รับมือ! เมื่อลูกวัยอนุบาลวีนแล้วทำร้ายตัวเอง

Alternative Textaccount_circle
event

ถ้าลูกจงใจตีหรือกัดตัวเอง คุณก็ต้องพยายามนึกถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ เช่น ลูกโกรธคุณ แต่ไม่รู้จะระบายออกอย่างไร จึงเลือกที่จะทำโทษตัวเองแทน ลูกรู้สึกผิดที่โกรธคุณ จนคิดว่าควรทำโทษตัวเอง หรือมีใครเคยทำโทษเขาด้วยวิธีนี้มาก่อน

ลองทบทวนดูว่า ก่อนที่พฤติกรรมนี้จะเริ่มขึ้น มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในชีวิตของลูกบ้าง เช่น คุณพ่อมีงานที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดนานหลายวัน เพราะถ้ารู้สาเหตุก็จะหยุดปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น พอคุณพ่อกลับมาแล้ว ก็หาเวลาในวันหยุดเล่นกับเขาอย่างเต็มที่

ส่วนวิธีที่จะช่วยลดพฤติกรรมแบบนี้ได้คือ ต้องให้ความสนใจลูกอย่างเต็มที่ เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง และหาเกมโลดโผนมาเล่นกับลูกเพื่อช่วยระบายแรงกดดันออกไปบ้าง ที่สำคัญคือ ต้องหยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางอารมณ์นี้ทันที โดยอุ้มเขาขึ้นมากอดหรือดึงตัวมานั่งที่ตัก บอกเขาว่า ที่คุณไม่ปล่อยให้เขาทำร้ายตัวเองก็เพราะคุณรักเขา และมีหน้าที่จะต้องดูแลเขาอย่างดีที่สุด

พฤติกรรมรุนแรงในเด็กวัยนี้มักเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ แต่หากคุณพยายามช่วยมาได้สัก 1 สัปดาห์แล้ว ลูกก็ยังจงใจทำร้ายตัวเองอยู่เหมือนเดิม เห็นทีคงต้องปรึกษาคุณหมอ คุณครู หรือนักพฤติกรรมบำบัด เพื่อช่วยให้ลูกรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตัวเองด้วยวิธีที่ดีกว่านี้

6 เคล็ดลับสยบลูกจอมวีน

กลยุทธ์ที่ได้ผลที่สุดคือความสม่ำเสมอในการใช้เทคนิคเหล่านี้เพื่อสยบลูกจอมวีนให้อยู่หมัด มาดูกันว่ามีวิธีอะไรบ้าง

1. ไม่แสดงความสนใจ

พอลูกเริ่มกรี๊ด คุณก็ต้องไม่สบตาและหันหน้าหนีทันที หรือจะหลบไปอยู่ที่ห้องอื่นเลยก็ได้ พอรู้แล้วว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล เดี๋ยวเขาก็เลิกวีนไปเองแหละ

2. เป็นแบบอย่างของการใช้วิธีสื่อสารที่เหมาะสม

บอกลูกว่าคุณอยากให้เขาทำอะไร แทนการบอกว่าไม่อยากให้ทำอะไร โดยใช้น้ำเสียงแบบที่คุณอยากให้เขาใช้

3. ลองใช้วิธีเสริมพฤติกรรมที่ดีด้วยการชม

ถ้าลูกวีนเป็นประจำ ก็ลองใช้วิธีพูดชมทุกครั้งที่เขาไม่ได้วีน บอกลูกว่า คุณชอบให้เขารู้จักพูดดีๆ แบบนี้แหละ

4. สนองความต้องการก่อนที่ลูกจะวีน

เด็กๆ มักงอแงเมื่อรู้สึกเหนื่อย หิว ไม่สบายตัวหรือเบื่อ คุณจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้ด้วยการเตรียมพร้อมไว้ทุกเมื่อ เช่น เวลาพาเขาไปเที่ยวข้างนอกบ้าน ก็ต้องพกขนม ของเล่น และเสื้อผ้าสำรองติดไปด้วย

5. ต้องฝึกให้ลูกรู้จักมีวินัยบ้าง

ถ้าการวีน กลายเป็นปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น วีนไม่ยอมใส่เสื้อผ้า คุณก็ต้องตักเตือนว่าไม่ควรดื้อแบบนี้นะ และถ้าเตือนแล้วไม่ได้ผลก็ต้องหาวิธีรับมือที่เหมาะสม (เช่น ไม่สนใจจนกว่าเขาจะยอมใส่เสื้อผ้าให้เรียบร้อย)

6. รู้จักหยวนให้ลูกบ้าง

บางครั้งเด็กๆ ก็มีเหตุผลในการวีนเหมือนกันนะ เช่น เหนื่อยจากการเดินทางระยะไกล หรือกำลังไม่สบายอยู่ คุณต้องเห็นใจลูกบ้าง เพราะเขาอาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และอย่าลืมว่าที่ลูกวีนอาจเป็นเพราะเขาอยากบอกอะไรคุณสักอย่าง ฉะนั้น ถึงคุณจะไม่ชอบน้ำเสียงที่เขาใช้ ก็ต้องใส่ใจคำพูดของเขาบ้าง

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up