ขอบเขตการทำโทษลูก หรือ ลงโทษเด็ก พ่อแม่ควรทำอย่างไร หรือ ทำแค่ไหนถึงเรียกว่าพอดี!! เพื่อป้องกัน ไม่ให้จิตใจของลูกบอบช้ำหลังถูกทำโทษ ตามมาดูคำแนะนำจากคุณหมอจิตแพทย์เด็กกันค่ะ
ขอบเขต..วิธี ลงโทษเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้!
ป้องกัน “ลูกจิตใจบอบช้ำหลังถูกทำโทษ”
Q: ลูกอายุ 6 ขวบกว่าครับ ไม่ใช่เด็กว่าง่าย ปู่ย่าบอกว่าถ้าเลี้ยงแบบตีเสียบ้าง ก็จะไม่เอาแต่ใจอย่างนี้ แต่พ่อแม่เห็นว่า เขาไม่ได้เอาแต่ใจทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่เด็กเรียบร้อยว่าง่าย พูดปุ๊บทำตามทันที (ซึ่งก็ชวนให้โมโหจริงๆ) ต้องบอกเหตุผลเขาบ้าง ไม่ดุไม่บ่นมากเขาก็จะร่วมมือ จะทำอย่างไรให้ลูกว่าง่ายขึ้นครับ และการตีใช้ได้ผลกับเด็กอายุเท่าไรถึงเท่าไร และจะตีให้ได้ผลควรตีอย่างไร ตีเรื่องอะไรครับ
สำหรับเรื่องการทำโทษลูก หรือ ลงโทษเด็ก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ให้คำแนะนำว่า…
วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้เด็กว่าง่ายคือ การให้เหตุผล เป็นวิธีที่ถูกต้อง คุณพ่อสามารถหาความรู้ว่าด้วยเรื่องการให้เหตุผลในเว็บไซต์นี้หรือค้นหาจากเว็บเสิร์ชเอนจิ้น ด้วยคำค้นว่า จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology
นอกจากเรื่องการให้เหตุผลแล้ว หลักการที่จิตวิทยาเชิงบวกมักใช้คือ ให้เด็กรับผิดรับชอบการตัดสินใจของตนเอง พูดง่ายๆ ว่าตนเองทำอะไรไว้ก็ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นเสียดีๆ ด้วยวิธีนี้เด็กๆ ก็จะเรียนรู้เองว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (หรือพ่อแม่ประสงค์) คืออะไร
วิธีนี้ได้ผลแน่นอน มีงานวิจัยรองรับและมีตัวอย่างมากมาย อย่างไรก็ตามเรื่องยังหนีไม่พ้นประเด็นที่ผมพูดเสมอว่า คนเป็นพ่อแม่ต้องมี 2 อย่าง คือ การพูดตรงกัน และความสม่ำเสมอ
จะสอนหรือให้เหตุผลอะไร พ่อแม่ก็ต้องพูดตรงกันอยู่ดี จะยืนยันหลักการให้ลูกรับผิดรับชอบผลของการกระทำ คนเป็นพ่อแม่ยิ่งต้องการความอดทน มั่นคง และสม่ำเสมอ หมายถึงอดทนนานพอที่จะเห็นลูกค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ถ้าทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้นและทำอะไรน่าจะดีกว่า
ปัญหาที่พบคือพ่อแม่เมืองไทยอดทนไม่พอ ที่จะให้ลูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตามการคาดหวังของสังคม อีกเส้นทางหนึ่งที่ผมใช้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานและเชื่อได้ว่าเป็นวิธีที่คนเฒ่าคนแก่เลี้ยงผมและคนรุ่นของผมมาตลอดคือการพูดสั้นๆ แต่สีหน้าเอาจริง ประเภทคำเดียวอยู่ ข้อดีของวิธีนี้คือได้ผลเร็วดี เราไม่พูดเหตุผลยืดยาว แต่สอนด้วยสีหน้าและน้ำเสียง “เอาจริง” โดยไม่ต้องดุ และไม่ตี
จะเห็นว่าสองวิธีนี้ต่างกันชัดเจน มีที่เหมือนกันอยู่คือการเอาจริงและทำสม่ำเสมอ ส่วนการทำโทษลูก หรือ ลงโทษเด็ก ด้วยการตี ตำราว่า ตีเมื่อเขาทำความผิดร้ายแรง “ร้ายแรง” แปลว่าอะไร แปลว่าความเสียหายนั้นอาจจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น สมัยโบราณก็จะตีให้หลาบจำ
- วิธีลงโทษลูกเมื่อลูกทำผิด โดยไม่ต้องตี หรือดุด่า
- ใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กดื้อ เอาใจตัวเอง
- รวมเรื่องที่พ่อแม่ชอบทำให้ลูกเสียใจโดยไม่รู้ตัว?
ทั้งนี้ หากถามกลับไปว่า “พ่อแม่จำเป็นต้องลงโทษเด็กขนาดนี้เลยหรือไม่?” จิตใจเด็กจะบอบช้ำหรือเปล่า และจริงๆแล้วในกรณีที่ลูกทำผิด ขอบเขตการลงโทษเด็ก ควรแค่ไหน…
ขอบเขต ลงโทษเด็ก แค่ไหนจึงจะพอดี?
1. หากเด็กทำลายข้าวของ ทำทรัพย์สินเสียหาย รบกวนสาธารณะ เหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านควรสั่งสอน และสั่งสอนทันทีด้วยไม่ทิ้งไว้ข้ามวัน
2. เมื่อพบเด็กกระทำรุนแรง พ่อแม่ที่ใส่ใจต้องหยุดการกระทำนั้นทันที แปลว่าท่านต้องอยู่บริเวณนั้น และเห็นความสำคัญถึงระดับทิ้งภารกิจตรงหน้าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเดินไปหยุดเด็กในทันที
3. การหยุดเด็กที่ได้ผลนอกจากทำทันทีแล้ว ต้องการสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียง ที่เอาจริง
4. พ่อแม่บางบ้านทำเป็น พ่อแม่บางบ้านทำไม่เป็น พ่อแม่ที่ทำเป็นทำครั้งสองครั้งก็เอาอยู่ พ่อแม่ที่ทำไม่เป็นทำกี่ครั้งเด็กก็ไม่ฟังเพราะเขาฉลาดพอจะรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่อ่อนแอ (weak)
5. นอกจากสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงแล้ว ก็คือคำพูด พ่อแม่ที่ทำเป็นมักพูดสั้นมาก “ไม่” “ไม่ให้” “ไม่ได้” เท่านี้พอ ไม่มีคำอธิบาย เด็กก็ฟัง ทำให้เด็กฟังก่อน เรื่องเหตุผลรอพูดทีหลังได้
6. พ่อแม่ที่ทำไม่เป็นมักจะพูดยาว อธิบายเหตุผลมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ เพราะเด็กไม่มีเหตุผลในเวลาหรืออารมณ์นั้นอยู่แล้ว ปัญหาของเด็กอยู่ที่อารมณ์ มิได้อยู่ที่เหตุผล ดังนั้นเวลาพบการกระทำรุนแรงเราหยุดการกระทำของเด็กให้ได้ก่อน และรอให้อารมณ์เหือดหายไปเอง
- [สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ
- รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เมื่อการตีเป็นผู้ร้ายพ่อแม่จะทำอย่างไร
- ลูกทำผิด เทคนิคสอนลูก แบบไม่ต้อง ทำโทษ โดยพ่อเอก
7. หากสนใจ จิตวิทยาเชิงบวก สามารถเรียนรู้และช่วยให้เด็กเท่าทันอารมณ์ตนเองได้
8. หากสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง คำพูด หยุดเด็กไม่ได้ ที่ควรทำคือ จำกัดขอบเขต ภาษาอังกฤษเรียกว่า Limit Setting เมื่อพบเด็กกระทำรุนแรง เราต้องหยุดเขาทันทีไม่วิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่เพิกเฉย ไม่เฉยเมย
9. การจำกัดขอบเขต ลงโทษเด็ก ที่ชะงัดที่สุดคือมัดหรือจับใส่กรง ซึ่งเราไม่ทำกับลูกหรือเด็ก การเอาออกจากบริเวณนั้นทันทีเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเป็นการจำกัดขอบเขตวิธีหนึ่งแต่จะทำได้เมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญ กล่าวคือพ่อแม่ยอมทิ้งภารกิจตรงหน้าคว้าเด็กออกไป ปัญหามักกลับมาอยู่ที่พ่อแม่ไม่ว่าง ไม่กล้าทำ ไม่คิดว่าต้องทำ หรือมัวแต่อายสายตาคนอื่นเสียมากกว่า
10. การจำกัดขอบเขต ลงโทษเด็ก ที่ดี พ่อแม่ยังคงอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เมื่อลูกสงบพอคุยได้แล้วจะได้คุยกัน
การที่พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนลูก ทำโทษลูก หรือ ลงโทษเด็ก สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การระงับสติอารมณ์และใช้เหตุผลให้มาก และพ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กจะซึมซับพฤติกรรมของคนรอบข้างได้เร็ว และเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี พ่อแม่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปค่ะ
บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
อย่างไรก็ตามการเลี้ยงลูกในยุคนี้ พ่อแม่ต้องมีทั้งสติและความสตรอง มีอาวุธสำคัญติดตัวให้ลูกเพื่อจะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และสามารถเอาตัวรอดในอนาคตได้ ไม่ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนแค่ไหนก็ตาม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกมีความฉลาดครบรอบด้านได้ เพื่อเป็นรากฐานที่ดีของลูกน้อยที่จะติดตัวลูกไปในอนาคต ด้วยความรู้ในเรื่อง Power BQ (Power Baby & Kids Quotients) เพราะเพียงแค่ IQ และ EQ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังมี Quotient ต่างๆ ถึง 10Q นั่นคือ “10 ความฉลาด” ที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ครบไปพร้อมกัน
ทั้งนี้การสอน ลูกเมื่อลูกทำผิด หรือ ขอบเขตในการทำโทษลูก หรือ ลงโทษเด็ก ที่ทีมแม่ ABK กล่าวไปข้างต้น ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ OQ : Optimist Quotient หมายถึง ความฉลาดด้านการมองโลกแง่ดี มองในมุมบวก พร้อมรับและมองเห็นข้อดี เด็กที่มี OQ นั้นจะทำให้มองเห็นคุณค่าในตัวเองและรู้จักให้คุณค่าต่อผู้อื่นด้วย เป็นองค์ประกอบของจิตใจที่ดี ทำให้เป็นเด็กที่ร่าเริง แจ่มใส กล้าที่จะยอมรับผิดเพื่อที่จะแก้ไขให้ดีและถูกต้อง โดยรวมแล้วเป็นการมองทุกสิ่งในแง่ดีมากกว่าแง่ร้ายนั่นเอง ซึ่งคนที่มี OQ ดีก็จะทำให้เป็นคนมีสุขภาพจิตดีด้วย เมื่อเกิดปัญหาก็มีสติตั้งรับที่จะแก้ไข ไม่เครียดจนเกินไป ทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างให้ลูกเป็นเด็กฉลาดคิดบวกได้ เริ่มต้นจากการเลี้ยงลูกเชิงบวกนั่นเอง
บทความแนะนำ 8 วิธีเลี้ยงลูก ให้มี OQ (Optimist Quotient) ฉลาดมองโลกในแง่ดี ส่งผลดีต่อชีวิต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
หมอแนะ! ลูกทำผิดในที่สาธารณะ ควร ทำโทษลูก ทันทีหรือทีหลังได้?