3 เทคนิคดี สอนลูกให้ใจเย็น “รู้จักความนิ่ง” ในสังคมเร่งรีบ - amarinbabyandkids
สอนให้ลูกใจเย็น

3 เทคนิคดี สอนลูกให้ใจเย็น รู้จักอดทน รอคอยเป็น ในยุค 5G

event
สอนให้ลูกใจเย็น
สอนให้ลูกใจเย็น

สอนลูกให้ใจเย็น อย่างไร? ในยุคสมัยที่สังคมปัจจุบันนี้ต่างก็เร่งรีบไปหมด หรือประเภทที่ยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งเก่ง วงจรของความเร็วก็เลยต้องทำให้พ่อแม่ลูก และผู้คนต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ใจเร็ว ได้เร็ว เปลี่ยนเร็ว

เทคนิค สอนลูกให้ใจเย็น อยู่นิ่ง รู้จักรอคอย ในสังคมยุค 5G

ความเร็วในที่นี้ ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่ตื่นเช้ามาก็รีบอาบน้ำ รีบแต่งตัวส่งลูกไปโรงเรียน และรีบไปทำงานเพื่อให้ทันเวลา รีบกินอาหารแต่ละมื้อ เวลาขับรถก็เร่งรีบอยากให้ถึงที่หมายปลายทางโดยเร็ว ใครขับรถช้าก็หงุดหงิด ใครทำอะไรชักช้าก็รำคาญ ยิ่งถ้าเป็นลูกหลานของตัวเองทำอะไรช้าก็มักต่อว่าแล้วจะทำมาหากินอะไรได้ทัน หรือก็ประมาณว่าไม่ทันคน

และยิ่งในปัจจุบันนี้เป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ทำให้เกือบทุกครอบครัวเน้นในเรื่องของความเร็วของวิถีชีวิต เพราะทั้งพ่อแม่ และเด็กๆ ต่างก็ถูกปลูกฝังให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วเพียงใช้ปลายนิ้วมือในเวลาไม่กี่นาที โดยมีเจ้าความเร็วนี่แหละที่ทำให้สังคมมีปัญหา!

สอนลูกให้ใจเย็น

อีกทั้งความเร็วยังส่งผลให้เด็ก ๆ มักจะขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เบื่อง่าย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเทคโนโลยีและชีวิตที่ทันสมัย สะดวกสบาย รวดเร็วทันใจ เวลาพ่อแม่มอบหมายงานให้ทำ ก็ไม่สามารถอดทนทำให้สำเร็จได้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ตามใจมากจนเกินไป หรือขัดใจมากจนเกินไป ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการจะเอาชนะ กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง บางคนก็ร้องอาละวาดเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย เพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าสังคมของเด็กในอนาคต

เรียกได้ว่าสื่อเหล่านี้หากใช้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะเป็นภัยร้ายสำหรับลูกน้อย ทำให้สมองของลูกถดถอยลงได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่อาจปฏิเสธเทคโนโลยีได้ แต่ก็ไม่ควรไม่เห็นด้วยกับความเร็วในทุกเรื่อง เพราะเจ้าความเร็วที่ว่าทำให้ชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้กำลังจะกลายเป็นหุ่นยนต์กันไปหมด โดยไม่สนใจเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณ

สอนลูกให้ใจเย็น ต้นเหตุอาการสมาธิสั้น จากสังคมยุค 5G

ในวงการแพทย์มีจำนวนเด็กป่วย ที่พ่อแม่ส่งไปทำการรักษาด้วยอาการสมาธิสั้นก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพ่อแม่หลายคนต่างก็พากันตั้งคำถามจากพฤติกรรมของลูกเพิ่มมากขึ้น เช่น “ทำไมลูกไม่สามารถทำสิ่งใดนานๆ ติดต่อกันได้” ,“ลูกอารมณ์ร้อน เอาแต่ใจตัวเอง , “ลูกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง” ซึ่งต้นเหตุของความเร็วเร่งรีบนั้นไม่ได้มาจากสังคม หรือคนอื่นเลย แต่แท้จริง ล้วนมาจากตัวของพ่อแม่นั่นเอง ที่นำความเร่งรีบยัดเข้าไปสู่ตัวลูกโดยอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จะทำอย่างไรให้ลูกสงบ รู้จักนิ่ง และอดทนรอคอย ไม่ลื่นไหลตามความเร็วของสังคม ตามไปดูกันเลยค่ะ

“เคล็ดลับการสอนลูกให้รู้จักอดทนรอคอยตั้งแต่วัย 1-3 ปี” 

สอนลูกให้ใจเย็น อดทนและรอคอย ทำได้ตั้งแต่วัยเตาะแตะเลยจริงหรือ?
แล้วเด็กที่อดทนและรอคอยเป็น ได้เปรียบอย่างไรล่ะ?

เชื่อหรือไม่ว่า วัยเตาะแตะที่ได้เรียนรู้การอดทน รอคอย หรือการควบคุมตนเองได้นั้น อาจจะส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตที่ดีในอนาคตค่ะ

ว่าแต่อะไรคือ “การควบคุมตัวเอง” ในความหมายของเด็กวัยเตาะแตะล่ะ?

คุณหมอมอฟฟิทบอกว่า ไม่ใช่แค่การควบคุมอารมณ์ไม่ให้โวยวาย ร้องกรี๊ดเท่านั้น แต่เป็นทักษะจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในตอนโต ทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่นและรู้จักรอคอยในสิ่งที่ดีที่ควร ซึ่งวิธีการสอนลูกให้อดทน เริ่มง่ายๆ ได้ด้วยแนวทางที่ทีมแม่ ABK เอามาฝาก ดังนี้

1. ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้

หากจะสอนลูกให้อดทน ควรให้ลูกได้เรียนรู้การควบคุมตนเอง เมื่ออาการป่วนของลูกไม่ได้เป็นการเล่นสนุก แต่เป็นการสำแดงฤทธิ์เมื่อไม่ได้ดั่งใจ และเป็นกับทุกคน (พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง เป็นต้น) และเกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน

สอนลูกให้ใจเย็น

2. สำรวจข้อจำกัดของลูก

เมื่อจะให้ลูกเรียนรู้ คุณก็ควรได้รู้ว่าลูกมีข้อจำกัดอะไร และอะไรคือความเหมาะสมกับเด็กวัยนี้ จะให้เด็กสองขวบ รอแม่คุยโทรศัพท์ 10 นาทีโดยไม่ปีนป่ายเรียกร้องความสนใจใด ก็คงเป็นไปได้ยาก

3. ให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจบ้าง

เช่น แทนที่จะออกคำสั่งว่า “หยุดวิ่งในบ้านเดี๋ยวนี้” แต่เปลี่ยนเป็นบอกว่า “ถ้าหนูวิ่งเหมือนลิงหลุดกรงแบบนี้ แม่ว่าต้องมีของแตกสักชิ้นแน่ๆ” ลูกจะได้รู้จักคิดทบทวนการกระทำของตัวเองบ้าง แทนการสอนลูกให้อดทนแบบตรงๆ เพราะเด็กวัยนี้มักต่อต้านสิ่งที่เขาตัดสินว่าเป็น “คำสั่ง” จากผู้ใหญ่

เทคนิคเพื่อลูกวัยเรียน
สอนลูกให้ใจเย็น รอเป็น โดยไม่ต้องเสียน้ำตา

และเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน เด็กที่มีความอดทนมักจะเป็นที่รักของเพื่อนมากกว่า เพราะเขารู้จักผลัดกันเล่นกับคนอื่น และนี่คือเทคนิคที่จะช่วยให้ลูกรู้จักรอ (โดยไม่ต้องเสียน้ำตาและร้องโวยวาย)

1. อธิบายตรงไปตรงมา

หากลูกอยากให้คุณใส่ถ่านให้รถไฟโทมัสขณะที่คุณวุ่นกับการทำอาหารอยู่ บอกเขาว่า “แม่ยังทำให้ตอนนี้ไม่ได้ รอก่อนนะจ๊ะ” ซึ่งจะค่อยๆ ปลูกฝังว่าเขาไม่จำเป็นต้องได้อะไรในทันทีทุกครั้งไป

2. ชื่นชม

เมื่อลูกรู้จักรอคอย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขาทำในครั้งต่อไป

สอนลูกให้ใจเย็น

3. ทำกิจกรรมด้วยกัน

ที่ต้องใช้ความอดทน เช่น การปลูกถั่วงอก ซึ่งต้องเริ่มจากเตรียมสำลีชุบน้ำปูในถาด ใส่เมล็ดถั่วเขียว ปิดด้วยผ้าขาวบาง วางไว้ในที่แดดปานกลาง รออีก 2 – 3 วันหนูก็จะได้เห็นเมล็ดงอกออกมาแล้วจ้า! เป็นการ สอนลูกให้รอเป็น ไปในตัว

4. ใช้นาฬิกาทราย

ในบางโอกาส เช่น เมื่อน้องกับพี่ผลัดกันเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การจับเวลาแบบนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าเขาต้องรออีกนานเท่าไร

5. ทำตามที่พูด

อย่าสัญญากับลูกว่าจะพาไปสนามเด็กเล่นหลังจากกินข้าวกลางวันเสร็จ แต่คุณกลับหันไปง่วนกับการซักผ้าแทน เพราะลูกต้องการการไว้ใจว่าถ้าเขารอ คุณจะให้สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ

อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอร์รี่ มอฟฟิท อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า “จากการศึกษาปัจจัยของการประสบความสำเร็จเมื่อเป็นผู้ใหญ่ พบว่าความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญพอๆ กับระดับไอคิว และปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวเลย” เป็นการศึกษาเปรียบเทียบฝาแฝดที่มีไอคิวพอๆ กันแล้วพบว่า แฝดที่อดทนรอคอยได้น้อยมักจะมีนิสัยไม่ดี ไม่เหมาะสมมากกว่ารวมทั้งทำอะไรประสบความสำเร็จในตอนโตน้อยกว่าอีกคนหนึ่ง จึงเป็นการพิสูจน์ได้ว่า การสอนให้ลูกรู้จักใจเย็น อดทนและรอคอย เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของลูกน้อยเป็นอย่างมาก

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up