ลูกเล่นมือถือ อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ
จริงอยู่ที่ยุคนี้คือยุคของสื่อโซเชียล การปล่อยให้ลูกเล็ก ๆ ได้เล่นมือถือนั้น ก็อาจจะมีประโยชน์และมีโทษควบคู่กันไป ขึ้นอยู่ที่ว่า คุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดด้านใดมากกว่ากัน และในวันนี้เราก็ได้เตรียม 4 คำแนะนำที่จะให้ลูกเล่นมือถืออย่างไรให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษมาฝากกันค่ะ
- วัยที่เหมาะสม ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่จะต้องทราบก่อนเลยนะคะว่า มือถือ นั้นไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่กำลังฝึกพูดหรือเด็กเล็ก ๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 9 ขวบเล่นมือถือ เนื่องจากระบบประสาทยังพัฒนาไม่เต็มที่ โครงสร้างของศีรษะยังไม่แข็งแรง การใช้มือถือนั้น คือการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในสมองซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของนักวิจัย 7ชาติ แห่งสหภาพยุโรป ที่พบว่าคลื่นโทรศัพท์มือถือ ทำอันตรายแก่ DNA และเซลล์ ของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะต่าง ๆ เช่น ออทิสติกเทียม ตาขี้เกียจ และพัฒนาการช้า เป็นต้น
- จำกัดระยะเวลาในการเล่น พยายามอย่าให้ลูกเล่นมือถือนานเกินกว่า 30 นาทีนะคะ และควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่าการอยู่แต่ในบ้าน เพื่อที่จะได้เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกได้อย่างเต็มที่
- สอดส่องดูแล หากลูกอยู่ในวัยที่สามารถเริ่มเล่นได้ หรือสำหรับบางครอบครัวที่อนุญาตให้ลูกเล่นแล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะคอยสังเกตให้ดีว่า ลูกของเรากำลังเล่นเกมส์หรือกำลังเปิดดูคลิปอะไรอยู่ ที่สำคัญคอยหมั่นถามด้วยนะคะว่า คนที่เขากำลังคุยอยู่ผ่านช่องทางต่าง ๆ นั้นคือใคร
- เป็นตัวอย่างที่ดี ข้อนี้สำคัญมากเลยละค่ะ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ตั้งกฎหรือห้ามไม่ให้ลูกเล่นมือถือ หรือจำกัดเวลาในการเล่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่กลับมาทำสิ่งเหล่านั้นเสียเองด้วยการก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือมากกว่าสนใจสิ่งรอบข้างแล้วละก็ คงไม่แปลกที่ลูกจะทำ
จริงอยู่ที่มือถือ คือปัจจัยที่ 5 ที่พวกเราทุกคนขาดไม่ได้ เพราะสามารถตัดทอนช่องทางการสื่อสารที่ยากลำบากให้ง่ายขึ้น แต่ก็อย่าลืมนะคะว่า บางทีความสบายเหล่านี้ ก็อาจเปลี่ยนเป็นดาบสองคม ย้อนกลับมาทำร้ายเราและคนที่เรารักได้ด้วยเช่นกัน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- 7 พฤติกรรมก่ออันตรายให้ลูก ที่พ่อแม่ติดมือถือต้องหยุดทำ!
- กรมสุขภาพจิตพบ! เด็กเล็กเป็นโรคไฮเปอร์เทียมมากขึ้น เพราะพ่อแม่ให้ลูกเล่นแท็บเล็ต-มือถือ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่