ทำความรู้จักเพื่อนในจินตนาการของลูก

Alternative Textaccount_circle
event

หนูแอนวัย 3 ขวบชอบเซ้าซี้ให้คุณแม่ขานรับทั้งๆ ที่ไม่มีใครมาเคาะประตูห้อง เธอบอกว่า “ทวิตตี้รออยู่ข้างนอกนะคะแม่” แล้วชวนกันเดินไปเปิดประตู แม่หนูจะเชื้อเชิญเพื่อนที่ไม่มีใครเห็นเข้ามาข้างใน และคุยกันกระหนุงกระหนิงเกือบตลอดทั้งบ่าย

เด็กวัยอนุบาลที่เข้าสังคมเก่งมักชอบอยู่ท่ามกลางผู้คน และถ้าไม่มีใครว่างเป็นเพื่อนเล่น หนูๆ กว่าครึ่งก็มักจะจินตนาการขึ้นมาเองสักคน พฤติกรรมเช่นนี้จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับพัฒนาการด้านจินตนาการและความสนใจเรื่องบทบาทสมมติ

เพื่อนเล่นที่คิดขึ้นมาเองเหล่านี้ทำให้เด็กๆ มีเครื่องมือในการเรียนรู้โลกกว้าง รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่อาจเป็นเรื่องใหม่หรือเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ หากบุคคลจริงๆ ในชีวิตของพวกเขาเจ็บป่วยหรือเป็นทุกข์ เพื่อนในจินตนาการก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน แต่เด็กๆ สามารถกำหนดให้เรื่องที่เกิดขึ้นกับเพื่อนในจินตนาการมีบทสรุปในทางที่ดี การมี “เพื่อน” ที่แคล้วคลาดจากเหตุการณ์อันน่ากลัวจึงช่วยให้คลายกังวลลงไปบ้าง

แม้ว่าเพื่อนปลอมๆ ของหนูน้อยจะจากไปในวันหนึ่ง (เด็กหลายคนบอกว่าเพื่อนย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น หรือไม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว) แต่เพื่อนล่องหนคนอื่นๆ คงเข้ามาแทนที่ไปอีก 2-3 ปี ในระหว่างนี้ ถ้าลูกแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนในจินตนาการ คุณจะตอบสนองอย่างไรดี

1. ทำความรู้จักกับเพื่อนลูก

เด็กๆ ชอบให้พ่อแม่แสดงความสนใจในความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ลองให้ลูกวาดภาพของเพื่อนให้คุณดู หรือไม่ก็ร่วมวงเล่นเกมด้วยซะเลย

2. ปล่อยให้ลูกเป็นผู้คุมเกม

เด็กเล็กมักไม่ค่อยมีโอกาสกำหนดความเป็นไปในเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัว จึงไม่ควรพูดกับลูกในฐานะของเพื่อนในจินตนาการ หรือพูดว่าเพื่อนกำลังนั่งอยู่ที่โต๊ะกับคุณก่อนที่ลูกจะเป็นฝ่ายพูด ปล่อยให้ลูกเป็นผู้นำสักครั้งเถอะนะ

3. ทำความเข้าใจกับลูก

ลูกต้องเข้าใจว่าจะเอาเพื่อนปลอมๆ มาเป็นข้ออ้างไม่ได้ เพราะคุณรู้ว่าเขาเป็นคนที่เล่นโคลนจนเลอะเทอะ ไม่ใช่เพื่อน และถ้าลูกไม่ยอมกินผักเพราะเพื่อนไม่ชอบกิน ก็ต้องอธิบายให้ “ทั้งคู่!” เข้าใจว่าเด็กทุกคนในบ้านนี้ต้องได้รับวิตามินจากการกินผัก

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up