3 กลเม็ดพาลูกเตาะแตะนอนกลางวัน
เวลานอนเฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งในวัย 1 ขวบ และ 2 ชั่วโมงเต็มในวัย 2 ขวบ (ส่วนนอนตอนกลางคืนยืนพื้นอยู่ที่ 11 ชั่วโมง) แต่จะนอนเช้าหรือบ่ายดี เพราะเด็กวัยขวบกว่าส่วนใหญ่จะเริ่มไม่ง่วงในช่วงเช้ามากกว่าช่วงบ่าย คุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ลูกไม่แสดงอาการซุกไซ้ งัวเงีย ขยี้หูขยี้ตา เหมือนที่เคยทำเป็นประจำ เวลาที่พยายามกล่อมให้นอนก็ยังคงตาใส ง่วนกับการเล่น เริ่มวีน ยอมนอน แต่นอนแค่ประเดี๋ยวเดียว จนในที่สุดต้องงดการนอนตอนเช้าไปส่วนเวลากลางวันก็อาจงดได้หากเกิดกรณีเดียวกัน
การปรับเวลาการนอน เมื่อเวลานอนกลางวันของลูกถูกลดเหลือช่วงเดียว หากเป็นตอนเช้าให้เลื่อนเวลานอนออกไปให้ใกล้เที่ยง สัก 11.30 น. – 11.45 น. หากเป็นตอนบ่ายก็ให้เลื่อนมาเร็วขึ้น เป็นเวลาประมาณ 12.30 น. โดยในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรกของการปรับเวลาใหม่ ให้คุณแม่สังเกตดูว่าเวลาใดราบรื่นที่สุด ก็ฝึกให้ลูกนอนในช่วงเวลานั้นเป็นประจำ
และแม้นอนกลางวัน ไม่เห็นสนุกตรงไหน จึงไม่ใช่กิจกรรมน่าปลื้มนักของลูกน้อยวัยเตาะแตะ แต่พ่อกับแม่ก็มีเหตุผลที่ต้องการให้เจ้านอนกลางวัน เพราะเด็กวัยนี้จำเป็นต้องมี “ช่วงเวลาสงบ” จากความสนุกหลุดโลกทั้งหลายบ้าง มีเทคนิคง่ายๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
-
ใช้คำอื่นแทน
ถ้าคำว่า “ได้เวลานอนแล้ว” กลายเป็นรหัสบอกให้เจ้าหนูต่อต้าน ก็ใช้คำอื่นสิ อย่าง “ได้เวลาชาร์จแบตแล้ว” หรือ “มาซ่อนตาดำกันดีกว่านะ” หรือจะให้เด็กๆ เสนอไอเดียคำของเขามาก็ยิ่งดี
-
หาตัวช่วย
เรื่องจะให้บอกว่า “ได้เวลานอนแล้ว” และให้เด็กๆ ทำตามเลยนั้น…ยากกก…มากค่ะ สู้มีตัวช่วยในการนอนดีกว่า งานคุณจะง่ายขึ้นเยอะ เช่น ให้ลูกวาดรูปไปเงียบๆ เปิดเพลงหรือนิทานให้ฟัง หรือถ้าคุณชอบอ่านนิทานให้เขาฟังก็ได้ วิธีการคือ เสนอตัวช่วย (แบบพอประมาณสัก 2 – 3 ตัวช่วยก็พอ) และให้ลูกเลือกเอง
-
ค่อยๆ เพิ่มเวลานอน
สูตรลับชวนเด็กๆ ร่วมมือสู่ความสำเร็จคือ “เริ่มต้นจากน้อยๆ ง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไป” เรื่องนอนก็เช่นกัน เริ่มจาก 20 นาทีก่อน “พอเวลาน้อยๆ เด็กๆ จะรู้สึกว่าเขาสามารถทำได้” แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาจนกว่าเขาจะนอนได้ครบชั่วโมง การนอนก็จะง่ายขึ้นสำหรับเขา
เพราะการนอนกลางวันสำหรับลูกน้อยวัยนี้ถือเป็นเรื่องดี ที่จะช่วยฝึกทักษะความจำที่ดีให้เขาได้ ซึ่งจากวิธีที่ได้แนะนำข้างต้น คงไม่ใช่เรื่องยากแล้วที่คุณพ่อคุณแม่จะพาลูกน้อยวัยเตาะแตะนอนตอนกลางวัน เพราะการนอนสำคัญกับลูกน้อยมากเพื่อช่วยส่งเสริมให้ลูกวัยก่อนเรียนมีประสิทธิภาพการเรียนรู้และความจำที่ดี มาชวนลูกนอนกลางวันกันดีกว่าค่ะ ทั้งนี้เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะและระยะเวลาการนอนหลับแตกต่างกันตามนาฬิกาชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเด็กคนนั้น จึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- การนอนของลูก แรกเกิด ถึง 6 ปี แค่ไหนถึงจะพอ?
- ผลวิทยาศาสตร์ยืนยัน ลูกนอนหลับ มากน้อยมีผลกับสมอง
- คัมภีร์นอนหลับ สร้างอัจฉริยะให้ลูกน้อย
- วิจัยชี้! ลูกน้อยนอนตะแคงดีต่อสมอง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids