ตอนนี้ลูกอายุ 3 ขวบครึ่งแล้ว เป็นเด็กที่มีบุคลิกร่าเริง แจ่มใส และเข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่าย แต่ชอบนอนกัดฟันในช่วงกลางคืน จะเป็นอะไรไหมคะ
อาการนอนกัดฟันในเด็กเป็นภาวะที่พบได้ร้อยละ 15 – 33 ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นทุกวัน และอาจสัมพันธ์กับภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน (เช่น การมีน้องคนใหม่และการสอบ) การเจ็บป่วย การขาดสารอาหารบางอย่าง (เช่น วิตามินบี 5 และธาตุ แคลเซียม) การมีพยาธิ ฟันใหม่จะขึ้นหรือฟันเก่าหลุดการได้รับยาหรือสารบางอย่างที่ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี เช่น กาเฟอีน (ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้หรือช็อกโกแลต) และแอลกอฮอล์ ส่วนในรายที่เป็นทุกวันอาจเป็นเพราะมีการสบฟันที่ผิดปกติ การเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ หรือเป็นความผิดปกติของการนอนรูปแบบหนึ่ง (sleep disorder)
ผลเสียของการนอนกัดฟันเป็นประจำคือ เคลือบฟันสึก ทำให้ฟันผุง่าย เสียวฟัน ฟันโยก ฟันแตกหรือบิ่น ปวดหน้า ปวดศีรษะ ปวดขากรรไกร ปวดต้นคอ ปวดหู ข้อต่อขากรรไกรสึก และเสียงที่เกิดขึ้นอาจรบกวนการนอนของผู้อื่น
การแก้ไขทำได้โดยการแก้ที่สาเหตุ เช่นการลดความเครียด การทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนเข้านอน (นวดกล้ามเนื้อบริเวณหน้า ประคบอุ่นที่หน้า ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือดีๆ) การรักษาโรคภูมิแพ้ การให้สารอาหารที่ขาด การให้ยาฆ่าพยาธิ การงดอาหารที่มีกาเฟอีน การงดเคี้ยวหมากฝรั่งเพราะอาจทำให้เกิดความเคยชินจนละเมอเคี้ยวตอนนอน หรือการฝึกทำท่าผ่อนคลายกล้ามเนื้อขากรรไกรโดยใช้ลิ้นดุนระหว่างฟันบนและฟันล่าง (relax jaw muscle)
คุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขในกรณีที่มีการสบฟันผิดปกติ (แก้ไขโดยการจัดฟัน) และตรวจดูว่ามีฟันที่เสียหายเพราะการกัดฟันแล้วหรือยัง ทันตแพทย์อาจแนะนำให้สวมที่ครอบฟัน (night guard) ก่อนนอน แต่ในกรณีของลูกคุณแม่ เนื่องจากยังอายุน้อยและยังเป็นฟันน้ำนม ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงลองแก้ที่สาเหตุที่อาจเป็นไปได้และคอยดูไม่ให้มีฟันผุก็พอค่ะ
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด