เด็กกับการเล่นเป็นของคู่กัน บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราทั้งเหนื่อยทั้งเวียนหัวกับการดูแลเด็กๆ จนเผลอห้ามไม่ให้เล่น แต่รู้ไหมว่า การเล่นนั้นส่งผลดีกับสมองอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ เมื่อเด็กๆ เล่น สมองจะต้องสั่งการให้เด็กเคลื่อนไหวแบบต่างๆ จึงเท่ากับเด็กๆ ได้คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และเรียนรู้การตอบสนอง การเคารพกฎกติกา การอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่น ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า ทักษะทางสังคม ไปในตัวด้วย แถมยังได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แล้วที่ว่าให้ “ออกมาเล่น” คืออะไรกันนะ?
“ออกมาเล่น” (Active Play) คือ กิจกรรมการเล่นใดๆ ที่เด็กเป็นผู้ร่วมเล่นด้วยตนเอง ทำให้เด็กได้รับความสนุกสนาน เป็นการเล่นที่ไม่มีการกำหนดรูปแบบกติกาที่เป็นทางการ (Unorganized/Unstructured) และอยู่นอกเหนือชั่วโมงพลศึกษา ทั้งยังหมายถึงการละเล่นพื้นบ้าน อาจฟังดูเป็นนิยามใหม่ ทว่าที่จริงเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของเด็กอยู่แล้วที่ชอบเล่น
การออกมาเล่น เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย (Physical Activities หรือ PA) อันหมายถึง การเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้างและทำให้มีการใช้พลังงานของร่างกาย สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ
ระดับเบา
คือระดับที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมาก เช่น การยืน การนั่ง
ระดับปานกลาง
คือการเคลื่อนไหวออกแรงที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดียวกับการเดินเร็ว ขี่จักรยาน การทำงานบ้าน ชีพจรเต้น 120-150 ครั้ง ระหว่างที่เล่นยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ และมีเหงื่อซึมๆ
ระดับหนัก
คือการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการทำซ้ำ และต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่ง การเดินขึ้นบันได การออกกำลัง มีระดับชีพจร 150 ครั้งขึ้นไป จนทำให้หอบเหนื่อย และพูดเป็นประโยคไม่ได้
การออกมาเล่น Active Play ที่ถือว่าได้ประโยชน์สูงและส่งผลดีต่อสุขภาพ คือการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลาง-หนัก
แล้วทำไมต้องชวนเด็กๆ ออกมาเล่น Active Play ด้วยล่ะ? (อ่านต่อ คลิก)
ให้เด็กๆ ออกมาเล่นกันนะคะ! ฮึบๆ! เรามีคลิปโมชั่นกราฟิกน่ารักๆ อธิบายคอนเซ็ปต์การ “ออกมาเล่น” มาฝากด้วยค่ะ ^^
ข้อมูลจาก แผ่นพับ “มาเล่นกันเถอะ” ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kidactiveplay.com | Facebook Social Marketing Thaihealth
ภาพ: Shutterstock