คุณแม่ท่านหนึ่งมาเล่าเรื่องของลูกสาวให้ฟัง
ลูกสาวตอนนี้อยู่อนุบาลสอง ครอบครัวนี้ไปอยู่ต่างประเทศมา 1 ปีเพราะคุณพ่อต้องไปเรียนหนังสือ น้องเลยได้เรียนอนุบาลที่โน่นด้วยก่อนย้ายกลับมาเรียนต่อที่เมืองไทย โรงเรียนอนุบาลที่น้องเรียนตอนนี้อยู่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานคร มีชื่อเสียงในหมู่ชนชั้นกลาง
วันหนึ่งคุณแม่ไปรับลูก เจอลูกสาวยืนรอซื้อขนมอยู่ที่หน้าร้านค้าในโรงเรียน ปกติคุณแม่ให้เงินน้องไปโรงเรียนวันละ 10 บาทเพื่อให้รู้จักการใช้เงิน
ที่แผงขนมมีเด็กมายืนมุงกันเต็มหน้าร้าน ใครอยากได้อะไรก็บอกไป แล้วพี่คนขายก็หยิบของมาให้ ใครเสียงดังหน่อยก็ได้ของก่อน เด็กที่ตัวเล็กจะโดนเบียดกระเด็นไปไม่ค่อยถึงแถวหน้า ซึ่งรวมถึงลูกสาวของคุณแม่ด้วย
น้องยืนรออยู่นานจนคนอื่นได้ของหมดแล้วตัวเองถึงจะซื้อของได้
การจ่ายเงินให้พี่คนขายเด็กบางคนก็ยื่นกระเป๋าเงินให้แล้วคนขายก็ทอนใส่กระเป๋ามาเลย เด็กบางคนยื่นกระเป๋าเงินให้แล้วก็เดินหนีไปเลยประมาณว่าได้ขนมก็ไม่สนใจอย่างอื่นแล้ว และส่วนใหญ่ที่รับเงินทอนมาแล้วก็ไม่มีใครนับว่ากี่บาท
เรื่องน่าคิดประเด็นแรกคือสำหรับเด็กอนุบาลเราควรปล่อยให้ถือเงินซื้อของเองหรือยัง?
ข้อดีคือการที่เด็กได้เรียนรู้เรื่องการใช้เงินและการดูแลทรัพย์สินส่วนตัว แต่โดยระดับพัฒนาการแล้วเป็นเรื่องยากที่เด็กจะเข้าใจกระบวนการซื้อขายได้ทั้งหมดโดยไม่มีผู้ใหญ่ช่วยอธิบาย เพราะถึงวัยนี้จะนับเลขได้แต่ไอ้ที่นับไปหมายถึงจำนวนเท่าไรเด็กอาจจะไม่รู้เรื่องก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องบวก-ลบเลขซึ่งเป็นพื้นฐานของเรื่องซื้อขายและการทอนเงิน
ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือการยืนมุงซื้อของของเด็กๆ
ลูกสาวของคุณแม่มาถามด้วยความสงสัยในภายหลังว่า “ทำไมเขาไม่เข้าแถวกันล่ะคะแม่?” ซึ่งเป็นความสงสัยอย่างบริสุทธิ์ใจที่สุด เพราะที่ประเทศที่หนูเพิ่งไปอยู่มาหนึ่งปีเขาเข้าแถวกันตลอด
คุณแม่ฟังคำถามแล้วก็ยังนึกคำตอบอื่นไม่ได้นอกจาก “เมืองไทยมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะลูก”
โรงเรียนนี้มีชื่อเสียงว่าสอนดี เด็กเขียนอ่านเป็นเร็ว ไปสอบเข้าโรงเรียนประถมดังๆ ได้มากมาย แต่น่าเสียดายเหลือเกินว่าเรื่องที่เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนั้นไม่ได้สอนให้เห็นตัวอย่างจริง
ถ้าจะมีครูมายืนอยู่แถวนั้นสักหน่อย คอยบอกให้เด็กต่อแถวซื้อของให้เป็นระเบียบ มาก่อนซื้อก่อน มาหลังซื้อหลัง
ที่หัวแถวคุณครูช่วยดูอีกหน่อยว่าหนูจะซื้อของราคาเท่าไร สตางค์หนูมีพอไหน และถ้าให้ไปเท่านี้หนูควรจะได้เงินทอนเท่าไร หัดนับเงินกันให้เห็นๆ ไปเลย
ถ้าเชื่อว่า “การเรียนรู้” ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น เรื่องนี้ยิ่งต้องทำ
การปล่อยให้เด็กไปเผชิญโชคชะตามุงซื้อของกันเองแบบนี้จึงถือว่าน่าเสียดายโอกาสในการสั่งสอนอบรมเด็กเป็นอย่างยิ่ง ซ้ำร้ายเหมือนเรากำลังจะสอนเด็กทางอ้อมว่าถ้าอยากอยู่รอดต้อง “ปากกัดตีนถีบ” หรือ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”
ในสังคมที่เราอิดหนาระอาใจกับพฤติกรรม “มนุษย์ป้า” ที่ถือคติว่าฉันต้องได้อะไรก่อนชาวบ้านเขาเสมอโดยไม่เคารพสิทธิของใคร
ก็น่าเสียใจ ว่าเรากำลังผลิตมนุษย์ป้ารุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นที่กำลังจะหมดอายุหรือเปล่า?
บทความโดย : ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณพ่อน้องข้าวหอมและน้องน้ำมนต์
ภาพ : Shutterstock