ลูกชอบสั่ง ลูกชอบกรี๊ด ทั้งที่พ่อแม่ก็พยายามทำทุกอย่างจนกระทั่งคิดไม่ตกว่าจะแก้นิสัยนี้ของลูกเล็กอย่างไรดี ลองมาดูคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กกันค่ะ
Q: ลูกสาววัย 3 ขวบครึ่งที่ดูเป็นเด็กฉลาด พูดเก่ง ดูเหมือนจะทำอะไรได้เร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่กลับมีพฤติกรรมที่น่าหนักใจและคุณแม่เองก็เริ่มจะทนลูกไม่ไหวแล้วค่ะ
เริ่มตั้งแต่ลูกจะร้องกรี๊ดเวลามีเพื่อนมาเล่นที่บ้านแล้วมาจับของเล่นที่เขากำลังเล่นอยู่ หรือไม่ได้เล่นแล้ว จนคุณแม่ไม่กล้าชวนใครมาเล่นที่บ้าน นอกจากนี้ ลูกยังชอบร้องกรี๊ดและอาละวาดอย่างหนักถ้าเขา “สั่ง” ให้คุณแม่ทำอะไรให้ แต่คุณแม่ยังไม่สะดวกทำให้เขาตอนนั้น คุณพ่อเข้ามาช่วยแทนคุณแม่ เขาก็จะทึ้งเสื้อผ้าที่คุณพ่อใส่ให้ ขว้างกล่องนมที่คุณพ่อใส่หลอดให้เขา แต่พอคุณแม่ทำให้ เขาก็จะสงบลงได้ ปัญหาคือตอนนี้คุณแม่มีน้องเล็กอีกคนอายุ 4 เดือนทำให้รู้สึกเหนื่อยที่ต้องดูแลเจ้าตัวเล็ก แล้วเจ้าคนโตยังเรียกร้องจากคุณแม่อีก คุณหมอช่วยด้วยค่ะ
คุณหมอรับรู้ได้ว่าคุณแม่กำลังเหน็ดเหนื่อยและเครียดกับพฤติกรรมที่ท้าทายของลูก การที่ต้องเลี้ยงทั้งลูกน้อยอายุ 4 เดือนไปพร้อมกับลูกอายุ 3 ขวบกว่านับเป็นเรื่องท้าทายมากค่ะ เพราะคุณแม่ต้องเผชิญกับพายุลูกใหญ่ของเด็กช่วงวัย 3 – 4 ปีที่กำลังมีน้อง เพราะลูกเองก็กำลังสับสนและปรับตัวเช่นเดียวกันค่ะ
พฤติกรรมที่ลูกแสดงออกถือเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องตามวัยของเด็ก ซึ่งเป็นไปได้ที่ลูกจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าว แต่ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจและรับมือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เราลองมาแยกแยะตามพฤติกรรมของลูกนะคะ
1. การร้องกรี๊ด
เมื่อเพื่อนมาจับของเล่นที่เขากำลังเล่นอยู่ หรือแม้แต่ไม่ได้เล่น นั่นเป็นเพราะเด็กวัยนี้เริ่มมี Sense of Belonging และอาจยังแบ่งปันไม่เป็น เด็กวัยนี้จะรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และหวงของแม้ว่าเขาจะไม่ได้เล่นของเล่นชิ้นนั้นอยู่ก็ตาม
การแก้ปัญหา
แม้ว่าลูกจะร้องกรี๊ดอย่างนี้ และแม้ว่าเวลาที่เพื่อนมาแล้วดูเหมือนจะต่างคนต่างเล่น แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ต้องการเล่นกับใคร คุณแม่อาจแก้ปัญหาด้วยการให้เพื่อนนำของเล่นของเขาติดไม้ติดมือมาด้วย และตกลงกติกาการเล่นกับลูกและเพื่อนก่อนเล่นด้วยกัน เช่น ทุกคนมีสิทธิ์เล่นของเล่นทุกชิ้น แต่หากมีใครกำลังเล่นอยู่ ต้องขอเพื่อนและรอให้เพื่อนเล่นเสร็จก่อน
ที่สำคัญต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยตลอดเวลาที่ลูกเล่นกับเพื่อน เพื่อฝึกทักษะสังคมให้เขาและเพื่อน (การแบ่งปัน สลับกันเล่นของเล่น) ตั้งกติกาว่าใครเล่นก่อนจะได้เล่นต่อ แต่ถ้าใครอยากเล่นก็ต้องรอจนกว่าอีกคนหยุดเล่น โดยผู้ใหญ่จำกัดเวลาให้ เช่น หนูจะเล่นต่ออีก 1 หรือ 2 นาทีแล้วจึงจะแบ่งเพื่อน (เด็กที่ฝึกแบบนี้แรกๆ จะไม่ยอมแบ่ง และไม่ยอมเลือก ซึ่งคุณหมอใช้วิธีเลือกให้และเมื่อหมดเวลาก็อาจต้องฝืนใจแงะเอาของเล่นออกจากมือเขา)