อาการชักจากไข้สูงมีสาเหตุของไข้ได้หลากหลายครับ โดยส่วนมากก็เป็นการติดเชื้อไวรัส ในทางเดินหายใจทางเดินอาหาร มีไอ น้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย อาเจียนร่วมด้วย สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งในเด็กเค้าจะบอกอาการเราไม่ได้ อย่างในผู้ใหญ่จะมีอาการ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปวดหลังเวลาเคาะ จึงต้องตรวจปัสสาวะในทุกเคสที่มีอาการชักจากไข้สูงครับ ซึ่งการหาสาเหตุของไข้นี้จะทำได้จากการตรวจร่างกาย ตรวจ lab ดูผลเลือด ผลปัสสาวะ ตามอาการป่วยของเด็กนะครับ
จากข้างบนการวินิจฉัยชักจากไข้สูง ผมบอกว่าต้องแยกการติดเชื้อในระบบประสาท/สมองออกด้วย การแยกนี้ในเด็กที่โตหน่อย ตั้งแต่ 1-2 ขวบจะสามารถทำได้ด้วยการตรวจร่างกาย โดยจะพบลักษณะเช่น คอแข็ง ในเด็กที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไข้สมองอักเสบบางอย่าง ซึ่งต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาเชื้อโดยการเจาะหลังเอาน้ำไขสันหลังไปตรวจเพาะเชื้อครับ แต่ในเด็กเล็ก ๆ เช่นอายุน้อยกว่า 12-18 เดือนการตรวจร่างกายทำได้ยาก ดังนั้นหากสงสัยคุณหมออาจจะพิจารณาขอคุณพ่อคุณแม่ เจาะหลังน้องเพื่อเอาน้ำเลี้ยงไขสันหลังไปตรวจเพื่อแยกว่าไม่มีการติดเชื้อในสมองนะครับ ซึ่งเป็นหัตการปกติอันตรายมีน้อยและเป็นสิ่งที่จำเป็นครับไม่ต้องกังวลไป เพราะหากมีการติดเชื้อในระบบประสาทและสมองแล้วได้รับการรักษาช้า จะส่งผลกับสมองและพัฒนาการระยะยาวได้
การรักษาหลังหยุดชักก็จะเป็นการรักษาสาเหตุของไข้ตามที่ตรวจพบครับ เช่น การให้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อ ให้สารน้ำทางเส้นเลือดในช่วงที่เด็กยังกินได้น้อยให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ เมื่อไข้ลงดีเรียบร้อย เด็กกินได้ตามปกติ ให้ยาฆ่าเชื้อครบก็สามารถกลับบ้านได้ครับ
คำถามที่คุณหมอพบบ่อย
- แล้วการชักจากไข้สูงจะมีอันตรายอะไรในระยะยาวหรือไม่?
- สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กลัวและถามกันมากคือการชักจากไข้สูงจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกหรือไม่ ? คำตอบคือ”ไม่” ครับ ถ้าการชักนั้นเป็นการชักจากไข้สูงแบบปกติ ไม่มีสาเหตุอื่น ๆ ในสมอง เพราะระยะเวลาการชักจากไข้สูงอย่างที่บอกไป คือ ไม่เกิน 15 นาที โดยมากมักจะหยุดชักใน 3-5 นาที ไม่ได้ส่งผลกับสมองในระยะยาวครับ แต่ถ้าพบว่าสาเหตุการชักเกิดจากความผิดปกติในสมองเช่น ไข้สมองอักเสบ หรือมีการชักต่อเนื่องยาวนานผิดปกติ เกิน 30 นาที โดยไม่ได้รับการรักษา ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของสมองและพัฒนาการได้ครับ
- มีโอกาสชักซ้ำได้อีกมั้ยถ้ามีไข้สูงอีกและจะต้องกินยากันชักเพื่อป้องกันการชักครั้งต่อไปมั้ย?
- โอกาสชักซ้ำสามารถเกิดได้ตลอดนะครับหลังมีการชักครั้งแรก ถ้ามีไข้สูงอีก ยิ่งอายุตอนชักครั้งแรกน้อยแค่ไหน โอกาสชักซ้ำก็จะมีมาก พบว่าเมื่อชักครั้งแรกที่อายุ < 1 ขวบ มีโอกาสชักซ้ำ 50 % และเมื่อชักกครั้งแรกที่อายุ < 2 ขวบ มีโอกาสชักซ้ำ 30 %
- การให้ยากันชักกินเป็นประจำเพื่อป้องกันการชักจากไข้สุงมีหลายกรณีที่ต้องพิจารณาครับ ในกรณีที่ชักจากไข้สูงแบบปกติ 1-2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้องให้ยากันชักกลับไปกินต่อเนื่อง ในกรณีที่ชักจากไข้สูงแบบปกติ (ชักเกร็งทั้งตัวไม่เกิน 15 นาที นะครับ) เกิน 3 ครั้ง ขึ้นไป พิจารณาให้กินยากันชักดักเอาไว้เวลามีไข้ เป็นต้นส่วนกรณีอื่น ๆ ต้องพิจารณาตามความเสี่ยง และลักษณะการชักแนะนำปรึกษาคุณหมอเด็กเป็นราย ๆ ไปนะครับ