“ไม่รักพ่อแล้ว!!!” หรือ “แม่ไม่ให้ แสดงว่าแม่ไม่รักหนู” เป็นคำพูดยอดฮิตของเด็กๆ ทุกยุคทุกสมัย!!! เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ยินได้ฟังว่าลูก ไม่รักพ่อแม่ จะรู้สึกจี๊ดๆ เหมือนมีอะไรมาแทงใจ บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะรีบตามใจลูกทันที เพราะกลัวเหลือเกินว่าลูกจะหาว่า พ่อแม่ไม่รัก เขาจริงๆ แต่บางทีก็เหลืออดตะโกนกลับไปบ้างว่า “ไม่รัก ก็ไม่รัก แม่ก็ไม่รักหนูแล้วเหมือนกัน!!!”
ลูกบอก ไม่รักพ่อแม่ หมายความอย่างนั้นจริงหรือ?
คำถามมากมายผุดตามขึ้นมาในใจ เมื่อลูกมาไม้นี้ แล้วเราจะไปไม้ไหน?? จะต้องตามใจเจ้าวายร้ายตัวเล็ก หรือเราจะต้องทำเป็นเก๊ก บอกว่าไม่รักกลับไป??? ก่อนอื่นขอให้ตั้งสติแล้วปล่อยคำพูดนี้ให้ลอยผ่านหูไปค่ะเพราะเวลาที่เด็กๆ บอก “ไม่รักแล้ว” เขาไม่ได้หมายความตามที่เขาพูดจริงๆ แต่มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
-
ยิ่งโตอารมณ์ยิ่งซับซ้อนการระบายอารมณ์จึงง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์
ตามพัฒนาการแล้วเด็กเล็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป จะมีอารมณ์ความรู้สึกสลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น ทั้งโกรธ ทั้งเจ็บ ทั้งสนุกเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่ทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของตนเอง อย่างทักษะการใช้ภาษา และทักษะการใช้สมองส่วนเหตุผล เช่น การยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) ความคิดยืดหยุ่น (Shifting) ความจำขณะทำงาน (Working Memory) นั้น กำลังพัฒนาอยู่ ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และฝึกฝน ดังนั้นสำหรับเด็กๆ แล้วการระบายอารมณ์จึงง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์
-
ประสบการณ์ยังน้อย การคิดเชื่อมโยงเหตุผลจึงเป็นไปตามประสบการณ์
เวลาที่ลูกรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ที่ถูกคุณพ่อคุณแม่ขัดใจเขาจะเชื่อมโยงความรู้สึกของเขา ไปได้ไม่ไกลไปกว่า ความรู้สึกที่เขารู้จักและสัมผัสได้จากประสบการณ์ตรง นั่นก็คือ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ความพึงพอใจ หรือไม่พึงพอใจ ซึ่งสำหรับเด็กแล้วจะแปลความหมายเป็นภาพรวมได้ว่า “รัก” หรือ “ไม่รัก” ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ทำให้หนูไม่พอใจ ก็ตีความได้ว่า “พ่อแม่ไม่รัก” และ หนูกำลังไม่พอใจพ่อแม่ ก็แปลได้ว่า “หนูไม่รักพ่อแม่”นั่นเอง
-
อยู่ในระหว่างการเรียนรู้ และทดสอบพฤติกรรม
คุณพ่อคุณแม่สังเกตดูได้ว่า เมื่อลูกถูกขัดใจ เขาจะพยายามหาวิธีการมาร้อยแปดเพื่อต่อรองให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ ทั้งพูดอ้อน ตามตื๊อ งอนและหงุดหงิด หากว่ายังไม่ได้ผล เขาก็จะหาวิธีการอื่นๆ ต่อไป และแน่นอนว่า การบอก “ไม่รักแล้ว” หรือ “พ่อแม่ไม่รักหนู” ก็เป็นเพียงอีกวิธีการหนึ่งที่ลูกจะนำมาทดสอบใช้ต่อรองกับเราก็เท่านั้นเองค่ะ
(บทความแนะนำ [สร้างวินัยเชิงบวก] ขัดใจทำไม ตามใจดีกว่า!!)
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจหรือตอบกลับไปบ้างว่า “ไม่รักแล้ว” ก็เป็นการคอนเฟิร์มว่า “ถ้าพ่อแม่รักหนู ก็ต้องตามใจหนู” และ “หนูรักพ่อแม่ เมื่อทำให้หนูรู้สึกพึงพอใจ” เมื่อพฤติกรรมนี้ยังคงอยู่ต่อไป ลูกก็จะกลายเป็นคนเอาแต่ใจและไม่ยอมรับฟังเหตุผลผู้อื่น และที่สำคัญคือหากลูกผูกความต้องการของตัวเองไว้กับเงื่อนไขความรักของคุณพ่อคุณแม่ ลองคิดดูว่าเราจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกไปในทางที่ดีได้อย่างไร เพราะกว่าลูกจะโต เราจำเป็นต้องขัดใจลูกอีกกี่ครั้ง และอีกกี่ครั้งที่ลูกจะต้องสงสัยว่า พ่อแม่รักเขาหรือไม่??
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่