ฝึกลูก รับมือความสูญเสีย เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักจากไป - Amarin Baby & Kids

ฝึกลูก รับมือความสูญเสีย เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักจากไป

account_circle
event

เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักที่ลูกใกล้ชิดเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในบ้านจากไปกะทันหัน พ่อแม่ควรฝึกลูกให้ รับมือความสูญเสีย นี้อย่างไร บอกแบบไหนให้เข้าใจ ไม่กลายเป็นเรื่องดราม่าทำร้ายจิตใจลูก

เมื่อสัตว์เลี้ยงในบ้านตายขนาดคนเป็นพ่อแม่ยังรู้สึกซึม แล้วลูกตัวน้อยจะเสียใจแค่ไหนกัน เพราะสำหรับความรู้สึกเด็กๆแล้ว สัตว์ที่อยู่ในบ้าน อย่างหมา แมว ปลา หรือนก ฯลฯ ไม่ได้เป็นแค่สัตว์ แต่รู้สึกรักผูกพันแบบพี่น้อง เพื่อนรัก หรือของรักที่ไม่อยากโดนพรากไปไหน ยิ่งถ้าลูกโตมาพร้อมสัตว์เลี้ยงแล้วละก็ ถ้ารู้ว่าสัตว์ตายคงเสียใจมากแน่ๆ แล้วแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกรู้ดีไหม จะบอกยังไงดี  ตัดสินใจยากใช่ไหมคะ

รับมือความสูญเสีย

ความตายเป็นเรื่องเศร้าที่ทุกคนต้องเจอ และไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ ลูกเผชิญกับเรื่องนี้เมื่อโตขึ้น แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลือกใช้วิธีปกปิด หรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูกน้อยตรงๆ เพราะไม่อยากเห็นลูกร้องไห้เสียใจ หรือทุกข์ใจ แต่ความจริงแล้วเด็กวัย 4 ขวบ เริ่มเข้าใจความหมายและเรื่องราวของ “การตาย” แล้วแต่จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามนิสัยพื้นฐาน ประสบการณ์ของเด็กแต่ละคน

ฉะนั้นถ้าวันหนึ่งสัตว์เลี้ยงตัวโปรดต้องจากไป คุณพ่อคุณแม่หาวิธี รับมือการสูญเสีย เพื่อให้ลูกก้าวพ้นความเศร้า และเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งจะมีผลต่อบุคลิก การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของลูกในอนาคต มาดูวิธีฝึกลูกให้รับมือเป็น เมื่อสัตว์เลี้ยงตายกันเลยค่ะ

5 สิ่งควรทำ รับมือความสูญเสีย สัตว์เลี้ยงตัวโปรด

จัดการอารมณ์ตัวเองก่อน

การที่สัตว์เลี้ยงจากไปอย่างกะทันหันสร้างความสะเทือนใจให้กับทุกคนในบ้าน  แม้กระทั่งตัวคุณพ่อคุณแม่เอง จึงจำเป็นต้องจัดการกับอารมณ์ตัวเองให้สงบ และตั้งสติก่อนที่จะบอกเรื่องน่าเศร้านี้กับลูก เพราะหากเด็กๆสัมผัสอารมณ์หม่นหมองนี้ได้ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง

รับมือความสูญเสีย

นั่งคุยกันสองต่อสอง

เมื่อลูกไม่เห็นสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน เขาย่อมสงสัยและวุ่นวายใจ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยให้ลูกผ่อนคลาย หาขนมอร่อยให้กิน ชวนเล่นให้เปลี่ยนอารมณ์ก่อน หาจังหวะที่ได้อยู่ในสองต่อสองกับลูกในบรรยากาศที่สงบ ไม่เสียงดัง ไม่วุ่นวาย เพื่อให้ลูกพร้อมรับฟังเรื่องราวมากขึ้น

เลือกเล่าเรื่องราวให้เหมาะกับวัย

การไม่ได้โกหก ไม่ได้หมายความต้องเล่าทุกอย่าง  คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกเฉพาะ “ความจริงคัดสรร” หรือเรื่องราวสำคัญๆพอให้ลูกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น “ตอนนี้พี่เขาหลับสบาย ไม่ต้องทนเจ็บป่วยแล้ว”   ไม่จำเป็นต้องเล่าบรรยายเหตุการณ์ทั้งหมด เพราะหลายๆเหตุการณ์อาจกระทบกระเทือนจิตใจลูก โดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 1-3 ขวบ ที่ต้องเลือกใช้คำไม่ให้สื่อถึงความตาย หรือการสูญเสียเลย เช่น “พี่หมาเป็นคนดี พี่หมาไปอยู่บนสวรรค์แล้ว”

หรืออาจสอดแทรกข้อคิดดีๆไว้ เช่น ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตอะไร หากป่วยและไม่แข็งแรงก็อาจจะถึงตายได้” ดังนั้นลูกต้องกินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย รักษาความสะอาด เพราะถ้าลูกป่วยพ่อแม่จะเป็นห่วงมาก

เปิดโอกาสให้ลูกเศร้าได้ ร้องไห้เป็น

เปิดโอกาสให้ลูกได้ร้องไห้ หรือปลดปล่อยอารมณ์เศร้าเสียใจออกมา ไม่ควรห้ามหรือต่อว่า ลูกจะได้รู้จักกับอารมณ์ของตัวเอง รู้ว่าที่ร้องไห้อยู่แปลว่า เสียใจ พ่อแม่แค่นั่งเป็นเพื่อน ชวนพูดคุยให้เขาอธิบายว่ารู้สึกเศร้าแค่ไหน ระหว่างนี้ลูกจะเข้าใจทันทีว่า ไม่จำเป็นต้องเก็บเรื่องเศร้าไว้คนเดียว พ่อแม่มีส่วนรับรู้และคอยอยู่ข้างๆ เสมอ นี่เป็นพื้นฐานสำคัญของการ รับมือกับความสูญเสีย ผิดหวังจากการเรียน การทำงาน และปัญหาชีวิตต่างๆในอนาคต

เปลี่ยนจากเรื่องเศร้าเป็นความทรงจำที่งดงาม

เมื่อเวลาผ่านไป ลูกหายเศร้า หรือเสียใจน้อยลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกน้อยพูดคุยถึงความทรงจำดีๆ เรื่องราวสนุกที่ทำด้วยกัน แทนที่จะห้ามพูดถึงสัตว์เลี้ยงที่ตายไป เมื่อลูกสามารถเล่าถึงสัตว์เลี้ยงตัวนั้นให้คนอื่นฟังได้ตามปกติ นั่นเป็นแสดงว่า เด็กสามารถ รับมือกับการสูญเสีย ก้าวข้ามความเสียใจ จัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ คงเหลือไว้เพียงความรู้สึกดีๆที่น่าจดจำเป็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิตเมื่อโตขึ้น

MUST READ :  เลือกสัตว์เลี้ยงอย่างไรให้ลูกดี 

MUST READ : ลูกเสียใจ ร้องไห้ไม่หยุด แม่ต้องรับมืออย่างไรดี

5 เรื่องอย่าทำเด็ดขาดเมื่อลูกสูญเสียสัตว์เลี้ยงตัวโปรด

ห้ามโกหกเด็ดขาด

การที่พ่อแม่โกหกเพื่อปรารถนาดี ไม่อยากให้ลูกเสียใจ เช่น “มันหนีไปไหนไม่รู้ แม่หาไม่เจอ” หรือ “มันไม่เที่ยวเดี๋ยวก็กลับมา” ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะลูกอาจสัมผัสได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเขาไม่มีวันกลับมาอีก เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร เพราะนอกจากทำให้ลูกสับสนและรอคอยสิ่งที่ไม่มีวันเป็นจริง สร้างปมเชิงลบในใจด้วย

อย่าโทษคนอื่น

บางทีที่ไม่รู้จะอธิบายลูกอย่างไร พ่อแม่อาจพูดลอยๆ โยนความผิดให้กับสัตวแพทย์ว่า “หมอทำให้มันตาย” หรือ “หมอฉีดยาให้มันหลับ” เพราะอาจทำให้ลูกลัวการฉีดยา การไปหาหมอ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดูแลสุขภาพได้

พ่อแม่ก็เสียใจเป็น

สัตว์เลี้ยงหลายบ้านเลี้ยงมาก่อนมีลูก หรือโตมาพร้อมๆ กัน จึงไม่แปลกที่จะรักเหมือนลูก ฉะนั้นเมื่อเกิดการสูญเสียย่อมเสียใจเป็นธรรมดา พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องซ่อนความรู้สึกตัวเองไว้ เพราะคิดว่าต้องเข้มแข็ง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ความจริงแล้ว ไม่ควรซ่อนความเสียใจไว้ แต่ชวนคุยว่าพ่อแม่ก็เสียใจเหมือนกัน ไม่นานก็จะเศร้าน้อยลงไปเอง

รับมือความสูญเสีย

ไม่ซื้อสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ให้ทันที

ไม่ควรชดเชยความเสียใจด้วยการหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาทดแทน ถึงแม้ว่าลูกจะพยายามคะยั้นคะยอขอตัวใหม่ก็ตาม แต่ควรปล่อยเวลาให้ลูกรักษาจิตใจ เรียนรู้วิธีทำใจเมื่อสัตว์เลี้ยงตายก่อน เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆด้วย

อย่าให้ลูกมีแค่สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน

แม้สัตว์เลี้ยงจะเป็นเพื่อนแท้ ที่ช่วยเติมเต็มความสุข ความอ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจให้ลูกน้อย  แต่ไม่ควรมีแค่สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนสนิท เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ลูกจะรับมือกับความสูญเสีย ได้ลำบาก ทำใจยาก และเสียใจนาน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อเป็นที่พักใจอีกอย่างด้วย

นอกจากการฝึกให้ลูกรู้วิธี รับมือการสูญเสีย อย่างถูกต้อง จะช่วยให้ลูกรุ้วิธีแสดงออก ควบคุมอารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสม ไม่รู้สึกเครียดหรือเสียใจเกินไปแล้ว ยังเป็นประสบการณ์ชีวิตเก็บไว้เป็นภูมิคุ้มกันเมื่อลูกโตขึ้น แล้วต้องพบเจอกับความผิดหวัง สูญเสียต่างๆ ไม่เฉพาะการตายที่จะต้องพบเจอไปตลอดช่วงชีวิต นี่คือเป็นความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หนึ่งในความฉลาด 10 ด้าน (Power BQ) ที่เด็กรุ่นใหม่จำเป็นต้องมี เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างเข้มแข็ง และรู้ทันโลก

 

แหล่งข้อมูล  https://mgronline.com/

 

บทความน่าสนใจอื่นๆ 

อุทาหรณ์!! เลี้ยงหมาในบ้าน ระวัง “เห็บหมาเข้าหูลูก” 

ส่งเสริมความฉลาดลูกง่ายๆ ด้วยธรรมชาติรอบตัว

ปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงข่วนกัดคุณหนู – easy baby & kids

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up