ศักยภาพในการเรียนรู้ และพัฒนาของเด็กแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น กรรมพันธุ์ ความตั้งใจ ความขยัน และอีกหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้น “เวลา” เป็นตัวกำหนด แม่น้องเล็กจึงมีเคล็ดลับ วิธีสร้างเวลาคุณภาพ เพื่อให้ลูกน้อยเรียนเก่งขึ้น
วิธีสร้างเวลาคุณภาพ เพื่อให้ผลการเรียนลูกดีขึ้น
มีเนื้อหาหนึ่งถูกเขียนโดย ดร. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แนะนำแนวคิดการสร้างเวลาคุณภาพ เพื่อผลการเรียนของลูกที่ดีขึ้น ซึ่งเจ้าของเพจก็ใจดีให้แม่น้องเล็กได้นำมาแบ่งปันให้คุณพ่อ คุณแม่ได้อ่านกัน ดังนี้
เหตุจูงใจสำคัญที่ผมอยากจะเขียนถึงเรื่อง “เวลาคุณภาพ” นั้นเกิดขึ้นจากการที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งมาปรึกษากับผมว่า แม้ว่าปัจจุบันผลการเรียนของลูกก็ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่เหมือนว่าจะไม่สามารถดีขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว และตอนนี้เวลาเรียนพิเศษก็เต็มหมดแล้วด้วย คุณแม่เลยไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรดี ผมมาสะดุดกับคำว่า “เวลาเรียนพิเศษเต็มหมดแล้ว!!!” ผมจึงสอบถามไปว่าคุณแม่พาลูกไปเรียนพิเศษวันไหนบ้าง ปรากฎว่าเด็กคนนี้เรียนพิเศษหลังเลิกเรียนจนถึง 19.30 น. ทุกวัน กว่าจะกลับถึงบ้านก็สองทุ่มเศษ กว่าได้นอนก็เกือบสี่ทุ่ม แถมวันเสาร์อาทิตย์ ก็ยังมีเรียนพิเศษทั้งวันอีกด้วยนะครับ เวลาเต็มจริงๆ ด้วยครับ!!!
ผมจึงเริ่มเล่าแนวคิดของผมให้คุณแม่ฟังว่า จริงๆ แล้วผมไม่ได้คัดค้านการเรียนพิเศษ หรือการเรียนเสริมเลยนะครับ แต่เราควรให้ลูกเรียนในวิชาที่เขาไม่มีพื้นฐานที่พอจะฝึกฝนด้วยตนเองจริงๆ หรือต้องการเรียนเสริมในสิ่งที่เขาชอบ และมีศักยภาพอยู่แล้ว เพื่อให้เขามีความสามารถในด้านๆ นั้นเพิ่มสูงขึ้น แต่การเรียนพิเศษในทุกๆ วิชา โดยที่เด็กไม่มีเวลาฝึกฝนทำแบบฝึกหัดด้วยตนเอง ซึ่งรวมทั้งไม่มีเวลาที่จะเล่น บางรายไม่มีเวลาจนต้องเอาเปรียบเพื่อนในการทำงานกลุ่ม หรืองานที่ต้องส่งคุณครู คุณพ่อคุณแม่ต้องถึงกับทำให้ ถึงแม้ว่าการเรียนพิเศษมากๆ จะส่งผลดีต่อผลการเรียนในระยะต้น แต่ในระยะยาวเด็กจะไม่ได้รับการพัฒนาอุปนิสัย ทักษะที่จำเป็นต่างๆ (เช่น การบริหารจัดการเวลา การจัดลำดับความสำคัญ การมุ่งมั่น และมีวินัยต่อเป้าหมายที่ตนเองกำหนดขึ้น การทำงานเป็นทีมที่ดี ฯลฯ) และ Growth Mindset (ทัศนคติทีว่า หากว่าเรามีความพยายาม และมีวินัยในการฝึกฝน เราจะสามารถเก่งขึ้นเองได้) ได้เลย
ผมแนะนำให้คุณแม่ท่านนั้น ลองไปนับโจทย์คณิตศาสตร์ที่ลูกได้ฝึกทำระหว่างการเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน 2 ชั่วโมง ว่าทำกี่ข้อ ซึ่งปรากฏว่าได้ 10 ข้อ เป็นข้อที่ลูกทำเองประมาณ 7 ข้อ อีก 3 ข้อ ลูกไม่ได้ทำเอง แต่ลอกเฉลยจากบนกระดานเท่านั้นเอง นั่นหมายความว่าในเวลา 2 ชั่วโมง ไม่ใช่สิ! ถ้านับเวลาเดินทางไป-กลับ อีกสักชั่วโมงครึ่ง นั่นเท่ากับว่าในเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 210 นาที ลูกได้ทำโจทย์ไปแค่ 7 – 10 ข้อเท่านั้น เท่ากับว่าข้อหนึ่งลูกต้องเสียเวลาไปถึง 21 – 30 นาที เลยทีเดียว นี่ล่ะครับ ที่ผมเรียกว่า “การใช้เวลาที่ไม่มีคุณภาพ”
เปรียบเทียบกับเด็กอีกคนหนึ่งที่ผมรู้จัก คุณพ่อของเขา กำหนดกติการ่วมกันกับลูกว่า ให้ทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ทุกวันวันละ 10 ข้อ หลังจากกลับมาจากโรงเรียน พอทำเสร็จแล้ว ลูกจะไปเล่นอะไรตามใจก็ได้ ซึ่งการนั่งทำโจทย์เลข 10 ข้อ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แรกๆ ตอนเริ่มทำใหม่ๆ คุณพ่อก็นั่งเล่นเป็นเพื่อนลูกทำแบบฝึกหัด คอยตอบคำถามบ้าง แต่หลังๆ พอการฝึกทำแบบฝึกหัดเป็นนิสัยไปแล้ว พอถึงเวลาลูกก็จะหยิบเอาแบบฝึกหัดมานั่งทำเอง คุณพ่อก็เพียงแต่คอยซื้อแบบฝึกหัดมาวางเอาไว้ และให้คำแนะนำเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่า เด็กคนที่มีวินัยในการทำแบบฝึกหัดเอง นั้นมีผลการเรียนที่ดีเช่นกัน และมีความร่าเริงมากกว่าด้วยครับ ถึงจะมีเรียนพิเศษบ้าง ก็เพียงวันเสาร์ครึ่งวันเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาระอะไรที่เหนื่อยเกินไปเลยครับ นี่ล่ะครับผมเรียกว่า “การบริหารเวลาที่มีคุณภาพ”
เด็กที่มีตารางเวลาอัดแน่นไปหมด เขาจะไม่มีทางเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะการบริหารเวลาได้เลย เพราะในแต่ละวัน เขาก็ต้องปล่อยให้ตัวเองเดินตามตารางที่เขาถูกกำหนดเอาไว้แล้วเท่านั้น เวลาเล่นก็อาจจะน้อย เวลาพักผ่อนก็อาจจะจำกัด บางครั้งถ้าคุณครูมอบหมายงานกลุ่มให้ทำกับเพื่อนๆ ก็ต้องเอาเปรียบเพื่อนโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บ่อยครั้งเข้า ก็บ่มเพาะกลายเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี งานที่คุณครูมอบหมายให้ทำส่ง คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยทำให้ นานๆ เข้า อุปนิสัยการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ก็จะไม่ได้รับการพัฒนา
นอกจากนี้ การที่เด็กมีคิวแน่นไปหมด จะทำให้เขาไม่สามารถที่จะมีเวลาที่จะมาทบทวน และกำหนดเป้าหมายให้กับตัวเอง ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะในการจัดลำดับความสำคัญ และวางแผนการใช้เวลาของตนเองในแต่ละวัน แล้วทักษะการบริหารเวลามันจะเกิดได้อย่างไรล่ะครับ
มีงานวิจัยยืนยันนะครับว่า ทักษะการบริหารเวลา นั้นส่งผลทำให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น (http://bit.ly/2MUibbG) Dr. Karia Hylton อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนชาวจาไมก้า ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า (http://bit.ly/2MNDnAd) การที่จะทำให้เด็กมีผลการเรียนที่ดี นั้นจะต้องทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนด้วย และการรู้จักจัดสรรเวลา เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ความสุขในการเรียน นั้นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับผลการเรียนที่ดี โดย Dr. Daria Hylton ได้ให้ข้อแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูก เพื่อสอนให้เขารู้จักที่จะบริหารจัดการเวลา ดังต่อไปนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่