ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พ่อแม่อ่านด่วน!! อาจารย์ปนัดดา ธนเศรษฐกร แนะวิธีสร้างวินัยเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง แบบได้ผล! ต้องทำยังไง ตามมาดูกันเลย
ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เสี่ยงโตไปก้าวร้าว
การควบคุมอารมณ์ เป็นทักษะที่ต้องฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็ก หากปล่อยไว้ ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้จะกลายเป็นคนที่ทำอะไร “ตามอารมณ์” ก้าวร้าว โวยวาย หรือเก็บกดอย่างถาวรได้
“ทำไมอยากได้อะไรก็ต้องร้องไห้ ขัดใจทีไรเป็นต้องโวยวายทุกที บอกให้พูดดีๆ ก็เอาแต่ร้องกรี๊ด โวยวาย!” คุณพ่อคุณแม่เคยมีคำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวบ้างไหมคะ? ในเวลาที่ลูกอยากได้อะไรหรือไม่ได้ดั่งใจ ทำไมเด็กๆ ถึงจะต้องแสดงเสียใหญ่ มีสีหน้า ท่าทางที่เว่อร์วังซะขนาดนั้น
สาเหตุก็เพราะว่ามันเป็น “Feeling” ของลูกค่ะ! ซึ่งก็คือ ความรู้สึกไม่พึงพอใจ ที่สมองส่วนอารมณ์ของลูกมีระบบการทำงานที่สามารถตรวจจับได้อย่างว่องไว ประมวลผลได้รวดเร็วและสั่งการเป็นพฤติกรรมตอบสนองได้อย่างฉับพลัน (Limbic System) โดยสมองส่วนอารมณ์นี้จะเจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่แรกคลอด และมีพัฒนาการเต็มที่ตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกแบเบาะ หน้าที่หลัก คือ การเรียนรู้และจดจำ เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัว และมีชีวิตอยู่รอดได้ จึงกล่าวได้ว่า ลูกต้องอาศัยสมองส่วนนี้ตั้งแต่เกิด เพื่อปรับพฤติกรรมตนเองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ลูกของเราจึงรู้จักประจบเมื่ออยากได้ของ ยอมทำตามได้เมื่อกลัว ต่อรองเก่งเมื่อถูกขัดใจ และยียวนกวนอารมณ์เป็นเมื่อไม่พอใจ
- หมอแนะ! ลูกทำผิดในที่สาธารณะ ควร ทำโทษลูก ทันทีหรือทีหลังได้?
- เหตุผลที่เด็กพูดเก่งประสบความสำเร็จมากกว่า แม่จ๋าอย่าเพิ่งเบื่อหนูพูดเลย!
- พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก อย่าหลอกเด็ก โตขึ้นลูกจะกลายเป็น เด็กเลี้ยงแกะ
และเหนือสิ่งอื่นใดสมองส่วนอารมณ์ของลูกจะมีระดับความต้องการมากขึ้น หลากหลายขึ้น และสลับซับซ้อนขึ้นตามอายุของเขาซึ่งก็หมายความว่า เมื่อลูกโตขึ้น ทั้งคุณพ่อคุณแม่และทั้งตัวลูกเอง จะต้องเตรียมรับมือกับอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ เช่น สามารถจัดการกับความรู้สึก โกรธ กลัว และเสียใจมากในเวลาเดียวกันได้ ไม่เช่นนั้นแล้วสมองส่วนอารมณ์ก็จะสั่งการให้ระเบิดความอัดอั้นตันใจนั้นออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทันที ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงแรกเกิดถึง 6 ขวบ ก็จะกลายเป็นนิสัยก้าวร้าวถาวรหรือเก็บกดถาวรได้
วิธีการช่วยฝึกลูกเล็กให้ควบคุมอารมณ์ และแสดงออกอย่างเหมาะสม
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ลูกแผดเสียงร้องไห้ ก้าวร้าว โวยวาย ต่อต้าน ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของเมื่อรู้สึกไม่พอใจ แสดงว่าลูกกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ว่า ให้ช่วยควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของลูกที!
เพราะการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กๆ เนื่องจากเป็นความสามารถที่ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการสอนและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกที่นำมาแนะนำ มีผลวิจัยรับรองในประเทศไทยแล้วว่า หากทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ จะสามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกให้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ตั้งแต่วัยแบเบาะจนโต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขั้นตอนที่ 1 แสดงความเข้าใจ
คือการแสดงความเห็นใจลูก และแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกและความต้องการของเขานั้นมีความสำคัญด้วยการบอก “ชื่อ” อารมณ์ หรือความรู้สึกของลูก รวมถึง “พฤติกรรม” ที่ลูกแสดงออกมา เช่น
“แม่เข้าใจว่าหนูรู้สึกง่วงนอน หนูเลยหงุดหงิดง่าย พอคุณยายให้หนูสวัสดี หนูจึงไม่ทำ และร้องไห้โยเย”
“พ่อรู้ว่ามันยากที่จะเลิกเล่นตอนที่หนูกำลังสนุก หนูยังอยากเล่นต่อ พอพ่อให้หนูไปอาบน้ำ หนูเลยร้องกรี๊ดและปาของเล่นใส่พ่อ”
- เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ 5 วิธีง่ายๆ ทำแบบนี้ลูกก็เชื่อฟังได้
- หมอเตือน! ทัศนคติของพ่อแม่ ในการเลี้ยงลูกที่ควรระวัง
- คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!
ขั้นตอนที่ 2 ให้ลูกตัดสินใจเมื่อพร้อม
คือ การสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับลูก โดยการบอกลูกว่า พฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมา ทำให้เข้าใจว่าตอนนี้เขายังไม่พร้อม และพร้อมเมื่อใด ให้เขาแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น
“แม่เข้าใจว่าหนูยังไม่พร้อม คุณยายรอได้ หนูพร้อมเมื่อใด หนูเดินไปสวัสดีคุณยายนะคะ”
“พ่อรู้หนูยังไม่พร้อม พ่อรอได้ หนูพร้อมเมื่อใด หนูเก็บของเล่น ขอโทษพ่อ แล้วไปอาบน้ำกับพ่อนะลูก”
ขั้นตอนที่ 3 แสดงความชื่นชม พอใจ
คือ การชมเชย หรือ ขอบคุณลูก เมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ได้ และแสดงให้เห็นว่าพร้อม โดยการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น
“ขอบคุณมากที่หนูแสดงให้แม่เห็นว่าหนูพร้อม หนูเก่งมาก! ที่หนูสามารถควบคุมอารมณ์ของหนู และสวัสดีคุณยายได้สำเร็จ”
“พ่อดีใจมากที่หนูแสดงให้เห็นว่าหนูพร้อมด้วยการขอโทษพ่อและเก็บของเล่น เยี่ยมมาก! ลูกพ่อควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว”
หาก ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ การใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกตามขั้นตอนนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยความรู้สึก (Learning by Feeling) กล่าวคือ ลูกจะได้เรียนรู้ชื่ออารมณ์ความรู้สึกไม่พึงพอใจและชื่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่แสดงออกมาตามความรู้สึกนั้น การแสดงความเข้าใจจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความรู้สึกคับข้องภายในจิตใจ และทำให้เกิดความตระหนักในอารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งคำศัพท์ของอารมณ์ความรู้สึก และความรู้สึกตอนที่จัดการกับอารมณ์ตัวเองนั้นจะถูกเก็บเป็นประสบการณ์ เมื่อเราสอนและให้โอกาสลูกได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ที่สะสมไว้ก็จะกลายเป็นทักษะ ทำให้เขาสามารถคิด ตัดสินใจ และควบคุมอารมณ์ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมมากขึ้นจนติดเป็นนิสัยนั่นเอง
ว่าแต่ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่พร้อมใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 3 ขั้นตอนนี้
รับมือกับพฤติกรรมของ ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือ ที่เรียกว่า “มันเป็น Feeling” กันแล้วหรือยังคะ?
บทความโดย : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลอ้างอิงจาก : Thanasetkorn, P.**, Chumchua, V. Suttho, J., & Chutabhakdikul, N. (2015). The preliminary research study on the impact of the 101s: A guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. ASIA-PACIFIC Journal of Research in Early Childhood Education, 9(1), pp. 65-89.
Jutamard Suttho*, Vasunun Chumchua, Nuanchan Jutapakdeekul, Panadda Thanasetkorn**. The impact of the 101s: A Guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. The 2ndASEAN Plus Three Graduate Research Congress (AGRC). 2014;255
อ่านต่อบทความอื่นๆ น่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓
10 เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูก ก้าวร้าว พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ
ลูก 3 ขวบ เอาแต่ใจ ดื้อรั้น ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ แม่ต้องรับมือยังไง?
สอนลูกให้รู้จักความแตกต่าง หนูไม่ต้องเหมือนใคร เป็นตัวเองก็ดีมากพอแล้ว
วิธีบอกรักลูก ฉบับง่าย! แม้ไม่มีคำว่า “รัก” แต่ลูกรับรู้ได้!!