันตรายได้
10 วิธีป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
1. เก็บสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มิดชิด
คุณพ่อคุณแม่ควรจัดเก็บสายไฟ และหาฝาปิดรูปลั๊กไฟ เก็บทั้งเต้าปลั๊กไฟและสายไฟให้เรียบร้อย แนะนำให้เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ในที่สูง หรือใช้เป็นกล่องเก็บปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันเด็กแอบดึงสายไฟเล่น
2. ล็อกประตูและหน้าต่างให้สนิท
เพราะเด็กอาจจะเปิดประตูหรือปีนหน้าต่างออกไปนอกบ้านได้ อาจตกลงมาจากหน้าต่างขณะที่พ่อแม่ไม่ทันระวัง ออกไปนอกบ้านจนเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ เช่น ตกบ่อน้ำ รถเฉี่ยวชน เป็นต้น
3. ทำรั้วกั้นบริเวณทางขึ้นหรือลงบันได
พ่อแม่หลายคนจำเป็นต้องปล่อยให้ลูกน้อยวิ่งเล่นตามลำพังในบ้าน บางทีเด็กเล็กอาจเดินปีนไต่ขึ้นบันได จนพลาดตกลงมาได้ การหารั้วกันไว้ตรงบริเวณบันได จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบ้าน และป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เด็กตกลงมา ทั้งนี้รั้วกั้นจะต้องสูงกว่าความสูงที่เด็กจะปีนได้ด้วยค่ะ
4. เก็บของเล่นมีคม และของมีคมทุกชนิด รวมทั้งแก้ว กระจก โลหะ
พ่อแม่ต้องระวังอุปกรณ์ของมีคมทั้งหลาย อุปกรณ์ที่ทำจากแก้ว เหล็กและโลหะ เช่น ส้อม มีด คัทเตอร์ ปากกา ดินสอ และของเล่นมีคม เป็นต้น แนะนำให้เก็บของมีคมอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกโดนของมีคมบาด เพราะเด็กอาจจะเผลอคว้ามาตอนไหนก็ได้ นอกจากนี้ เด็กอาจจะเผลอทำแก้วแตก และเหยียบเศษแก้วที่หล่นตามพื้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องเก็บของเหล่านี้ตามตู้ที่มีบานปิดหนาแน่นด้วยเช่นกัน
5. เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีเหลี่ยมมุม
ควรหาเฟอร์นิเจอร์แบบเหลี่ยมมน หรือหาแผ่นปิดบริเวณมุมเหล่านี้ ป้องกันไม่ให้เด็กเดินชน หรือหกล้มแล้วศีรษะกระแทก เพราะบางทีเด็กอาจจะไม่ได้ทันระวังตัวขณะวิ่งเล่น
6. เก็บอุปกรณ์ที่ให้ความร้อนอย่างมิดชิด
เก็บภาชนะที่มีน้ำร้อนหรือมีของร้อนให้ห่างจากเด็ก ไม่ว่าจะเป็นหม้อต้มน้ำ กาน้ำร้อน รวมถึง เตาแก๊ส เตารีด หม้อหุงข้าว เครื่องม้วนผม เครื่องลอนผม เป็นต้น เด็กอาจได้รับอันตรายจากการถูกลวก หรือเกิดไฟฟ้าช็อตได้
7. เก็บสารเคมีและสารพิษที่ก่อให้อันตราย
เก็บผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีและสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายที่ใช้ภายในบ้าน เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้นบ้าน และยากันยุง เพราะลูกอาจไปสัมผัสหรือกินสารเคมีนี้เข้าไป
8. ห้ามวางอ่างน้ำ หรือถังน้ำใกล้เด็ก
บ่อยครั้งเด็กเล็กก็ตกลงไปในอ่างน้ำ กาละมัง ถังน้ำ ทำให้เด็กเกือบจมน้ำตาย คุณพ่อคุณแม่ต้องห้ามวางภาชนะที่ใส่น้ำไว้ใกล้เด็ก นอกจากนี้ยังควรต้องอยู่กับลูกตลอดเวลาที่ให้ลูกอาบน้ำในกาละมังด้วยนะคะ
9. ดูแลเรื่องการนอนของลูก
พ่อแม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนนอนหงาย และนอนห่างพ่อแม่ประมาณ 1 เมตร อย่าให้เด็กนอนใกล้กับสิ่งของที่หล่นทับได้ และป้องกันเด็กตกลงไปติดค้างระหว่างช่องของเตียง อย่าให้มีหมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา ที่อาจทับหน้าลูกจนหายใจไม่ออกได้
10. เลือกของเล่นที่ปลอดภัย
ต้องเป็นของที่มีขนาดไม่เล็กหรือมีชิ้นส่วนแตกหักที่ทำให้สำลักเข้าหลอดลมได้ ต้องมีมาตรฐาน มอก. และไม่มีสาร บีพีเอ ซึ่งเป็นสารเคมีในพลาสติกแข็งที่รบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย มีผลต่อสมอง และต้องไม่มี ลักษณะที่เป็นด้ามยาวที่เด็กอมเข้าปากได้หรือปลายด้ามทุกด้านต้องมีขนาดที่ใหญ่กว่า 3.5*5ซม. หรือถ้าเป็นทรงกลม ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 4.2 ซม.
ขอบคุณข้อมูลจาก
สสส., โรงพยาบาลพญาไท3, Bolttech
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก