เด็กๆ ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนส่วนใหญ่ มักจะเป็นเด็กที่มีผู้ปกครองคอยใส่ใจช่วยเหลือเวลาที่ทำการบ้าน เพราะนั่นทำให้ลูกเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ การที่พ่อแม่ช่วยลูกทำการบ้านนั้นไม่ได้มีความหมายว่าการนั่งอยู่ที่โต๊ะ และใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการทำการบ้าน แต่หมายถึงการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนให้กำลังใจ สอนทักษะที่สำคัญในวิชานั้นๆ ให้แก่ลูก ได้แก่อธิบายโจทย์ปัญหาที่ยาก หรือคอยบอกให้ลูกหยุดพักสายตาบ้าง เป็นต้น
ในขณะที่การบ้านเป็นเรื่องที่ผ่านไปได้อย่างรวดเร็วสำหรับเด็กบางคน แต่สำหรับเด็กหลาย ๆ คนแล้ว พวกเขาคิดว่าการได้ทำการบ้านเป็นเหมือนการแบกรับภาระอันหนักอึ้งดี ๆ นี่เอง ซึ่งพ่อแม่และลูก ๆ มักมองผลประโยชน์จากการทำการบ้านต่างมุมกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่ลูกจะได้เมื่อเขาทำการบ้าน วัตถุประสงค์ของเราก็เพื่อให้ลูกทำให้เสร็จแล้วลูกก็เอาการบ้านไปส่งครู
แต่สำหรับเด็กแล้ว มันเป็นเหมือนงานที่พวกเขาต้องทำให้เสร็จ และมันกลายเป็นภาระและมัน “ไม่สนุก” เลย ดังนั้น ในใจของพวกเขาจะคิดว่าพ่อแม่เป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดหรือตัวกำจัดความสนุกในชีวิตเมื่อเขาต้องทำการบ้าน
เช่นเดียวกัน สำหรับเด็กในวัยประถมมักจะหงุดหงิดมากและเกลียดการต้องนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ เพื่อทำการบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงมีเทคนิคดีๆที่สามารถช่วยลูกของคุณในการทำการบ้านให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แถมมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนี้
1. จัดตารางเวลาประจำวันให้ลูกทำการบ้านที่ชัดเจน
ก่อนหรือหลังอาหารเย็นก็ได้ ถ้ามีการบ้านมากควรลงมือทำหลังจากเลิกเรียน ทำบางส่วนที่โรงเรียนขณะรอพ่อแม่ไปรับ เด็กบางคนทำได้ดีหลังทางอาหารเย็น หรือบางคนชอบทำก่อนอาบน้ำ หรือหลังทานอาหารว่าง เป็นต้น และควรทำให้เสร็จแต่หัวค่ำจะได้เข้านอนพักผ่อนเร็วๆ
2. ทำความรู้จักกับครูของลูก
ไปร่วมงานของโรงเรียนเป็นงานแสดงต่าง ๆ ที่เด็กมักมีส่วนร่วมแสดงด้วยถ้วนหน้า เข้าประชุมสมาคมครูผู้ปกครอง เมื่อพบครูของลูกควรพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการเรียน และการแจกงานมาฝึกปรือที่บ้าน และปรึกษากับครูว่าพ่อแม่ควรมีบทบาทหรือมีส่วนช่วยลูกตรงไหนอย่างไร
3. ให้กำลังใจ และ ห้ามการเสริมแรงทางบวกกับลูก
เมื่อลูกทำการบ้านหรือกิจกรรมนั้นๆ สำเร็จ คุณพ่อคุณแม่สามารถติดผลงาน เช่น งานศิลปะไว้ที่ตู้เย็นหรือที่มองเห็นได้ ทำให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ภาคภูมิใจในตัวลูกเสมอ
4. พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง
ถ้าพ่อแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เคยอ่านให้ฟังเสมอ พ่อแม่ติดตามข่าวหนังสือพิมพ์ เขียนหนังสือ เขียนจดหมาย อ่านหนังสือเวลาว่าง ลูกๆ ก็จะทำตามพ่อแม่ดีกว่าพร่ำสอนโดยไม่มีตัวอย่าง
5. ในช่วงวันหยุด ควรจัดหาเวลาอ่านเขียน (study time) จะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น หลังรับประทานอาหารว่าง บางคนชอบให้ใช้เวลาตอนค่ำก็อนุโลมได้ เพื่อทบทวนบนเรียนและให้ลูกมีความพร้อมเสมอที่จะไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น
6. สอบถามลูกถึงงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ
คำถามต่าง ๆ ที่ครูให้มาค้นหาคำตอบ ข้อสอบต่าง ๆ แล้วตรวจสอบว่าลูกทำครบไหม เตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามต่าง ๆ และปลอบประโลมเมื่อลูกคับข้องใจ คำถามบางคำถามพ่อแม่ไม่ทราบก็จะต้องช่วยกันค้นหาจากแหล่งต่างๆ ทั้งหนังสือ ตำรา หรือแม้แต่ทางอินเทอร์เน็ต