ถึงวัยที่ลูกไปไหนมาไหนมากับคุณได้มากขึ้น โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยง (เสียทรัพย์) กับของล่อตาล่อใจ อย่าง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ตลาด ถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องกฎกติกากันอย่างตรงไปตรงมา เพราะทักษะการสื่อสารของลูกมีมากขึ้นแล้วค่ะ
1. บอกกันก่อน จะไปซื้ออะไร
ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งคุณควรบอกลูกว่าวันนี้เราจะไปทำอะไรหรือซื้ออะไรกันบ้าง เพื่อให้ลูกคาดการณ์ได้ว่าจะได้หรือไม่ได้ เช่น วันนี้แม่จะไปห้างไปซื้อกะละมัง ลูกอยากไปไหม แต่แม่อนุญาตให้ซื้อขนมชิ้นเดียวเท่านั้นนะ” พูดชัดๆ ตรงไปตรงมา
2. อ้าว…ลืมกติกา ทำอย่างไรละ
เวลาที่ลูกรับปากกับพ่อแม่ เพราะของเล่นไม่ได้อยู่ตรงหน้าเขา ซึ่งในข้อนี้พ่อแม่หลายคนจะคิดว่าคุยกับลูกรู้เรื่อง แต่ภาพดีงามนั้นก็ไม่เกิด ขอให้รู้ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเจ้าตัวเล็กยังควบคุมความอยากไม่ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ พ่อแม่มีหน้าที่ยืนยันจุดมุ่งหมาย เช่น “มาซื้อกะละมัง” แล้วก็จับต้นแขนเจ้าตัวเล็กจูงออกมาจากสถานที่เกิดเหตุ ไม่ต้องเสียเวลาเถียงหรืออธิบาย
3. พร้อมเผชิญหน้ากับดราม่าควีนส์
ทำใจไว้ด้วยว่าอย่างไรต้องมีเสียน้ำตา หรือเด็กบางคนอาจถึงขั้นลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้น คุณหมอนักจิตวิทยาเด็กของเราแนะนำว่า “เด็กแต่ละคนเล่นใหญ่มากน้อยต่างกันไปค่ะ แต่ที่สำคัญพ่อแม่ต้องหนักแน่นทำเป็นไม่สนใจ จะร้องไห้ก็ร้อง ถ้าดิ้นเมื่อไหร่ก็เดินหนีไป ถ้าพ่อแม่สามารถหนักแน่นแบบนี้ได้ทุกครั้ง ต่อไปลูกก็จะเรียนรู้เองว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ เขาจะเลิกร้องไปเอง เวลาเด็กเล่นใหญ่ก็เหมือนดารา ถ้าแสดงไปแล้ว แต่ไม่มีคนดู เรตติ้งตกก็เลิกแสดงค่ะ”
4. ไม่ต้องเสียเวลาพูดเยอะ
พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเข้าใจและรับฟังเหตุผล แต่ธรรมชาติของเด็กจะไม่ฟังอยู่แล้ว ถึงเขาจะรู้เหตุผลแต่ก็ทำเป็นไม่สนใจ “ยิ่งถ้าพ่อแม่พูดเยอะ มัวอธิบายเหตุผลต่างๆ ลูกก็จะรู้สึกว่าถ้าเขาพยายามให้มากขึ้น ร้องให้มากขึ้นเขาอาจจะได้
“อย่าลืมว่าเป้าหมายของเราคือต้องการให้เขารู้กติกา ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างพ่อแม่ลูก ถ้าเขาอยากซื้อของที่ไม่มีอยู่ในข้อตกลงก่อนออกจากบ้านวันนี้ ถึงจะงอแงอยากได้ก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไร แต่ถ้าพ่อแม่ยอมซื้อให้เพื่อยุติปัญหา การกำหนดกติกาหรือข้อตกลงครั้งต่อไปก็จะใช้ไม่ได้ผลสำหรับลูกอีก เพราะพ่อแม่เป็นคนทำลายกติกาเองตั้งแต่แรก”
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids