ลูกวัยอนุบาลก็มีสมาธิได้เหมือนกันนะ สมาธิที่เป็นจุดเริ่มแห่งการเรียนรู้ ร่วม ฝึกสมาธิ ลูกเสียแต่วัยนี้สร้างพื้นฐานทักษะที่ดีในอนาคตด้วยวิธีง๊าย..ง่ายกันเถอะ
ฝึกสมาธิ ให้ลูกได้ตั้งแต่วัยอนุบาลง๊าย..ง่ายแค่ 4 ขั้นตอน!!
ลูกเล็กกำลังซน อยู่ไม่นิ่ง หรือเป็นสมาธิสั้นกันแน่ คำถามที่พ่อแม่สมัยนี้กำลังกังวลใจ กับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสื่อเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดปัญหากับลูกน้อย อย่างที่รู้ ๆ กันดีว่า การให้ลูกนั่งดูจอทีวี หรือสมาร์ทโฟนตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม และปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
เวลาทองสำหรับการพัฒนาสมองคือ 3 ปีแรก ช่วงเวลานี้เด็กๆต้องการเวลาปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่แบบตาสบตา ไม่ใช่ดูแต่จอภาพ
วิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐแนะนำว่า การดูทีวีในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีแนวโน้มส่งผลเสีย ไม่มีผลดีต่อสมองและสุขภาพของเด็กสมาคมกุมารแพทย์แห่งแคนาดาแนะว่าว่า ไม่ควรให้มีทีวี คอมพิวเตอร์ วิดิโอเกมส์ในห้องนอนของเด็กสมาคมกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กแนะนำว่า เด็กแรกเกิดถึง 18 เดือน ไม่ควรดูทีวี วัย 18 เดือนถึง 4 ขวบไม่ควรดูเกินวันละครึ่งชม. เด็กวัย 4 ขวบขึ้นไปไม่ควรดูทีวีนานเกินวันละ 1 ชม. เพราะจะทำให้มีปัญหาต่อไปนี้
- ขาดทักษะทางด้านอื่นๆ หรือพัฒนาการช้า เนื่องจากไม่มีเวลาเหลือพอที่จะทำกิจกรรมอื่นซึ่งมีประโยชน์มากกว่า เช่น การเล่นสมมติ การวาดรูประบายสี
- การสื่อสารพูดคุยกับผู้อื่น ทำให้พูดช้า ความสามารถด้านการอ่านหนังสือไม่ดี ทำให้ผลการเรียนไม่ดี
- เด็กจะขาดทักษะในการหาทางออก ในเวลาที่เกิดความเบื่อหน่าย ไม่สบายใจ หงุดหงิด แทนที่จะใช้เวลาว่างไปกับการทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ ทำให้ขาดความคิดริเริ่มและสร้างสรร หรือเมื่อมีปัญหาคับข้องใจ ก็จะใช้วิธีดูทีวีเพื่อฆ่าเวลาหรือลืมปัญหาที่เกิดขึ้นแม้เป็นการชั่วคราวก็ยังดี
- การไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น ขี่จักรยาน ทำให้ขาดทักษะด้านการเคลื่อนไหว ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้เป็นคนงุ่มง่าม อ่อนแอติดโรคง่าย เป็นโรคอ้วนเนื่องจากการนั่งอยู่หน้าจอทีวีมีการใช้พลังงานน้อยมาก ประกอบกับอาจทานขนมขบเคี้ยวขณะดูทีวี
- มีปัญหาพฤติกรรมผิดปกติ คล้ายเด็กไฮเปอร์สมาธิสั้น คล้ายเด็กออทิสติก หมอเคยพบเด็กอายุ 3 ขวบมาด้วยเรื่องไม่พูด ไม่สบตา ชอบเล่นคนเดียว คุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ แต่พอพบจิตแพทย์เด็ก คุณหมอยังไม่ฟันธงว่าเป็นอะไร แต่บอกให้ที่บ้านปิดทีวี เพราะเด็กดูทีวีตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนเลย ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมอดดูไปด้วย(ผลพลอยได้คือผู้ใหญ่ก็รู้สึกได้รับการปลดปล่อยพันธนาการจากทีวีด้วย ทำให้มีเวลาทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่นไปเดินเล่น หรือปิ๊กนิคกัน) ผลคือลูกสบตาและพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้นภายใน 2 วัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก ส่วนหนึ่งของ FB : สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (ป้าหมอ) กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและคุณแม่ลูกสอง
สมาธิ กับเด็ก
เมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล คือ เด็กที่มีอายุระหว่าง 2-5 ขวบ ระยะนี้เป็นระยะที่ลูกมีการเปลี่ยนแปลง ของบุคลิกภาพมากที่สุด เช่น ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ค่อนข้างดื้อ ซุกซนมาก และเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของความฝัน และความจริง ในบางครั้งความคิด และการกระทำของเด็กจะไม่ตรงกับความเป็นจริง เด็กวัยนี้มักเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดและโกรธง่าย ดื้อรั้นเป็นวัยที่เรียกว่าชอบปฏิเสธ และอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนมีเพื่อนเล่น แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ
ดังนั้นการที่พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ส่วนมากมักจะตามใจเด็กในวัยนี้ไปเสียทุกเรื่อง ด้วยความคิดที่ว่าเขายังเป็นเด็กนั้น อาจไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูก การรู้จักสอนให้เขาควบคุมอารมณ์ของตัวเอง แม้ว่าอาจจะทำได้ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก แต่การฝึกฝนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตนเอง รู้จักการสงบสติ สงบจิตใจ โดยเริ่มฝึกฝนเสียตั้งแต่วัยนี้ จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีในหลาย ๆ ด้าน
ประโยชน์ของการมีสมาธิที่ดี
- ช่วยให้มีทัศนคติใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด
- เพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียด
- ช่วยให้เกิดการรู้จักตนเอง เมื่อมีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมเพียงพอ จนสามารถเรียนรู้กิจกรรมนั้น ๆ จนกระจ่างแจ้งแล้วว่าเขาชอบ หรือไม่ชอบมัน แต่ถ้าเขาเป็นคนไม่มีสมาธิก็จะทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้เพียงผิวเผินจึงทำให้ไม่สามารถตอบได้ว่าชอบหรือไม่
- ช่วยฝึกให้ลูกมุ่งความสนใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่วอกแวก
- ลดอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบ เมื่อจิตใจสงบ
- ช่วยเพิ่มจินตนาการและความคิดที่สร้างสรรค์ เมื่อเขาพร้อมเรียนรู้ด้วยใจที่สงบพร้อมเรียน ทักษะที่ดีรอบด้านก็จะได้รับเต็มประสิทธิภาพ
- เพิ่มความอดทนอดกลั้น จากการรอคอยในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราเคยฝึกให้ เพราะลูกได้เรียนรู้แล้วว่าการรอคอยนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
- เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงาน
อย่างไรก็ตาม คำว่า “สมาธิ” กับเด็กวัยอนุบาลนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจในขีดจำกัดทางร่างกาย และความคิดของลูกในวัยนี้ด้วยว่า เขายังไม่สามารถปฎิบัติ และเรียนรู้ ทำตามได้อย่างผู้ใหญ่ หรือเด็กโต จึงควรทำความเข้าใจในพัฒนาการของลูกเสียก่อนว่า เด็กในวัยอนุบาลนี้สามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานแค่ไหน
เด็กวัยอนุบาลมีสมาธิจดจ่อได้แค่ไหน ?
เด็กวัย 3 ปี : สมาธิที่ต้องการผู้ช่วย
เด็กวัยนี้จะเปิดหนังสือดูรูปหรือนิทานภาพอย่างต่อเนื่องได้นานประมาณ 3-5 นาที โดยต้องมีผู้ใหญ่ชี้ชวน นั่งฟังคนอื่นพูด แล้วโต้ตอบด้วยวาจาหรือการกระทำ มีสติจดจ่อในการเล่น หรือทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้นานประมาณ 5-10 นาที
เด็กวัย 4 ปี : เริ่มมีสมาธิในสิ่งที่ตัวเองชอบแต่ต้องใช้เวลาไม่นานเกินไป
เปิดหนังสือดูภาพด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องได้นานประมาณ 5-10 นาที มีสมาธิจดจ่อในการเล่น หรือทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้นานประมาณ 10-15 นาที หรือจนเสร็จ
เด็กวัย 5 ปี : มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น ตั้งใจทำจนเสร็จได้
เด็กจะชอบเปิดหนังสือดูภาพด้วยตนเอง และสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องได้นานประมาณ 10-15 นาที หรือจนจบ และมีสมาธิจดจ่อในการเล่นหรือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งอย่างต่อเนื่องได้นานประมาณ 15-20 นาทีหรือจนเสร็จ
4 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการฝึกสมาธิในลูกวัยอนุบาล
1. จัดบ้านส่งเสริมการเรียนรู้
หลาย ๆ ครั้งที่เราต้องการให้ลูกได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการดูทีวี หรือสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งอื่น ๆ บ้าง แต่สถานที่กลับไม่มีมุมที่เอื้ออำนวยต่อการเล่น หรือทำกิจกรรมนั้น ๆ เลย ซึ่งในวัยอนุบาลนี้เป็นวัยที่มีการเล่นเป็นกิจกรรมหลักอยู่แล้ว ดังนั้นการหามุมแห่งการเรียนรู้ ฝึกสมาธิให้กับลูก ก็เป็นขั้นตอนอันดับต้น ๆ ที่พ่อแม่ควรทำเตรียมพร้อมไว้ให้เขา โดยมุมเรียนรู้ดังกล่าว ควรเป็นสถานที่โปร่งสบาย บรรยากาศปลอดโปร่ง และที่สำคัญควรห่างจากสิ่งรบกวน สิ่งเร้าอื่น ๆ เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งรบกวนได้ง่าย มีเสียง หรือสิ่งรบกวนอื่นใด ก็มักจะหันไปให้ความสนใจ และลืมสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ได้ง่าย ๆ เลยเชียว
2. โรงเรียนมีตารางเรียน บ้านก็มีตารางกิจกรรมที่บ้านนะ…เออ!!
เวลาที่ลูกไปโรงเรียนอนุบาล คุณครูจะมีตารางเรียน ให้ลูกได้เรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ตามกำหนดเวลา คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำตารางเวลาเหล่านี้มาปรับใช้ที่บ้านได้เช่นกัน เพราะหลาย ๆ บ้านเรามักจะพบว่าเวลาที่ลูกอยู่บ้านมักเอาแต่ใจมากกว่าเวลาอยู่ที่โรงเรียน นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้จัดตารางเวลาในการทำกิจกรรมให้แก่ลูกเวลาอยู่บ้าน โดยเฉพาะบางบ้านที่ลูกเริ่มติดจอไปบ้างแล้ว ตารางเวลานี้จะช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับลูกได้เป็นอย่างดีเวลาเราต้องการให้เขาห่างจอบ้าง
การกำหนดเวลาทำตารางกิจกรรม จะช่วยให้ลูกรู้ว่าตัวเองมีเวลาในการทำอะไรนานเท่าไร เขาก็จะมีสมาธิในการจดจ่อทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนดไว้ แถมยังช่วยฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ รู้จักบริหารเวลา ได้อีกด้วย สิ่งสำคัญในการทำตารางกิจกรรมนั้น คือ พ่อแม่ต้องรู้จักยืดหยุ่น ปรับเวลาได้บ้างตามสถานการณ์ ตามความเหมาะสม ไม่มีการลงโทษ เพียงแค่ชี้ให้ลูกเห็นว่าไม่สามารถทำตามตารางได้เท่านั้นก็พอ เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกเครียด และสนุกที่จะทำกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน
3. ใช้ตัวช่วยในการฝึกสมาธิลูก
ด้วยพัฒนาการหลาย ๆ ด้านของเด็กในวัยอนุบาลนี้ การใช้กิจกรรม สิ่งของ ของเล่น มาเป็นตัวช่วยในการให้ลูกหันมาสนใจ และมีสมาธิจดจ่อนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น เราสามารถเลือกกิจกรรม หรือเกมต่าง ๆ มาชักชวนให้ลูกเลือกเล่นได้หลากหลาย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบเท่านั้น หรือเกม ของเล่นที่มีราคาแพง เพราะความจริงแล้วเด็กในวัยนี้ตื่นเต้น และชอบที่จะเรียนรู้ไปเสียทุกสิ่ง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ที่เปิดโอกาสให้เขาได้มีโอกาสสัมผัส และทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น
ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมาธิให้กับเด็กวัยอนุบาล
- อ่านหนังสือด้วยกัน หนังสือเป็นตัวช่วยชั้นดี และเป็นเพื่อนในจินตนาการที่ดีของเด็กเสมอมา การเรียกลูกมานั่งล้อมวงอ่านหนังสือให้เขาฟังนั้นจึงเป็นการฝึกสมาธิให้กับลูกได้เป็นอย่างดี ซ้ำยังช่วยปลูกฝังพฤติกรรมรักการอ่านให้กับเขาในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้น ลองใช้เวลาสัก 15-20 นาทีก่อนไปโรงเรียน หรือก่อนนอนชวนลูกอ่านหนังสือ แล้วลองติดตามผลดูสิว่า ลูกนั้นมีสมาธิมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจริงไหม
- เล่นทราย วิธีการง่าย ๆ โดยการพาลูกไปเล่นที่สวนสาธารณะ หรือสร้างกระบะทรายขึ้นเองสำหรับเขาไว้ที่บ้านก็ได้ โดยการเล่นทรายให้ทั้งสมาธิ และบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น วาดรูปจากกองทราย ก่อปราสาททราย หรือจะเอาทรายมาผสมสีแล้วบรรจุลงในขวดให้เป็นทรายหลายสีหลายชั้นก็ได้
- ศิลปะ ศิลเปรอะ การวาดภาพ โดยใช้สีไม้ สีน้ำ สีเทียน หรือการปั้นด้วยดินเหนียว แป้งโดว์ ดินน้ำมัน รวมถึงการพับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ก็สามารถช่วยฝึกสมาธิให้ลูกได้ง่าย ๆ แถมศิลปะยังดีต่อพัฒนาการของเด็กในอีกหลากหลายด้านอีกด้วย นอกเหนือจากการฝึกสมาธิ
4. ดนตรีปรับอารมณ์
ลองเปิดเพลงบรรเลง หรือเพลงเบา ๆ เพราะ ๆ ระหว่างที่ลูกกำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกสงบ ใจเย็น และลดอารมณ์หงุดหงิดเวลาเข้าทำอะไรไม่ได้ดั่งใจมากขึ้น เมื่อจิตใจสงบ คลื่นอัลฟา (Alpha Wave) ในสมองก็จะทำงานได้ดี เกิดเป็นภาวะที่มีสมาธิ เหมาะสมต่อการเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน และมีใจจดใจจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดีทีเดียว
ไม่ยากเลยใช่ไหมกับขั้นตอนการสร้างบรรยากาศให้ลูกได้เริ่มฝึกสมาธิกันเสียตั้งแต่วัยเด็ก วัยที่พวกผู้ใหญ่มักเข้าใจกันไปเองว่า เป็นวัยที่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่สามารถสอนในเรื่องยาก ๆ ได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ลองนำขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ไปปรับใช้ ช่วยฝึกลูกวัยอนุบาลให้เขามีสมาธิดีเสียแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้เขามีความพร้อมในการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้ดีกว่าอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.thaihealth.or.th/happyschoolbreak.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ไม่อยากให้ลูกเป็น “โรคสมาธิสั้น ADHD” หยุดหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่