ถึงจะยังดูเป็นเด็กอยู่มาก แต่เด็กในวัย 5-7 ปีก็ชอบปล่อยพลังในโลกกว้างแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คนส่งลูกไปปล่อยพลัง นั่งดูแล้วรับเขากลับบ้าน แต่พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ เพราะถึงอย่างไรลูกก็ยังต้องการพ่อและแม่นะ
ธรรมชาติวัยซน กายใจพร้อม ทุกแห่งหนคือโลกกว้าง
โดยทั่วไป เด็กในวัย 5 ขวบขึ้นไปมักจะมีความรู้ในเรื่องรอบตัวอย่างหลากหลายแล้ว เช่น รู้จักสีสัน มีความเข้าใจเรื่องรูปทรง และขนาด รู้จักการเรียงสิ่งของจากเล็กไปหาใหญ่ สั้นไปหายาว หรือ กว้างไปหาแคบ เป็นต้น รู้จักตัวอักษรและเริ่มจะเขียนหนังสือได้ ส่วนในเรื่องกายภาพ เด็กวัยนี้มักจะสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปีนป่าย ห้อยโหน ไปจนถึงเต้นรำ รู้จักทรงตัว กระโดดขาเดียว และรับลูกบอลได้คล่องแคล่วขึ้น
เมื่อถึงพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย และการเรียนรู้ ก็ถึงเวลาออกไปสนุกกับโลกกว้างกันแล้วล่ะ การเรียนรู้โลกภายนอกหลังคาบ้าน หรือนอกรั้วโรงเรียนล้วนแต่เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับพวกเขาทั้งสิ้น และเพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เรามีคำแนะนำและข้อคิดดีๆ มาฝาก
6 เทคนิค ชวนจอมซ่าสำรวจโลกอย่างปลอดภัย
1. ถึงซ่าแต่ไม่ชอบลุยเดี่ยว
เพราะลูกวัยนี้ยังต้องการให้พ่อแม่ร่วมเล่นสนุกด้วยกัน เราจึงควรลุยไปพร้อมกันกับลูก เมื่อมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูก ถือโอกาสนี้คอยดูแลเขาไปด้วยในตัวเลย
2. ลุยไปด้วยกันได้ทั้งกระบวน
คือเริ่มได้ตั้งแต่ สอนลูกให้รู้จักการแต่งตัวอย่างเหมาะสม และสอนการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัย เช่น เมื่อเล่นเสร็จแล้วต้องล้างมือ ไม่เอามือที่สกปรกไปขยี้ตา แคะจมูก และไม่เช็ดเสื้อผ้า พร้อมแนะนำหรือชี้ชวนให้ลูกลองทำอะไรใหม่ๆ อย่าง ปลูกต้นไม้ หรือทำอะไรให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น กระโดดให้สูงขึ้น เป็นต้น
3. ปล่อยให้ลูกเลือกสำรวจ
ให้ลูกสำรวจสิ่งรอบตัวเอง โดยพ่อแม่คอยจับสังเกตว่าลูกอยากเรียนรู้อะไร โดยไม่ต้องไปชี้แนะ ชี้นำ เพราะแค่เพียงกิจกรรมง่ายๆ อย่าง การปีนป่าย การขุดดิน ชมดอกไม้ หรือแม้แต่การเรียนรู้ถึงสัมผัสที่แตกต่างระหว่างทรายแห้งและทรายเปียก ก็เป็นการเรียนรู้สำหรับลูกได้แล้ว
4. ลุยไป คุยไป คิดไป
การได้ลุยด้วยกัน ลูกจะเห็นว่าทั้งคุณและเขาต่างมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันเวลาคุยกันก็ง่ายขึ้น คุณสามารถใช้โอกาสนี้ช่วยลูกฝึกคิดไปด้วยอย่างเป็นธรรมชาติ อย่าง “การตั้งคำถามปลายเปิด”เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ของลูก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสังเกต เช่น “ลูกเจอตัวอะไรนะ? แมลงเหรอ? ตัวสีอะไร มันคลานหรือมันบินได้? แล้วมันเกาะใบไม้สีอะไร? ใบใหญ่มั้ย? การรู้จักสังเกตมากขึ้นจะทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ดีขึ้น เพียงแต่คุณต้องระวังว่าอย่าคาดหวังผิดเรื่อง เราเพียงอยากให้เขาเรียนรู้การสังเกต ดังนั้นลูกก็ไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อของทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเห็น
5. สัมผัสดู ยกขึ้นมา มองดูข้างใต้
ลูกควรจะได้สัมผัสสิ่งต่างๆรอบตัวเพื่อจะได้ทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นอย่างเต็มที่ เช่น สัมผัสของดินทรายจะต่างไปจากดินเหนียว ผลไม้ที่สุกแล้วจะนิ่มกว่าผลไม้ที่ยังดิบอยู่ เป็นต้น หรือจะแค่ลองใช้นิ้วแตะดูก็ยังดี เช่น หนามทุเรียนแหลมจัง ถ้าไม่ระวังทิ่มนิ้วเลือดออกแน่ๆ และควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พิจารณาสิ่งของอย่างรอบด้าน เช่น ลองแหงนดูร่มเงาใต้ต้นไม้ หรือลองยกกระถางดินเผา และกระถางพลาสติกดูว่าแบบไหนจะหนักกว่ากัน
6. ชวนกันหาข้อสรุปจากที่ได้สังเกต
การเรียนรู้จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อลูกสามารถหาข้อสรุปให้กับตนเองได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องอาศัยการชี้แนะจากพ่อแม่ แต่ไม่ใช่ชี้นำ ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรถามและสรุปให้กับลูกเองเบ็ดเสร็จ เช่น ไม่ควรถามเองตอบเองว่า “หนูเห็นดอกกุหลาบเหี่ยวแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลมั้ยลูก? จำได้มั้ยว่าวันก่อนมันยังเป็นสีแดงสวยอยู่เลย” แต่ควรจะถามนำแล้วให้ลูกตอบ เช่น “หนูจำสีของดอกกุหลาบดอกนี้เมื่อวันก่อนได้มั้ยลูก? แล้วตอนนี้มันเป็นสีอะไร มันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง?” เพื่อให้ลูกสังเกตและหาข้อสรุปถึงความแตกต่างระหว่างดอกไม้สดและดอกไม้เหี่ยวโดยผ่านกระบวนการสังเกตและคิดวิเคราะห์ของตนเอง
“ลูกวัยนี้ยังต้องการพ่อแม่ตะลุยไปกับเขาทุกๆ ที่ แม้เพียงกระถางต้นไม้เล็กๆ หลังบ้าน เพราะคุณคือผู้ช่วยการเรียนรู้ที่ลูกไว้วางใจที่สุด”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: shutterstock