ว่ากันว่าเด็กในช่วง 2-12 ปี จะซนและดื้อมากที่สุด พ่อแม่พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมทำตาม ยิ่งถ้าบอกว่า “อย่า” เด็กก็จะยิ่งอยากทำสิ่งนั้นมากขึ้น ยิ่งบังคับมากเท่าใด เด็กก็จะต่อต้าน และอยากเอาชนะมากเท่านั้น
เด็กดื้อ ในความหมายของคนทั่วไป น่าจะหมายถึงเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังในเด็กเล็ก เด็กอาจอาละวาดเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาจถือเป็นพัฒนาการปกติ และจะถือว่าผิดปกติเมื่ออาการเป็นมากและไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ทั่วไปของสังคม
ลูกดื้อควรทำอย่างไร
ในเรื่องนี้ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล มนารมย์ ให้ข้อมูลว่า การที่เด็กดื้อ หรือซนเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ที่ตัวของเด็กเอง เพราะเด็กที่เกิดมาแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ต่างมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย คือว่าตามลักษณะธรรมชาติของเด็กบางคนอาจจะมีจังหวะจะโคนของตัวเอง พื้นฐานโดยทั่วไปก็จะแตกต่างกัน แต่เด็กที่ดื้อจะมีลักษณะที่เลี้ยงยากสักหน่อย มักมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น ไวต่อสิ่งเร้า มีการกินการนอนที่ไม่เป็นเวลา ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็จะมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของตัวเองอยู่
Good to know นักวิจัยระบุว่า เด็กดื้อ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบสร้างปัญหา เพราะเกิดมาเป็นแบบนั้น หรือกล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ว่า พฤติกรรมที่เป็นปัญหาฝังติดมากับดีเอ็นเอของเด็ก โดยนักวิจัยพบยีน monoamine oxidase A ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่อต้านสังคม
ยีนดังกล่าวมีผลอย่างมากกับพฤติกรรมของเด็ก กล่าวคือ หากยีนตัวนี้อ่อนแอ และเด็กถูกล่วงละเมิดหรือถูกปลูกฝังให้ต่อต้านสังคม มีความเป็นไปได้มากที่เด็กคนนั้นจะแสดงลักษณะนิสัยดังกล่าวออกมา แต่ถ้ายีนตัวนี้แข็งแรง เด็กจะมีแนวโน้มน้อยลงที่จะแสดงพฤติกรรมขวางโลก ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “เด็กดื้อ” จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า เป็นเรื่องของวัย เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วง 1-3 ปี เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อเขาสามารถก้าวเดินได้ เป็นธรรมดาที่จะต้องอยากทำนู้นทำนี่ สำรวจไปทั่ว เพราะเขายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าสิ่งแวดล้อมที่เขาเห็นอยู่นั้นคืออะไร และเด็กๆในวัยนี้มักจะคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าหากว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจัดการไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลทำให้เด็กดื้อต่อเนื่องยาวนานถึงระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาได้
Must read : ใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กดื้อ เอาใจตัวเอง
Must read : รับมือเจ้าหนูจำไมจอมดื้อ วัย 3-5 ขวบ
Must read : ลูกดื้อเหลือเกิน ทำไงดี
ทั้งนี้กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กดื้อและซนมีได้หลายสาเหตุ
- ช่วงตั้งครรภ์ พบว่า เด็กที่มารดาสูบบุหรี่และ/หรือดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งเด็กเล็กที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสแสดงปัญหาซน ดื้อ สมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กที่มารดาไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ได้อยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่
- วัยเด็กเล็ก มีหลักฐานยืนยันว่าหากเด็กจ้องมองหรือดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เล็กๆ (ก่อน 2 ขวบ) หรือเล่นเกิน 1 ชั่วโมง (อายุ 2 – 5 ขวบ) หรือ 2 ชั่วโมง (อายุมากกว่า 5 ขวบ) มีโอกาสเกิดปัญหาซน ดื้อและสมาธิสั้นได้
- พัฒนาการตามวัย เด็กเล็กกระหายที่จะเรียนรู้ตามวัย ตามธรรมชาติ เช่น เด็กบางคนพอเริ่มคลานก็จะซนแล้ว จริงๆ คิดว่าเขาอยากจะฝึกทักษะทางร่างกายที่เขาได้พัฒนาขึ้นมา ถ้าเขาเริ่มยืน เดินได้ เขาก็จะเริ่มซนในเรื่องเดิน มันก็สนุกและท้าทายที่เขาเริ่มทำได้ แล้วก็อาจจะเริ่มไปค้น ไปคุ้ย ไปรื้อ เพราะเมื่อก่อนอาจจะได้แต่นั่งนิ่งๆ เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร ไปเองก็ไม่ได้ จับก็ไม่ได้ จะให้คนอื่นพาไปก็ยังสื่อสารไม่รู้เรื่อง พอเดินได้ก็อยากไปดู แต่จริงๆ มันก็ตรงกับวัยที่เขาจะต้องสำรวจโลก แล้วก็ลงมือทำ โดยจะเริ่มในช่วง 1 ขวบกว่าๆ พอเริ่มเก่งขึ้นก็อาจจะเริ่มเล่นสมมุติ เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
- ปัญหากล้ามเนื้อ จากการอุ้มผิดท่า ท่านอนหรือนั่งที่ไม่เหมาะสม หรือเท้าแบนเกินไป ขาดการเคลื่อนไหวหรือออกแรงที่เหมาะสม ทำให้เด็กทรงท่าให้อยู่นิ่งไม่ได้ นั่ง หรือยืนนานๆ ไม่ได้ ต้องยุกยิกหรือขยับตัวตลอด แบบนี้เขาเรียกว่าซนแบบมีปัญหา ควบคุมร่างกายตัวเองให้นิ่งเพื่อที่จะทำกิจกรรมไม่ได้
- ปัญหาการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัส ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่งหรือสมาธิสั้นได้ ซึ่งต้องได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ
- ปัญหาการเลี้ยงดู ที่ขาดวินัย และความสม่ำเสมอ
- ปัญหาสุขภาพของเด็ก เช่น นอนกรน นอนน้อย เป็นโรคบางชนิด หรือกินยาบางชนิด
- เป็นโรคซน สมาธิสั้น
อ่านต่อ >> “7 เหตุผลดีๆ ของการมีลูกดื้อ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่