30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนา ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือไม่? - Amarin Baby & Kids

30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนา ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือไม่?

Alternative Textaccount_circle
event

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมเป็นห่วงลูก โดยเฉพาะลูกในวัยที่เข้าเรียนแล้ว  แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน หรือ ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือไม่? จะถามตรงๆ ลูกคงไม่บอก ตามมาดู 30 คำถามหลังเลิกเรียน ที่อาจจะช่วยไขปริศนาได้

รวม 30 คำถามหลังเลิกเรียน
ไขปริศนา ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือไม่?

สำหรับลูกรัก ในวัยที่เริ่มไปโรงเรียนได้เจอสังคมข้างนอกเต็มตัว คุณพ่อคุณแม่ก็มักอยากรู้ความเป็นไปหรือสุขทุกข์แต่ละวันของลูก แต่บางครั้งการถาม คำถามหลังเลิกเรียน แบบตรงๆ ว่า “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้างลูก” หรือ “หนูชอบโรงเรียนไหมจ๊ะ” อาจไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง เพราะแม้แต่นักเรียนใหม่ตัวน้อยเองก็ยังตอบไม่ได้ หรือไม่อยากยอมรับว่า พวกเขามีปัญหาอะไร หรือ ลูกถูกเพื่อนรังแก ที่โรงเรียนหรือเปล่า?

 

เราจึงมีข้อสังเกตบางอย่างให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปลองใช้ยามเด็กน้อยวัยเรียนไม่ยอมเปิดปาก จากศาสตราจารย์วอลลี่ ก็อดดาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตครอบครัว จากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ และผู้เขียนหนังสือ “The Soft-Spoken Parent”  มาฝากค่ะ

 

  • ดูความพร้อมก่อน ไม่เร่งจะดีกว่า

เพิ่งรับขึ้นรถปุ๊บก็ถามปั๊บอาจไม่ใช่จังหวะที่ดีนัก เพราะเด็กหลายๆ คนก็ยังไม่พร้อมที่จะทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าวันนี้ได้ผ่านไปแล้ว ดังนั้น การอดใจเก็บคำถามนี้ไว้ตอนเย็น เช่น หลังอาหารเย็นหรือก่อนเข้านอนที่ทั้งลูกและคุณก็สบายใจผ่อนคลายกันแล้วหรือตอนกำลังอารมณ์ดีๆ จะเข้าท่ากว่าค่ะ

  • ชวนคุยให้ตรงประเด็น

ในวันที่ลูกดูไม่อยากพูดหรืออยากช่วยให้ลูกพูดง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงคำถามกว้างที่สุดในสามโลกอย่าง “วันนี้สนุกไหม” คำถามที่เหมาะควรเป็นคำถามแสดงความใส่ใจหรือคำถามที่ลูกรู้สึกได้ว่าพูดแล้วคุณกำลังฟังเขาแน่ๆ เช่น “วันนี้ลูกผสมสีอย่างที่เราทดลองกันวันก่อนหรือเปล่า แม่เห็นลูกชอบมากเลย แม่ก็ว่าสวยดีนะ เพื่อนๆ น่าจะได้เห็น”

  • ควบคุมอารมณ์ให้อยู่ แม้ได้รู้ข้อมูลลบ

เมื่อลูกยอมเปิดปากบอกเราแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องดีเสมอไป ดังนั้นสิ่งสำคัญยามคุยกับลูกคือการควบคุมอารมณ์และการตอบกลับของคุณ แม้แต่เมื่อคุณได้รับรู้เรื่องที่ทำให้ช็อกได้หรือเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขโดยด่วน เช่น ลูกถูกรังแก ปฏิกิริยาแรกที่แนะนำคือ แสดงความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจรับฟังลูกในสถานการณ์นั้น และต้องให้ลูกรู้ว่าคุณพร้อมจะช่วยลูกเสมอ ส่วนการแก้ปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ ก็ค่อยว่ากันไป

ชวนลูกเล่าเรื่องที่โรงเรียน

สำหรับวิธีไขปริศนาปัญหาที่โรงเรียนของลูก ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำคือ สังเกตจากอาการผิดปกติของลูก และหมั่นถามลูกอ้อมๆ ด้วยคำถามปลายเปิด หากเป็นกรณีปกติ ลูกจะเล่าให้คุณฟังอย่างคล่องแคล่ว เพราะเด็กวัยนี้ชอบพูดชอบคุยอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาหงุดหงิดหรือบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบคำถามเมื่อไร อาจหมายความว่า ลูกไม่มีความสุขจนไม่อยากพูดถึงหรือมีเรื่องอะไรอยู่ในใจ

  1. วันนี้หนูเรียนอะไรบ้าง?

  2. มีอะไรสนุกๆ บ้างไหม?

  3. ตอนกลางวันหนูกินอะไรบ้าง?

  4. ตอนพักกลางวันหนูเล่นอะไร?

  5. เรื่องอะไรที่ตลกที่สุดในวันนี้?

  6. มีใครทำอะไรให้หนูประทับใจบ้าง?

  7. เรื่องดีๆ ที่หนูทำให้เพื่อนวันนี้คืออะไร?

  8. ใครทำให้หนูยิ้มบ้าง?

  9. ใครโดนครูดุบ้างวันนี้? เพราะอะไร?

  10. หนูได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง?

  11. อาหารอะไรอร่อยที่สุดวันนี้?

  12. อะไรที่หนูคิดว่ายากที่สุดในวันนี้? (คำถามอาจช่วยเคลียร์ข้อสงสัย ลูกถูกเพื่อนแกล้ง)

  13. อะไรที่หนูคิดว่าง่ายที่สุดในวันนี้?

  14. ไปโรงเรียนวันนี้สนุกแค่ไหน? ให้คะแนนตั้งแต่ 1-10 เพราะอะไร?

  15. ถ้าให้เลือกเพื่อนหนึ่งคนเป็นคุณครูหนึ่งวัน หนูจะเลือกใคร? เพราะอะไร? (คำถามอาจช่วยเคลียร์ข้อสงสัย ลูกโดนเพื่อนแกล้ง)

  16. ถ้าพรุ่งนี้หนูได้เป็นคุณครูหนึ่งวัน หนูจะสอนอะไร? เพราะอะไร?

  17. มีใครพูดอะไรให้หนูโกรธหรือเสียใจไหม? (คำถามอาจช่วยเคลียร์ข้อสงสัย ลูกโดนเพื่อนแกล้ง)

  18. ใครคือคนที่หนูอยากคุยด้วย แต่ยังไม่ได้คุยเสียที? เพราะอะไร?

  19. เพื่อน / คุณครู คนไหนที่หนูชอบที่สุด?

  20. วันนี้คุณครูประจำชั้นใส่เสื้อสีอะไร?

  21. หนูชอบทำอะไรมากที่สุดตอนพักกลางวัน?

  22. บอกชื่อเพื่อนที่ดีที่สุดของหนูให้แม่รู้จักสัก 3 คนหน่อยสิจ๊ะ

 

  1. หนูเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเพื่อนบ้างวันนี้?

  2. เพื่อนคนไหนในห้องที่น่ารักที่สุดในวันนี้?

  3. เพื่อนคนไหนที่ดื้อที่สุดในวันนี้? (คำถามอาจช่วยเคลียร์ข้อสงสัย ลูกโดนเพื่อนแกล้ง)

  4. มีใครเกเรไหม? (คำถามอาจช่วยเคลียร์ข้อสงสัย ลูกโดนเพื่อนแกล้ง)

  5. เรื่องอะไรที่หนูภูมิใจที่สุดในวันนี้?

  6. ถ้าสัตว์ประหลาดมาที่โรงเรียน หนูอยากให้สัตว์ประหลาดจับใครไปบ้าง? เพราะอะไร?

  7. วันนี้เพื่อนคนไหนในห้องได้รับคำชื่นชมมากที่สุด?

  8. ที่ไหนในโรงเรียนที่สนุกที่สุด?

อย่างไรก็ตาม จากทั้ง 30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนาว่า ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือ ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน หรือไม่? นั้นไม่จำเป็นต้องถามทุกคำถามในวันเดียวกัน แต่ควรถามสลับสับเปลี่ยนกันไปเพื่อทราบความเป็นไปของลูก นอกจากนี้ การพูดคุยกับคุณครูก็ช่วยให้คุณแม่ทราบความเป็นไปของลูกที่โรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง เพราะคุณครูอยู่กับลูกของคุณถึง 5 วันต่อสัปดาห์ พวกเขาอาจมองเห็นปัญหาที่คุณไม่มีทางรู้ เช่น การเข้ากลุ่มเพื่อน ปัญหาด้านการเรียน หรือแม้แต่เรื่องที่ลูกเล่นกีฬาไม่เก่ง ถ้าเป็นไปได้ โดยควรพูดคุยกับคุณครูหลายๆ คน ไม่เฉพาะคุณครูประจำชั้นค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up