1 มีสัดส่วนครู : นักเรียนที่เหมาะสม คือไม่ควรเกินห้องละ 1 : 20 – 25 (ไม่รวมครูผู้ช่วย) เพื่อให้ลูกได้รับความสนใจจากคุณครูในระดับที่เหมาะสม และคุณครูก็จะ รู้จัก + รู้ใจ ลูกดีพอด้วย
2 มีกิจกรรมล้อมวงทุกวัน เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะทางสังคมที่จำเป็น เช่น การผลัดกันการรู้จักฟังผู้อื่น และการนั่งนิ่งๆ ไม่ลุกเดินไปมาระหว่างที่เพื่อนๆ และคุณครูกำลังทำกิจกรรมอยู่ แถมยังได้ฝึกทักษะทางภาษาจากการฟังครูเล่านิทานหรือร้องเพลงด้วย
3 สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ด้านภาษา คุณครูควรอ่านนิทานให้เด็กๆฟังทุกวัน ห้องเรียนควรมีนิทานมากพอให้เลือกหยิบได้ตามต้องการ มีสื่อการสอนที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ แปะเต็มผนังห้องเรียน และเวลาที่เด็กทำงานศิลปะหรือวาดรูปเสร็จแล้ว คุณครูก็ช่วยเขียนคำบรรยาย (ตามที่เด็กบอก) ประกอบด้วย
4 ส่งเสริมงานศิลปะ มีอุปกรณ์เตรียมไว้อย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นขาตั้งภาพ พู่กัน สี สีเทียน ดินน้ำมัน ฯลฯ เพราะนอกจากจะสนุกแล้ว ศิลปะยังเป็นช่องทางแสดงความคิดสำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่ถนัดเขียนบรรยายด้วย
5 มีมุมบล็อก ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์และการแก้ปัญหา
6 มีการผลัดเวรกันช่วยคุณครูทำงานง่ายๆ ซึ่งช่วยสร้างความรับผิดชอบ ความภูมิใจ และยังปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้เด็กๆ ด้วย เช่น ช่วยแจกนมให้เพื่อนๆคนละ 1 ถ้วย และขนมคนละ 3 ชิ้น
7 มีเกมประเภทจัดวางตามเงื่อนไข เกมประเภทนี้ช่วยเสริมทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งจำเป็นต่อการเขียน นอกจากนี้
จิ๊กซอว์ยังช่วยเสริมทักษะด้านมิติสัมพันธ์ เกมจัดเรียงตามขนาดและจำนวนช่วยพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ และเกมร้อยลูกปัดช่วยฝึกการใช้มือกับสายตาให้ประสานสัมพันธ์กัน
8 มีโต๊ะใส่น้ำ / ทรายไว้ให้สำรวจและทดลอง โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่ ขนาดน้ำหนัก แรงกด และปริมาตร
9 ได้เล่นออกกำลังกายทุกวัน ทั้งในอาคารเรียนและกลางแจ้ง อุปกรณ์ เครื่องเล่นและบริเวณที่เล่นต้องได้มาตรฐานความ
ปลอดภัย ลูกจะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการใช้อวัยวะต่างๆ ให้คล่องแคล่ว
10 มีของแปลกใหม่มาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เป็นประจำ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สำรวจ แสดงความเห็น และอาจขยายเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว เช่น คุณครูหาใบไม้หลากหลายชนิดมาให้เด็กๆ ดู แล้วเด็กๆ ก็ซักถามเกี่ยวกับต้นไม้และพืชชนิดต่างๆ อยากลองเพาะเมล็ดพืชเพื่อสังเกตการเจริญเติบโตทุกระยะ ฯลฯ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง