ช่วงนี้คุณแม่และคุณลูกต้องรับมือกับศึกหลายด้าน ทั้งเชื้อโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ประหนึ่งหนีเสือปะจระเข้กันเลยทีเดียว หน้ากากอนามัย จึงกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของสังคมยุค New Normal ไปเรียบร้อย
แม้จะมีหน้ากากอนามัยพกให้ลูกแล้ว คุณแม่ก็ยังกังวลใจว่าหน้ากากอนามัยที่มีอยู่นั้น สามารถปกป้องลูกจากทั้งภัยทั้งปวงได้ไหม และควรเลือกซื้อชนิดไหน? เพื่อให้สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อไวรัสและฝุ่นพิษไปพร้อมกันดี?
ไขข้อสงสัย ‘หน้ากากอนามัย’ ชนิดไหนป้องกัน ‘โควิด-19’ และ ‘PM2.5’
หน้ากากทางการแพทย์
ผลิตจากพลาสติกพอลิโพรพิลีนที่มีความปลอดภัย ป้องกันเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ถึง 99% ป้องกันฝุ่นละออง และเกสรดอกไม้ ขนาดเล็ก 3 ไมครอน ได้ถึง 66.37% ถ้าอยากให้ประสิทธิภาพการป้องกันดีขึ้น แนะนําให้ใส่ 2 แผ่น เพราะจะกันได้ถึง 89.75%
หน้ากากคาร์บอน
คุณสมบัติเหมือนกับชนิดแรก คือ หน้ากากทางการแพทย์ แต่มีความพิเศษเพิ่มเข้ามาตรงที่มีชั้นคาร์บอน ช่วยกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ หน้ากากคาร์บอนมีความหนา เส้นใยสังเคราะห์ของตัวหน้ากากถึง 4 ชั้น สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 95% กรองฝุ่นละออง ขนาด 3 ไมครอน ได้ถึง 66.37% และถ้า สวมใส่ 2 แผ่น จะกันได้มีประสิทธิภาพถึง 89.75% เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
หน้ากาก N95
หน้ากากชนิดนี้มีประสิทธิภาพการป้องกันที่สูงกว่า หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป และยังสามารถดักจับอนุภาคขนาดเล็ก เช่น PM 2.5 และ PM10 ได้ถึง 95% ขึ้นไป สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่เรากำลังเผชิญได้ในระดับดีมาก เรียกว่าอันเดียวคุ้มครองครอบจักรวาลเลยทีเดียว
หน้ากาก FFP1- FFP2
หน้ากากชนิดนี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ หน้ากากอนามัย N95 คือ ป้องกันทั้งฝุ่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้ในระดับดีมาก และยังดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM10 ได้ถึง 94% ขึ้นไป และหน้ากาก FFP1 ยังมีความพิเศษเพิ่มจาก N95 คือ ป้องกันสารเคมีฟูมโลหะได้ด้วย
หน้ากากผ้า
หน้ากากผ้า ในท้องตลาดแบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกผลิตจากผ้าฝ้าย ชนิดที่สองผลิตจากใยสังเคราะห์ซ้อนกัน ทั้งสองแบบใช้ป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันน้ำมูกหรือน้ำลายจากการ ไอ/จามได้ กรองฝุ่นละอองอนุภาคใหญ่ได้ แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้
Must read >> ญี่ปุ่นเผย! หน้ากากอนามัยแบบผ้า ให้ลูกใช้สีไหนดีที่สุด
หน้ากากฟองน้ำ
หน้ากากที่ผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอน ใช้กรองอากาศโดยเฉพาะ ข้อดีคือซักทําความสะอาดได้ แห้งเร็ว พับเก็บไม่ยับ สามารถคืนรูปเดิมได้ไม่เสียทรง แต่น่าเสียดายที่หน้ากากชนิดนี้ มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด คือ ป้องกันได้แค่ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก และเกสรดอกไม้ได้เท่านั้น
จากหน้ากากทั้งหมด 6 ประเภทด้านบน สรุปได้ว่า หน้ากากอนามัยที่ป้องกันได้ทั้งไวรัสโควิด-19 และ ฝุ่น PM 2.5 คือ หน้ากาก N95 และ หน้ากาก FFP1-FFp2 ซึ่งแน่นอนว่าประสิทธิภาพชนะเลิศแบบนี้ ค่าตัวก็ย่อมสูงกว่าหน้ากากชนิดอื่นๆ ดังนั้นด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การซื้อหน้ากากราคาสูงที่ไม่สามารถใช้ซ้ำได้ ก็ดูจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สะเทือนกระเป๋าหลายๆ ครอบครัว
แต่ปัญหานี้ยังมีทางแก้ไขด้วยการดัดแปลงและประยุกต์ใช้ นั่นคือ
1. ใช้หน้ากากอนามัยปกติ แต่ใส่เพิ่มเป็น 2 ชั้น
2. ใช้สเปรย์ที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ ฉีดพรมบน “หน้ากากผ้า” เพื่อแปลงร่างให้หน้ากากผ้าธรรมดา กลายเป็นหน้ากาก 2in1 ที่ป้องกันได้ทั้งฝุ่นและไวรัสไปพร้อมๆ กัน
Must read >> วิธีทำหน้ากากอนามัย ใช้เองได้ง่ายนิดเดียว
ซึ่งแนวทางการแก้ไขเรื่องหน้ากากนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำผ่านเพจเฟซบุ๊ค “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ไว้ดังนี้
“วิธีการที่ผมประยุกต์ใช้โดยส่วนตัว ก็คือ ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ด้านใน แล้วใช้หน้ากากผ้าใยสังเคราะห์ ที่เป็นลักษณะ 3 มิติเข้ากับใบหน้า สวมทับอีกชั้น กดให้หน้ากากแนบกับหน้าไว้ สังเกตว่าเวลาหายใจจะลำบากขึ้นกว่าการใส่หน้ากากอนามัยการแพทย์ธรรมดา เวลาหายใจเข้าจะรู้สึกได้ถึงการดูดของหน้ากากเข้ามาแนบกับใบหน้า ซึ่งถือว่าใช้ได้แล้ว และมีข้อดีคือสามารถถอดหน้ากากด้านในทิ้งได้ โดยที่ยังเก็บหน้ากากด้านนอกเอาไว้หรือซักได้ด้วย”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
การใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
นอกจากความรู้ในการเลือกใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะกับเหตุการณ์ที่เจอ คุณแม่ต้องใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ทั้งการใส่ การถอดทิ้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะได้สอนเจ้าตัวเล็กของเราให้ ฉลาดในการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี (HQ) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 ความฉลาด Power BQ อันเป็นทักษะชีวิตของเด็กยุคใหม่ ที่จะให้ลูกเติบโตไปอย่างมีภูมิคุ้มกันต่อสังคมในอนาคต และประสบความสำเร็จ มีความสุขในชีวิต
วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
- ทำความสะอาดมือก่อนใส่หน้ากาก
- หันด้านที่มีสีออกข้างนอก หันด้านสีขาวเข้าตัว
- จับสายจากด้านข้างแล้วคล้องที่หลังหู
- กดแกนโลหะด้านบนให้แนบกับหน้า
- ดึงหน้ากากด้านล่างให้ถึงใต้คาง
วิธีถอดหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
- ใช้นิ้วเกี่ยวสายคล้องเพื่อทิ้งลงถังขยะ
- ห้ามสัมผัสหน้ากากโดยตรง
- หากสัมผัสหน้ากากที่ใช้แล้ว ให้ล้างมือให้สะอาด
ถ้าไม่มี “หน้ากากอนามัย” ทำอย่างไร
- หาก ไอ จาม ให้ใช้แขนเสื้อหรือผ้าปิดปากแทน ไม่ควรใช้มือเพราะเชื้อโรคจะติดมากับมือ ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสูง
- พกแอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์ ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมคือ 70% หรือไม่ต่ำกว่า 50%
- เช็ดที่จับประตู หรือสิ่งของที่มีคนจับบ่อย ๆ
การใส่หน้ากากในเด็ก
- สำหรับการใส่หน้ากากในเด็กนั้น หากต่ำกว่า 2 ปี หมอไม่แนะนำให้ใส่ หากมีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากให้ลูก เนื่องจากออกไปในที่ชุมชน ให้หมั่นตรวจสอบว่าหน้ากากนั้นปิดกั้นการหายใจของเด็กหรือไม่ เนื่องจากเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ยังเล็กเกินไปที่จะดูแลจัดการกับหน้ากากด้วยตัวเองได้
- เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ควรใส่หน้ากากผ้า เมื่อต้องออกไปที่ชุมนุมชน หรือไปโรงเรียน
- สอนให้ลูกใส่หน้ากากผ้า และถอดหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธี ไม่เอามือไปจับหน้ากากเวลาสวมใส่
- สอนให้ลูกรู้จักการล้างมือก่อนและหลังจับหน้ากาก
- ฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการใส่หน้ากาก เพื่อไม่ให้เด็กรำคาญจนเกิดการจับหน้ากากบ่อย จนเสี่ยงกับเชื้อโรค
- ตรวจสอบไม่ให้หน้ากากรัดแน่นจนลูกหายใจลำบาก
- หน้ากากผ้าต้องเปลี่ยนทุกวัน หลังจากใช้แล้วให้ซักทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- การใช้หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยในเด็ก ป้องกันโควิด-19 ได้ เมื่อใช้ควบคู่กับการล้างมือ และดูแลสุขอนามัยให้กับเด็ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
Must read >> 5 เทคนิคสอนลูกใส่ หน้ากากอนามัย ป้องกันโรค ป้องกันฝุ่น ให้ได้ผล
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!
โควิดรอบใหม่ ไร้อาการ ปอดอักเสบ หมอย้ำ “ติดง่ายเป็นหนัก” วัยทำงานต้องระวัง
หนีได้หนี! ฝุ่นpm2.5ภาคเหนือ วิกฤตหนัก หมอแนะ วิธีสู้และสังเกตอาการอย่างละเอียด
ขอบคุณข้อมูลจาก www.prachachat.net, www.bangkokbiznews.com, www.rama.mahidol.ac.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่