“ฉี่รดที่นอน” เรื่องไม่เล็กไม่ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจดีว่า ไม่ช้าไม่นานอาการนี้ก็จะหายไป แต่ถ้ามีวิธีดีๆ ช่วยลูกน้อยให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ได้เร็วขึ้นก็น่าจะดีกว่า
4 ข้อเข้าใจก่อนช่วยลูกหยุดฉี่รดที่นอน
1. ความมั่นใจ สบายใจคือกุญแจสำคัญ
การฉี่รดที่นอนไม่ใช่ความผิดของใคร ลูกคุณไม่ได้ขี้เกียจหรือต้องการเรียกร้องความสนใจ ดังนั้นการตำหนิ ต่อว่าว่าเป็นความผิดของลูกจะทำให้ขั้นตอนต่อๆ ไปยิ่งยาก
2. คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจสาเหตุ
เพราะลูกน้อยยังไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะตอนกลางคืนได้เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่เด็กที่ฉี่รดที่นอนจะหลับลึกและหลับนาน จนไม่รู้ตัวว่าปวดฉี่ และจากการสำรวจก็พบว่าในครอบครัวของเด็กที่ฉี่รดที่นอน มีสมาชิกคนอื่นๆ เคยฉี่รดที่นอนตอนเด็กๆ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มีแนวโน้มว่าต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยๆ ด้วย
3. ถ้าไปค้างคืนนอกสถานที่จะไม่เป็น
เด็กฉี่รดที่นอนหากต้องไปค้างคืนที่อื่น ส่วนใหญ่เขาจะไม่ฉี่รดที่นอนเหมือนตอนอยู่บ้าน นั่นเป็นเพราะเด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นกับสถานที่ใหม่ๆ และกังวลกับอาการฉี่รดที่นอนของตัวเอง ทำให้นอนหลับไม่สนิท จึงรู้ตัวและตื่นไปฉี่ได้ แต่เมื่อกลับบ้านไปเจอบรรยากาศที่คุ้นเคย อาการนี้ก็จะกลับมาเหมือนเดิม
4. หายแล้วอาจกลับมาเป็นได้อีก
เด็กบางคนที่หายแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับมาฉี่รดที่นอนอีก อาจมีสาเหตุมาจากความเครียดหรือความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันอย่างรุนแรง หรือกำลังเตรียมตัวจะเข้าโรงเรียน และอาการจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อความเครียดหรือความวิตกกังวลลดลง
พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง?
1. สร้างความมั่นใจ
บอกลูกว่า “การฉี่รดที่นอนเป็นเรื่องปกติของเด็กในวัยนี้ เด็กคนอื่นๆ ก็เป็นกัน และไม่ใช่เรื่องน่าอาย อีกไม่นานลูกก็จะหายเอง” และหากมีคนในครอบครัวเคยฉี่รดที่นอนตอนเด็กๆ ก็เล่าให้ลูกฟังเป็นการแบ่งปันเรื่องราวช่วยทำให้ลูกไม่รู้สึกเครียดหรือกังวลจนเกินไป
2. พยายามให้ลูกดื่มน้ำระหว่างวันเยอะๆ
แทนการดื่มน้ำตอนกลางคืน และควรหลีกเลี่ยงพวกน้ำอัดลมที่มีทั้งน้ำตาลและคาเฟอีน เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ลูกปวดฉี่บ่อยๆ
3. เตือนลูก
ให้ลูกเข้าห้องน้ำก่อนเข้านอนทุกวัน
4. อธิบายให้เข้าใจ
ด้วยคำง่ายๆ ให้ลูกพอรู้ว่า การฉี่รดที่นอนเกิดจากอะไร เช่น ตอนนี้ลูกยังเด็กอยู่เวลานอนหลับสนิท เลยไม่รู้สึกตัวตอนปวดฉี่มากๆ เลยไม่ตื่นมาเข้าห้องน้ำ ลูกก็เลยฉี่บนที่นอน แต่ถ้าลูกโตขึ้นกว่านี้เมื่อไหร่ สมองของลูกก็จะสั่งงานทันทีเมื่อลูกปวดฉี่มากๆ และต้องเข้าห้องน้ำ
5. ไม่ดุหรือต่อว่า
เวลาที่ลูกทำที่นอนเปียก เปลี่ยนจากคำต่อว่าเป็นการชวนลูกมาช่วยกันซักผ้าปูที่นอนด้วยกันดีกว่าตั้งเยอะ
6. ตั้งเวลา
บางบ้านใช้นาฬิกาปลุก เพื่อปลุกลูกมาเข้าห้องน้ำหลังจากลูกหลับไปแล้ว 2 – 3 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่ใช้ได้ผลกับเด็กฉี่รดที่นอนทุกคน
7. ใช้ผ้ายางปูทับผ้าปูที่นอน
จะได้ทำความสะอาดง่าย และฝึกความรับผิดชอบด้วยการให้ลูกเช็ดล้างผ้ายางเอง
8. เปิดไฟสลัวในห้องน้ำ
เผื่อวันไหนที่ลูกตื่นแล้วอยากเข้าห้องน้ำเอง เขาจะได้ไม่กลัว
9. อาบน้ำให้สะอาดหมดจด
ไม่เหลือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพื่อไม่ให้เกิดการล้อเลียนในหมู่เพื่อนๆ
10. ชื่นชมทันที
หากวันไหนที่ลูกไม่ฉี่รดที่นอน คุณจะมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจก็ไม่มีข้อห้ามค่ะ
รู้ไหม?
- การฉี่รดที่นอนเป็นเรื่องปกติของเด็กๆ วัยก่อนอนุบาล
- เด็กส่วนใหญ่หยุดฉี่รดที่นอนตอนกลางวันเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ และจะหยุดฉี่รดที่นอนตอนกลางคืนตอนอายุราวๆ 5 ขวบ ไม่เกิน 7 ขวบ
- เมื่อเข้าโรงเรียนอาการฉี่รดที่นอนก็จะน้อยลง แต่ก็ยังมีเด็กระดับประถมบางคนที่ยังฉี่รดที่นอนอยู่บ้าง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง