ควรจะบีบยาสีฟันแค่ไหนถึงจะดี ?
คำถามสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มสนใจเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของลูกน้อยคงหนีไม่พ้น เมื่อได้ยาสีฟันที่ถูกต้อง เหมาะกับเด็กแล้ว แปรงสีฟันของลูกก็ตรงตามวัยแล้ว แล้วเราควรบีบยาสีฟันให้ลูกในปริมาณเท่าไหร่กันดี?
ปริมาณยาสีฟันที่ควรใช้กันที่ได้รับการรับรองจากสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ในเด็ก 3-6 ขวบ บีบยาสีฟันให้มีขนาดเท่าเม็ดถั่ว (pea size) เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ให้บีบยาสีฟันแค่พอแตะขนแปรง หรือเท่าเมล็ดข้าว เพราะถ้าใช้มากเกินไปเด็กมักจะกลืนยาสีฟันเข้าไปด้วย ทำให้ได้รับปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไปซึ่งส่งผลทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาอาจมีจุดสีขาวๆ บนตัวฟัน (Dental Fluorosis) และไม่สามารถกำจัดออกไปได้
Pea size ขนาดเท่าเม็ดถั่ว ชนิดไหน??
ในคำแนะนำปริมาณยาสีฟันจากสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แนะนำให้เด็กอายุ 3-6 ปีใช้ปริมาณยาสีฟัน บีบเท่าเมล็ดถั่ว หรือ pea size ทำให้เกิดข้อสงสัยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ชาวไทยกันแล้วละสิว่า เม็ดถั่วก็มีตั้งหลากหลายชนิด แล้วจะเป็นปริมาณเท่าถั่วชนิดไหนดีนะ
จากคำกล่าวของ คุณหมอตุ๊กตา จากเพจ ฟันน้ำนม ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในเพจว่า
การใช้ยาสีฟัน
พ่อแม่สามารถใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้ลูกได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ถึงแม้ยาสีฟันที่ขายตามท้องตลาดจะเขียนกำกับไว้ว่าใช้ในเด็ก 2-6 ขวบ แต่ก็สามารถใช้ได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยใช้ตามขนาดที่เหมาะสม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการกลืนยาสีฟัน ในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปสามารถบีบยาสีฟันได้เท่ากับความยาวของหน้าตัดแปรง เพราะสามารถควบคุมการกลืนได้แล้ว
ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป ไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อออนไลน์จากต่างประเทศ สิ่งที่ควรพิจารณาเพื่อเลือกยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้ลูกมีง่ายๆ ตามนี้
- มีฟลูออไรด์อย่างน้อย 500 ppm ขึ้นไป (ตาม AAPD guideline 2018 สามารใช้ฟลูออไรด์ได้ตั้งแต่ 1000-5000 ppm ทั้งนี้ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ)
- ใช้สารทดแทนความหวานจากน้ำตาล xylitol หรือ sorbitol
นอกจากการดูแลรักษาความสะอาดฟันแล้ว พ่อแม่ควรเลือกและสอนให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้ฟันพุ เช่น นมเปรี้ยว นมช็อกโกแลต นมรสหวานชนิดต่างๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวต่างๆ และให้รับประทานอาหารเป็นมื้อ โดยมื้อหลักและอาหารว่างควรห่างกันไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
**สิ่งสำคัญในการป้องกันฟันผุให้ลูกนอกจากยาสีฟันผสมฟลูออไรด์แล้ว คือการแปรงฟันให้ลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้า และก่อนนอนอย่างถูกวิธี และการพบทันตแพทย์เป็นประจำตามนัด โดยควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพฟันที่แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย
ฟลูออไรด์ ฮีโร่สำหรับฟัน!!
ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยที่มีคุณภาพรองรับจำนวนมาก และศึกษากันมายาวนานมากกว่า 30 ปี โดยฟลูออไรด์จะทำหน้าที่ในการป้องกันฟันผุโดย ทำให้โครงสร้างของฟันแข็งแรงทนกรดมากขึ้น และซ่อมแซมฟันผุเล็กๆ หรือฟันผุระยะแรกโดยการตกตะกอนแร่ธาตุกลับเข้าไปใหม่
นอกจากการใช้ฟลูออไรด์แบบสัมผัสโดยตรงกับกับฟันแล้ว ยังมีฟลูออไรด์แบบทานที่ได้จากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ยาเม็ดฟลูออไรด์ ยาน้ำ วิตามิน ฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และนมฟลูออไรด์ ที่เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี สำหรับยาเม็ดและยาน้ำฟลูออไรด์ควรอยู่ในการควบคุมปริมาณโดยทันตเแพทย์ ซึ่งจะต้องมีการประเมินปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำและอาหารที่เด็กได้รับก่อนที่จะสั่งจ่ายฟลูออไรด์ให้เด็ก เนื่องจากมีโอกาสที่เด็กจะได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป
- ทำความรู้จักกับนมฟลูออไรด์
นมทั่วไปเมื่อเด็กดื่มแล้วจะมีคราบนมติดอยู่บนผิวฟันซึ่งถ้าไม่ได้รับการทำความสะอาดให้ดีก็จะเป็นสาเหตุของฟันผุได้ แต่สำหรับนมฟลูออไรด์หรือนมที่มีการเติมโซเดียมฟลูออไรด์เข้าไปในปริมาณที่กรมอนามัยโลกกำหนด จะช่วยให้เด็กที่นอกจากได้รับแคลเซียมจากนมในปริมาณที่เหมาะสมแล้วยังได้รับแคลเซียมซึ่งช่วยในการป้องกันฟันผุโดยที่กลิ่น สี และรสชาติของนมยังคงเดิม
เมื่อมีอาการฟันผุควรไปพบทันแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี แต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับฟันลูก คือการแปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพฟันที่แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.curaprox.co.th/https://multimedia.anamai.moph.go.th/https://www.synphaet.co.th/https://multimedia.anamai.moph.go.th/https://www.siphhospital.com/ทพ.ณพงษ์ พัวพรพงษ์ ทันตแพทย์ รพ.วิภาวดี
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ระวัง “เป่าอาหาร” เท่ากับส่งต่อแบคทีเรีย “ ลูกฟันผุ ” ไม่รู้ตัว
ลำดับการขึ้นของฟัน และวิธีดูแลฟันลูกอย่างถูกวิธีตั้งแต่ซี่แรก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่