“อ่านให้ฟัง” หรือ “อ่านเอง” ถูกใจวัยช่างพูดทั้งนั้น

Alternative Textaccount_circle
event

ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เจ้าตัวเล็กต้องเข้าโรงเรียนมีเพื่อนมีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ต้องทำแล้ว อย่างนี้ควรจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังต่อไป หรือเน้นขีดๆ เขียนๆ ฝึกทักษะจริงจังไปเลยดี เราหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันค่ะ

 

ยังอยากให้พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟังอยู่

ลูกยังอยากฟังนิทานจากพ่อแม่เสมอ เพราะช่วงเวลาที่คุณได้อ่านนิทานให้เขาฟัง เจ้าตัวเล็กจะรู้สึกถึงความอบอุ่นปลอดภัย นิทานก่อนนอนถือว่าเป็นเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกได้เป็นอย่างดี ส่วนการพัฒนาเรื่องภาษาและการอ่านนั้น การที่พ่อแม่ยังคงอ่านนิทานหรือหนังสือที่ลูกสนใจ ให้เขาฟังต่อไป ย่อมเป็นผลดีต่อลูกแน่นอน เพราะลูกวัยนี้ก็ยังต้องการรู้จักคำศัพท์ และความหมายของคำมากขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะทางภาษาและการสื่อสารของเขานั่นเอง

ถ้าคุณมีเวลาก็จัดหานิทานที่หลากหลายและมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม มีเนื้อหายาวขึ้น มีคำศัพท์เยอะขึ้นมาอ่านให้ฟัง แต่ภาษาที่ใช้ยังต้องเข้าใจง่าย และคำศัพท์ไม่ยากเกินไป สังเกตดูก็จะเห็นว่าลูกมีสมาธิฟังให้นานขึ้น สนุกกับเรื่องมากขึ้น และจะสนใจซักถามความหมายของคำใหม่ๆ ที่เขาได้ยินเป็นระยะๆ

 

ขออ่านเองบ้างนะ

ในวัยนี้ถึงเวลาที่ต้องกระตุ้นให้ลูกหัดอ่านเองควบคู่ไปด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือที่มีตัวหนังสือน้อย และจำนวนหน้าไม่เยอะเกินไป อย่างเช่น บทเพลงร้องเล่น นิทานคำคล้องจอง มาชวนลูกผลัดกันอ่าน “แม่อ่านก่อน ลูกอ่านตามนะ” บางครั้งถ้าลูกสนใจว่าคำที่เขาชอบเขียนอย่างไร ขณะที่ลูกอ่านคุณอาจชี้คำในหนังสือไปด้วยก็ได้ ยิ่งถ้าเด็กๆ เคยฟังเพลงกล่อมเด็กมาก่อน เขาจะรู้สึกสนุกสนานกับเสียงคล้องจองมากขึ้น

นอกจากนี้ สังเกตให้ดีคุณจะเห็นเจ้าตัวเล็กยังพยายามจะอ่านซ้ำๆ โดยอาศัยความจำ และถ้าคุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เขายังเป็นเบบี๋ละก็ คุณจะได้พบเหตุการณ์เช่นนี้ บางครั้งที่คุณอ่านหนังสือเล่มโปรดของเขาผิดบางตอน จะมีเสียงเล็กๆ ท้วงว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่…ต้อง…..” ขึ้นมาเลยละ นี่เป็นเพราะการเรียนรู้จดจำคำจากนิทาน หรือ บทเพลงร้องเล่น นิทานคำกลอนคล้องจองไพเราะ แม้แต่เพลงเด็กๆ ที่คุณใช้ขับกล่อมเขาเรื่อยมาตั้งแต่ยังแบเบาะนั่นเอง ส่งผลดีช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยวัยช่างจดจำ เจื้อยแจ้วเจรจาให้มีทักษะการอ่านได้เร็วขึ้น

 

หนังสือแบบนี้สิ โดนใจวัยอนุบาลเลย

  • นิทานคำคล้องจอง พล็อตเรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าวแต่งตัว เรื่องราวในโรงเรียน หรือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

 

  • หนังสือที่เล่นได้ ในช่วง 3 ขวบ เด็กบางคนยังชอบหนังสือที่บีบหรือจับเล่นได้ รวมถึงหนังสือที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน หรือหนังสือที่มีลูกเล่นต่างๆ เช่น ป๊อปอัพ สไลด์ มิกซ์แอนด์แมทซ์ เป็นต้น

 

  • หน้าปกดึงดูดชวนอ่าน เจ้าตัวเล็กยังคงสนใจหน้าปกที่ดึงดูด ไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือภาพประกอบ ส่วนด้านในภาพประกอบต้องชัดเจน มีขนาดใหญ่ ไม่ซับซ้อนเกินไป

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร เรียล พาเรนติ้ง 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up