ถ้าไม่อยากนั่งปวดหัวอยู่กลางกองสัมภาระ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับการย้ายบ้านแต่เนิ่นๆ นะ
ก่อนเดินทาง
คุยกับลูกเรื่องการย้ายบ้านบ่อยๆ อัพเดทแผนการให้เขารู้อย่างสม่ำเสมอ และไม่ลืมเปิดโอกาสให้ลูกซักถามเกี่ยวกับข้อข้องใจต่างๆด้วย ดวงตาใสๆ ของเด็กวัยเรียนนั้นเริ่มมองเห็นรายละเอียดปลีกย่อยในชีวิตได้แล้ว และยิ่งเขาลงลึกมากเท่าไร จอมวุ่นทั้งหลายก็ยิ่งกังวลมากขึ้นเท่านั้น ?? บ้านใหม่จะมีสนามหญ้าให้เล่นเหมือนบ้านเดิมไหมนะ แถวนั้นจะมีเพื่อนเล่นวัยเดียวกับเขาสักกี่คน ของรักของหวงที่อยู่ในกล่องจะสูญหายระหว่างทางหรือเปล่านะ
ทางแก้ที่ได้ผลคือ พาลูกแวะไปสำรวจที่ทาง เสียแต่เนิ่นๆ ทั้งตัวบ้านและบริเวณใกล้เคียงอย่างน้อยเขาก็จะได้ไม่รู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกทันทีที่ก้าวเข้าประตูบ้านใหม่ไงล่ะ
ระหว่างเก็บของ
อย่าปล่อยให้ลูกอยู่ว่าง ขณะที่ทุกคนกำลังวิ่งวุ่น ลองมอบหมายหน้าที่ให้เขาสัก 2 – 3 อย่าง เช่น จัดหนังสือของตัวเองแยกเป็นหมวดหมู่ หรือเขียนป้ายแปะกล่อง เด็กๆจะเริ่มสนุกและรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจครั้งนี้
เมื่อใกล้เวลาเดินทาง หาถุงใบย่อมๆ สักใบมาให้ลูกเก็บสมบัติสุดหวงวางไว้ใกล้ตัว จะได้ไม่ต้องกลัวหายเวลามันอยู่ในกองข้าวของ ถ้าเป็นไปได้ ควรเก็บห้องลูกเป็นห้องสุดท้าย และแกะกล่องจัดห้องเขาเป็นห้องแรกทันทีที่ไปถึงบ้านใหม่ ลูกจะได้ไม่รู้สึกแปลกแยกนาน
หลังย้ายเข้าบ้านใหม่
ทำให้เด็กๆ มั่นใจว่าเขาจะไม่หลุดจากสายสัมพันธ์เก่าๆ เดี๋ยวพอจัดของเสร็จแล้ว เรามาถ่ายรูปห้องใหม่ของหนูส่งไปให้น้องแพม(เพื่อนซี้สุดรักที่ลูกเพิ่งจากมา) ดูกันดีกว่าหลังจากนั้นก็ใส่บรรยากาศที่คุ้นเคยลงไปในแหล่งพักพิงแห่งใหม่ อย่างเช่น เลือกอาหารที่ลูกชอบเป็นเมนูอาหารเย็น หรือหยิบวีซีดีเรื่องโปรดของเขามานั่งดูในคืนแรกของการโยกย้าย เท่านี้เด็กๆ ก็จะรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยขึ้นแล้วละ ด.ช.นราวิชญ์ พิทักษ์สิทธิ์
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง