เช็ค 6 อาการ ติดโรคมือ เท้า ปาก มาจากโรงเรียน
โรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกโรคที่เมื่อเปิดเทอมทีไร ก็มักจะระบาด จนหลายโรงเรียนมีเด็ก ๆ ติดกันแทบยกห้องเรียน จนต้องประกาศหยุดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดอยู่หลายครั้ง ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาสังเกตดูว่าลูกเรามี 6 อาการที่เสียง ติดโรคมือ เท้า ปาก มาจากโรงเรียนหรือไม่ค่ะ
สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้างค่ะ
6 อาการติดโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง ดังนี้
- มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
- ไอ เจ็บคอ
- ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย
- มีตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก
โดยอาการจะเริ่มจากมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน
โรคมือ เท้า ปาก ตุ่มพองจะขึ้น
ตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่เกิดขึ้นภายในปาก อาจเกิดได้ทั้งบริเวณปากด้านนอกและด้านใน บนริมฝีปาก ในลำคอ บนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ตุ่มแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลืนน้ำดื่มหรืออาหาร และตุ่มพองน้ำกับผื่นเป็นจุด ๆ จะเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้าและบางครั้งก็พบที่บริเวณก้นและขาหนีบด้วยเช่นกัน
ตุ่มและแผลที่เกิดขึ้น มีลักษณะคล้ายเป็นอีสุกอีใส แต่มีขนาดเล็กกว่า บางครั้งทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และไม่สบายตัว แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ขณะเดียวกันคือ ภาวะแทรกซ้อนก็พบได้ อันที่รุนแรงที่สุด เราเรียกว่าเป็นก้านสมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ 1-5 รายต่อปี มีโอกาสเสียชีวิตที่สูง
พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดีว่าเด็กมีอาการที่น่ากังวลไหม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกมีอาการซึมลง หายใจหอบ หายใจเร็ว มีอาการชัก เกร็ง หมดสติ หรือมือสั่น ขาสั่น เดินเซ ถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรจะต้องรีบพากลับมาพบแพทย์
การรักษาโรคมือ เท้า ปาก
ในปัจจุบัน โรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยตรง แต่เป็นการรักษาอาการทั่ว ๆ ไปตามแต่อาการที่เกิดขึ้น เช่น
- เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ เด็กดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน
- หากเด็กเพลียมาก อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปาก เพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก
- เฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น
การคัดกรองโรค
กรมวบคุมโรคได้เน้นให้ตามโรงเรียน สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้
- คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้าอย่างเคร่งครัด
- ให้เด็กสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ
- สอนให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อน และหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น
- จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
- หากเด็กไม่สบาย หรือมีไข้ก่อนมาเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่บ้าน
- หากโรงเรียนพบเด็กป่วย ให้แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้คุณพ่อคุณแม่รับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมทั้งให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่น งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกแขนขาอ่อนแรงอย่ามองข้าม! อาจป่วย ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน!
Propoliz Kid เมาท์สเปรย์ที่คุณหมอแนะนำ ซีซั่นนี้…ลูกแม่ต้องรอด