อย่าเร่งลูกเขียนแนะ9 กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เล็ก - Amarin Baby & Kids
อย่าเร่งลูกเขียนหนังสือ แนะกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เล็ก

อย่าเร่งลูกเขียนแนะ9 กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เล็ก

Alternative Textaccount_circle
event
อย่าเร่งลูกเขียนหนังสือ แนะกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เล็ก
อย่าเร่งลูกเขียนหนังสือ แนะกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เล็ก

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยเสริมพัฒนาการมือเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเรียน การเร่งให้ลูกเขียนได้ก่อนวัยตอบสนองความต้องการของผู้ใหญ่ แต่อันตรายต่อเด็ก

อย่า!เร่งลูกเขียนก่อนวัย แนะ 9 กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่

“กล้ามเนื้อมัดใหญ่ควรพัฒนาก่อนกล้ามเนื้อมัดเล็ก”

ในวัยเด็ก หน้าที่สำคัญของลูกคือ การพัฒนาร่างกายของตนเองให้พร้อม เจริญเติบโตตามวัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กจะพัฒนาส่วนต่าง ๆ ผ่านการเล่น การทำกิจกรรมซุกซนต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่อาจเห็นเป็นเรื่องง่ายดาย แต่สำหรับลูกตัวน้อยแล้ว การเล่นนั้นเป็นงานสำคัญของเขาเลยทีเดียว

หากกล่าวถึงกล้ามเนื้อกับการพัฒนาของเด็กแล้ว เราจะกล่าวถึงทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับกล้ามเนื้อมัดเล็กมากกว่า แต่แท้จริงแล้ว กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นพื้นฐานของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ดังนั้น กล้ามเนื้อมัดใหญ่จึงควรพัฒนาให้ดีก่อนพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เรามาทำความเข้าใจกับกล้ามเนื้อทั้งสองแบบนี้กัน

เตรียมความพร้อมร่างกายลูกน้อย ให้เขาได้มีศักยภาพสมบูรณ์ดั่งฮีโร่ตัวน้อย
เตรียมความพร้อมร่างกายลูกน้อย ให้เขาได้มีศักยภาพสมบูรณ์ดั่งฮีโร่ตัวน้อย
  • กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อส่วนแขน ขา กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย ชันคอ พลิกคว่ำพลิกหงาย คลาน เดิน วิ่ง หากพัฒนากล้ามเนื้อส่วนนี้ได้ดี ทำให้เด็กมีสุขภาพดี แข็งแรง คล่องแคล่ว และมีพื้นฐานที่ดีในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความซับซ้อนมากขึ้นไปในวัยที่โตขึ้นอีกด้วย
  • กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อมือที่ใช้ในการหยิบ จับ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเขียน การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนการช่วยเหลือตัวเองในด้านต่าง ๆ ได้ หากเด็กไม่ได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เด็กไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลลบไปจนถึงความมั่นใจในการใช้ชีวิต บุคลิกภาพ และการเข้าสังคมของเด็กๆ ซึ่งอาจกลายเป็นปม ส่งผลลบไปจนถึงการศึกษา อาชีพ และการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคต
ดังนั้นลูกควรมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ แขน ขา และแกนกลางลำดัว เพื่อที่เขาจะสามารถนั่งอย่างมั่นคง เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน การวิ่ง การขึ้นบันได และจึงไปปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่วก่อนที่เขาจะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ มือและนิ้วทั้งสิบของเขา ในการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ และจับอุปกรณ์เพื่อขีดเขียน ตัด และอื่น ๆ

การเร่งลูกเขียนหนังสือก่อนวัย อันตรายกว่าที่คิด

ภาพ x-ray มือของเด็ก 7 ปี และ 5 ปี
ภาพ x-ray มือของเด็ก 7 ปี และ 5 ปี
จากข้อความในทวิตเตอร์ของ Ruth Swailes : School Improvement Advisor, Education consultant,Curriculum Developer ได้แบ่งปันภาพเอ็กซเรย์เชิงลึกของมือเด็กอายุประมาณ 7 ปีเมื่อเทียบกับรังสีเอกซ์จากเด็กอายุ 5 ปี และได้แสดงความคิดเห็นสรุปความได้ว่า
เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ใช่แค่ขนาดมือของเด็กเท่านั้นที่เปลี่ยนไป เด็กที่อายุน้อยกว่ามีกระดูกอ่อนที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งต่อไปก็จะกลายเป็น กระดูกในที่สุด ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงสรีรวิทยาของมือเด็กเล็กด้วย หากเราต้องการฝึกฝน หรือบังคับให้เขาทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่นการจับดินสอเขียนหนังสือ ที่เป็นกิจกรรมที่ต้องรอให้การเจริญเติบโตของร่างกายพร้อมเสียก่อน และการเจริญเติบโตของมือใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้หลายปี และความชำนาญโดยรวมต้องใช้เวลา การฝึกคัดลายมือจึงน่าจะเริ่มขึ้นหลังจากได้วางรากฐานมาอย่างดีแล้ว และควรเตรียมความพร้อมของลูกด้วยกิจกรรมที่เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก เพื่อความพร้อมของพัฒนาการมือของลูกก่อนถึงวัยที่เหมาะสมกับการเขียนหนังสือจะดีกว่า
สามารถอ่านรายละเอียดต้นฉบับเพิ่มเติมได้จาก https://twitter.com/SwailesRuth

9 กิจกรรมเตรียมความพร้อมพัฒนามือลูก

ปั้น ๆๆๆ

ดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโดว์ของชอบของเด็ก ๆ ไม่เพียงแค่เด็กเล็กเท่านั้น การปั้นนอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อมือพัฒนาแข็งแรงแล้ว ยังช่วยฝึกจินตนาการของเด็กได้เป็นอย่างดีอีกด้วย สำหรับกิจกรรมการปั้นเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนามือนั้น เราอาจเริ่มจากแป้งนิ่ม ๆ เช่น แป้งโดว์ให้ลูกเริ่มต้น เมื่อเขามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากพอ ก็จะสามารถปั้นในดินที่แข็งขึ้นได้ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมเสริมเข้าไปไม่ให้น่าเบื่อ โดยการซ่อนของเล่นชิ้นเล็ก ๆ หรือลูกแก้ว แล้วหุ้มด้วยดินน้ำมันให้ลูกแกะหา หรือช่วยปั้นเป็นก้อนกลม ปั้นทำรางรถไฟ เป็นต้น ก็จะท้าทายลูกมากขึ้น

ภาพปะติด กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก
ภาพปะติด กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก

ฉีก ตัด ปะ ผลงานของหนู

การฉีกจะช่วยให้ลูกได้ใช้นิ้วมือ เราควรเริ่มจากการให้ลูกได้ฉีกด้วยมือ ก่อนถึงให้เขาเรียนรู้การตัดด้วยกรรไกร กิจกรรมที่ทำร่วมกับลูกเพื่อเพิ่มทักษะในการใช้มือ ฉีก ตัด แปะนั้น พ่อแม่อาจวาดรูปเป็นรูปใหญ่ ๆ เช่น หัวใจ ดอกไม้ แล้วให้ลูกฉีกกระดาษสีแปะลงบนรูปให้สวยงาม การฉีกไม่จำกัดอยู่แค่กระดาษเท่านั้น กิจกรรมการปั้นดินน้ำมันก็ช่วยให้ลูกต้องฉีกดินน้ำมันออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยตามชิ้นงานที่เขาต้องการได้เช่นกัน โดยพ่อแม่ต้องท่องไว้ในใจว่า ให้ลูกเป็นผู้ลงมือทำเอง ไม่จัดการให้ลูกไปเสียทุกอย่าง จงเชื่อในศักยภาพของเขาให้เขาลองผิดลองถูกบ้าง

ปักฉึก ๆ 

การใช้มือหยิบจับสิ่งของลงมาปัก หรือเจาะลงบนดิน หรือวัสดุใด ๆ ก็เป็นการเพิ่มความสามารถในการพัฒนามือของลูกได้เป็นอย่างดี พ่อแม่อาจคิดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ให้สนุกน่าเล่นเพิ่มเข้าไปได้ เช่น การชวนลูกปลูกต้นไม้ ทั้งต้นไม้จริง และต้นไม้ประดิษฐ์ ให้เขาหากิ่งไม้ หรือแท่งไม่สมมติว่าเป็นต้นกล้า ปักลงไปในดินที่ไม่แข็งจนเกินไป หรือการปักเทียนลงบนเค้ก ซึ่งในปัจจุบันมีของเล่นเสริมพัฒนาการมากมายที่ข่วยเพิ่มทักษะในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นแท่งไม้ พร้อมแท่นเสียบ หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่มีสีสันน่าเล่นสำหรับเด็ก หรืออาจเป็นการฝึกฝนในชีวิตประจำก็ทำได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การให้ลูกใช้หลอดเจาะกล่องนมเอง การฝึกร้อยเชือกรองเท้า เป็นต้น

ทราย ตัวช่วยใน กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ได้ดี
ทราย ตัวช่วยใน กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ได้ดี

ขุด ๆ แล้วฝัง

ทรายเป็นของอีกอย่างหนึ่งที่เด็กชื่นชอบเป็นอย่างมาก หากพ่อแม่ลองเปิดใจในเรื่องความสะอาด การให้ลูกได้ลงเล่นคลุกทรายก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ได้เป็นอย่างดี การขุดทรายเด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมือในการขุด ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง อีกทั้งยังพัฒนาจินตนาการของเขาระหว่างเล่นได้อีกด้วย

บีบคั้น ขย้ำเพลิน

การบีบคั้นในที่นี้หมายถึง การกระทำด้วยมือ กดบีบ บีบคั้นของ ขย้ำ มิใช่การบีบคั้นจิตใจแต่อย่างใด โดยทักษะนี้แฝงอยู่ในหลาย ๆ กิจกรรม เช่น การปั้นดินน้ำมัน ก็ต้องใช้มือบีบ ขย้ำก้อนดินน้ำมันให้เป็นรูปร่าง หรือการก่อทราย แต่พ่อแม่สามารถเน้นทักษะดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วยกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน โดยอาจให้ลูกช่วยทำงานบ้าน เช่น การซักผ้า ให้เขาบีบ บิดผ้าชิ้นเล็ก ๆ หรือช่วยล้างรถก็ต้องบิดผ้าให้หมาด ๆ เพื่อเช็ดถูเช่นกัน การบีบน้ำส้มคั้น เป็นต้น การทำงานบ้านนอกจากได้พัฒนากล้ามเนื้อแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่แฝงไว้สอนลูกด้วยเช่นกัน

อ่านต่อ  ให้ลูกช่วยงานบ้าน ฝึกทักษะEF ติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โดยพ่อเอก

ติดสติ๊กเกอร์ แกะออกก็ช่วยนะ

สติ๊กเกอร์ รางวัลของเด็กน้อย ที่นิยมใช้เป็นของล่อตาล่อใจลูกน้อยของคุณ ก็สามารถนำมาเป็นกิจกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็กได้เช่นกัน การแกะสติ๊กเกอร์ การแปะลงบนที่ต่าง ๆ ก็ต้องใช้ทักษะมือน้อย ๆ ในการหยิบจับด้วยนิ้วอย่างแม่นยำด้วยเช่นกัน

ระบายสี หรือละเลงกันนะ กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่
ระบายสี หรือละเลงกันนะ กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่

ระบายสี หรือละเลงสีกันนะ

กิจกรรมการระบายสีเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะมือโดยตรง จึงนับเป็นกิจกรรมที่ดีในการพัฒนากล้ามเนื้อมือของลูก โดยการจับดินสอสีนั้นถึงแม้ว่าเราได้กล่าวไปแล้วว่าสรีระของเด็กอาจยังไม่เหมาะต่อการจับดินสอ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้เขาจับเสียเลย เพียงแค่ให้พ่อแม่เข้าใจในสรีระเพื่อลดความคาดหวังว่าลูกจะต้องทำผลงานออกมาสวยงาม ไร้ที่ติ เช่น ลูกอาจระบายสีออกนอกเส้นไปบ้าง ละเลงสีเล่นจนมั่ว เละดูไม่ออกว่ารูปอะไร หากเราเข้าใจในเรื่องดังกล่าว พ่อแม่ก็ไม่ควรตำหนิ ตรงกันข้ามอย่าลืมชื่นชอบลูกเพื่อการเสริมกำลังใจในการพัฒนามือของลูกต่อไป โดยการเลือกใช้ดินสอสีนั้น ก็เลือกตามวัยของลูก ปัจจุบันมีดินสอสีหลายไซส์ หลายขนาด ให้ได้เลือกใช้ให้เหมาะมือกับวัยของเด็กมากมาย

ร้อยเรียง ต่อภาพ

อุปกรณ์ในการร้อย การต่อ มีให้เลือกมากมาย ทั้งของเล่นดึงดูดใจ เช่น ต่อจิ๊กซอ ต่อโซ่เป็นห่วงยาว ต่อตัวต่อเลโก้ ร้อยลูกปัดสี หรือแม้แต่สิ่งของใกล้ตัว ก็นำมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน การเรียงหมอนเก็บที่นอนตอนเช้า การร้อยเข็มกับด้าย การช่วยจัดเก็บของเล่นใส่ตู้เก็บของ เป็นต้น

กระดานขีดเขียน

ของเล่นอีกชิ้นที่ควรมีติดบ้านสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนเริ่มทักษะการเขียนนั้น คือ กระดาน ปากกา หากสามารถเป็นแบบเขียนแล้วลบได้ก็จะช่วยเพิ่มความสนุกไม่น้อย การเขียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนนั้น ความคาดหวังของพ่อแม่ควรอิงต่อพัฒนาการของลูกด้วยเช่นกัน การให้ลูกได้จับดินสอขีดเขียนเป็นการฝึกให้เขาคุ้นเคย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเข้าใจในสรีระร่างกาย มือของเด็กว่าสามารถทำได้ดีเท่าไหร่กัน ลองมาดูทักษะ และพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยในการเขียนว่าเขาจะสามารถเขียนได้ตรงตามวัยของลูกหรือไม่จากบทความ

ลองนำไปปรับใช้กันดู สำหรับกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนลูกเข้าสู่วัยเรียน วัยที่ต้องใช้ทักษะในการขีดเขียน หากลูกมีความพร้อมทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เขาย่อมสามารถทำสิ่งนั้น ๆ ได้ดี และเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกได้อีกทางหนึ่งด้วย พ่อแม่ไม่ควรเร่งรีบให้ลูกทำให้ได้ในขณะที่เขายังไม่พร้อม ไม่มีเกณฑ์ตายตัวใด ๆ ว่าลูกเราจะต้องเหมือนคนอื่น ดังนั้นจงดูที่ความตั้งใจของลูกมากกว่าผลงาน และคอยสนับสนุน ส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามสไตล์ของตัวเองจะเป็นสิ่งที่ดีต่อลูกที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ตามใจนักจิตวิทยา /www.si.mahidol.ac.th/www.phyathai.com

อ่านต่อบความดี ๆ คลิก

เช็กให้ดี กับปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนทำ โฮมสคูล !!

9 กิจกรรมเล่นกับลูกวัยอนุบาล เพิ่มทักษะ เสริมพัฒนาการรอบด้าน

หมอตอบ ของเล่นเสริมทักษะ – อุปกรณ์ IT ทำให้ลูก “เก่ง” ได้จริงหรือ?

หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up