เด็กไทย เตี้ยแคระแกร็น โลหิตจาง แคลเซียม วิตามินดีต่ำ
แม้ประเทศไทยจะมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัญหาโภชนาการในเด็กก็ยังคงมีอยู่เสมอทั้งภาวะขาดสารอาหาร รวมไปถึงภาวะได้รับสารอาหารที่ไม่จำเป็นมากเกินไปจนเกิดโรคอ้วน ล่าสุดได้มีการสำรวจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า เด็กไทยมีปัญหา เตี้ยแคระแกร็น โลหิตจาง แคลเซียม และวิตามินดีต่ำ เป็นจำนวนมากค่ะ
การสำรวจภาวะโภชนาการในเด็ก
มีผลสำรวจโครงการ ภาวะโภชนาการ เด็กใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 หรือ SEANUTS II (South East Asian Nutrition Surveys II) ซึ่งเป็นการสำรวจเด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี จำนวนเกือบ 14,000 ราย จากประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ระหว่างปีพ.ศ. 2562 – 2564 โดยมุ่งศึกษา ภาวะโภชนาการ การบริโภคอาหาร พฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็ก พบทุพโภชนาการถึง 3 ลักษณะ ได้แก่
- ภาวะโภชนาการทางด้านขาด (undernutrition) อาทิ ภาวะเตี้ยแคระเกร็น
- การขาดสารอาหารกลุ่มรอง (micronutrients deficiencies)
- ภาวะโภชนาการเกิน ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน (overweight and obesity) ซึ่งมักพบร่วมในประเทศเดียวกัน หรือบางกรณีในครอบครัวเดียวกัน
เด็ก เตี้ยแคระแกร็น โลหิตจาง ขาดแคลเซียม วิตามินดีต่ำ
ผลการศึกษาล่าสุดนี้ ต่อยอดจากการศึกษาภายใต้โครงการ สำรวจภาวะโภชนาการเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2555 โดยในครั้งนี้ยังพบปัญหา ดังนี้
- เด็กเล็ก พบภาวะ เตี้ยแคระแกร็น และภาวะโลหิตจาง
- เด็กโต ประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน
ในภาพรวมยังพบว่า เด็กส่วนใหญ่ ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และพบกลุ่มที่มีภาวะพร่องวิตามินดี จึงจำเป็นที่จะต้องเติมเต็มช่องว่างทางโภชนาการที่ขาดหาย ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้
เร่งแก้ปัญหาการเข้าถึง “โภชนาการ” ที่ดี
รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS II ในประเทศไทย อธิบายว่า โภชนาการที่ดี เกิดจากการบริโภคอาหารที่สมดุล ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม พอเพียงและมีความหลากหลายของอาหาร หากเด็กไม่ได้รับโภชนาการและสารอาหารที่จำเป็น ก็จะไม่สามารถเติบโตและมีพัฒนาการอย่างเหมาะสมได้
- ผลสำรวจที่ประเมินจากการบริโภคอาหาร พบว่า มากกว่าร้อยละ 70 ของเด็กในทั้ง 4 ประเทศ ที่ศึกษา ไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ (เมื่อเทียบกับปริมาณค่าเฉลี่ยที่ควรได้รับในแต่ละวัน)
- มากกว่าร้อยละ 84 ได้รับวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์
อาหารที่เด็กควรได้รับเพื่อแก้ปัญหา เตี้ยแคระแกร็น ขาดสารอาหาร
1.เนื้อสัตว์ เป็นสารอาหารที่ให้โปรตีนช่วยเสริมสร้างสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อและฮอร์โมน ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็ก และควรให้อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
2. ไข่เป็ด ไข่ไก่ ควรได้รับวันละ 1 ฟองทุกวัน
3. ถั่วเมล็ดแห้ง เด็กควรกินถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ เพราะมีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินบีสองมาก
4.นมสด ให้โปรตีนและแคลอรี่สูง และยังมีแคลเซียม วิตามินเอมาก ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เด็กจึงควรดื่มนมทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว
5.ผักใบเขียวและผักสีเหลือง ควรให้เด็กบริโภคในมื้ออาหารทุกมื้อ และควรสับเปลี่ยนชนิดให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน
6.ผลไม้สด เป็นแหล่งที่ดีของวิตามิน และเกลือแร่โดยเฉพาะวิตามินซี เด็กควรได้รับผลไม้ทุกวัน และเลือกชนิดให้หลากหลายตามฤดูกาล
7.ข้าว ก๋วยเตี๋ยวหรือแป้งอื่นๆ ควรจัดให้เด็กในมื้ออาหารทุกมื้อ หรือกินในรูปของขนมบ้างก็ได้ โดยเลือกข้าวหรือแป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุมาก
8.ไขมันหรือน้ำมันพืช เป็นเหล่งที่ดีของพลังงาน และช่วยให้วิตามินที่ละลายในน้ำมัน ถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ควรเลือกน้ำมันพืชเพื่อใช้ในการประกอบอาหารให้แก่เด็ก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
9.น้ำ ควรให้เด็กบริโภคน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว หรือให้เพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไปในแต่ละวัน
สารอาหารแต่ละชนิดควรให้เด็กบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้าให้ในปริมาณมากเกินจะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินหรืออ้วนได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรุงเทพธุรกิจ, ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก