เรียนออนไลน์ก็ "สอนลูกซื่อสัตย์ ไม่โกง” ได้ - Amarin Baby & Kids
สอนลูกซื่อสัตย์

เรียนออนไลน์ก็ “สอนลูกซื่อสัตย์ ไม่โกง” ได้

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูกซื่อสัตย์
สอนลูกซื่อสัตย์

เมื่อเด็กเล็กๆ ต้องนั่งเรียนออนไลน์ที่บ้าน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ลูกเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจเท่าเรียนที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยอธิบายในสิ่งที่ลูกไม่เข้าใจ เมื่อถึงเวลาลูกต้องสอบออนไลน์ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ช่วยลูกเลย ลูกเกิดคำถามว่า พ่อแม่ของเพื่อนเค้าช่วยลูกทำข้อสอบ เลยได้คะแนนเยอะกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ช่วยลูกจึงได้คะแนนน้อยกว่า คุณพ่อคุณแม่จะอธิบายลูกอย่างไร เมื่อต้องการ สอนลูกซื่อสัตย์ ไม่โกงข้อสอบ

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ให้คำแนะนำ ไว้ดังนี้

โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ เล่าว่า…

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่มีลูกเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ อาจเคยประสบเรื่องราวแบบนี้แล้วไม่รู้จะรับมือกันอย่างไรใช่ไหมครับ “ลูกสอบออนไลน์ บ้างก็มีแม่ช่วยลูกทำข้อสอบ บ้างก็ลอกคำตอบจากเพื่อน” เลยได้คะแนนดีกว่าเด็กที่ทำข้อสอบเอง เมื่อลูกถามคุณพ่อคุณแม่ ก็เลยมืดแปดด้านไม่รู้จะไปต่ออย่างไรดี จะว่าไปแล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังจำเรื่องของ Power BQ ได้  ก็จะเห็นได้ว่าความฉลาดทางด้านคุณธรรม (MQ) เป็นหนึ่งใน Power BQ ที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคตได้ครับ

เทคนิค สอนลูกซื่อสัตย์ ไม่โกง

วันนี้ผมจะมาเล่าสู่กันฟังนะครับว่า คุณพ่อคุณแม่จะสามารถฝึกให้ลูกมีความฉลาดทางด้านคุณธรรมในสถานการณ์รอบตัวได้อย่างไร

คุณพ่อคุณแม่หลายคงอึ้งกิมกี่ไปเหมือนกันนะครับเมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบข้างต้นหรือเมื่อลูกมาถามว่า คนอื่นเขาทำแบบนี้ ทำไมเราไม่ทำแบบคนอื่นบ้าง จะได้สอบได้คะแนนดีเหมือนคนอื่น ไปยังไงดีล่ะทีนี้

1. ตั้งสติ

อันดับแรก ผมแนะนำก่อนเลยนะครับ คุณพ่อคุณแม่ต้อง “ตั้งสติ” ให้ดีก่อน เรียกสติให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วคิดให้ได้อย่างรวดเร็วว่า สิ่งที่ลูกถามเพราะเห็นคนอื่นทำกันนั้นเป็นพฤติกรรมที่ดี หรือเป็นพฤติกรรมที่เราอยากให้ลูกเป็นหรือไม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตอบตัวเองว่า ใช่เลย ใครใครเขาก็ทำกัน ถ้าไม่ทำแบบนั้น ไม่บ้า ก็โง่ แล้ว ก็ไม่ยากเลยครับ ปล่อยให้เหตุการณ์พาไปแล้วลูกก็จะประพฤติแบบนั้นได้ไม่ยาก ทำไปสักพักก็จะเป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโตครับ แต่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าไม่ดีเลย พฤติกรรมแบบนี้ ไม่อยากให้มาอยู่กับลูกของเรา ลูกของเราจะต้องมีความซื่อสัตย์ไม่คดโกง นอกจากลูกจะเป็นส่วนสำคัญในการจรรโลงโลกให้น่าอยู่มากขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังได้สร้างบุญบารมีให้กับตัวเองที่ได้ทำประโยชน์อันงดงามให้กับโลกผ่านลูกของเรานี่ล่ะครับ ตามอ่านกันต่อไปนะครับว่า จะทำอย่างไรดี 

เมื่อตั้งสติได้ว่าจะเดินไปทางไหนแล้ว ก็ไม่ยากเลยครับ เราเพียงแค่ใช้หลักของการส่งเสริมและปรับพฤติกรรมที่ผมเคยเล่ามาสำหรับพฤติกรรมอื่น เอามาใช้ฝึกฝนต่อยอดกันได้เลยครับ ยิ่งฝึกยิ่งเก่งกันทั้งพ่อแม่และลูกเลยครับ

2. อธิบายเหตุผลตามวัย ค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนเข้าไป

อันดับที่สอง คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอย่างนี้ครับ พูดคุยกับลูกให้เขารับรู้และเข้าใจว่า พฤติกรรมไหนเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ต้องการ คุณครูต้องการ และสังคมต้องการให้ลูกมี ใช้เหตุผลให้ง่ายสั้นที่สุดที่เหมาะสมกับวัยนะครับ พูดกันคุยกันประเมินวิธีคิดของเขา ฝึกฝนทักษะในการสื่อสาร ของเขาไปพร้อมกันด้วยเลยครับ  ส่วนคุณพ่อคุณแม่เองก็พูดประมาณนี้ เช่น

  • วัยอนุบาลก็พูดง่ายๆ แค่การที่พ่อแม่ช่วยลูกทำข้อสอบ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกทำอย่างนั้น
  • ถ้าเขาเข้าใจมากหน่อยก็อาจพูดเพิ่มเติม  “การที่พ่อแม่ช่วยลูกทำข้อสอบ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกทำอย่างนั้น เพราะพฤติกรรมแบบนี้ เราถือว่า ไม่ซื่อสัตย์”
  • ถ้าเขาเข้าใจอะไรได้อีกมากหน่อยก็เพิ่มเป็น “การที่พ่อแม่ช่วยลูกทำข้อสอบ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกทำอย่างนั้น เพราะพฤติกรรมแบบนี้ เราถือว่า ไม่ซื่อสัตย์ เราเรียกว่า ขี้โกง”
  • ถ้ามากขึ้นไปอีก ก็เพิ่ม “การที่พ่อแม่ช่วยลูกทำข้อสอบ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกทำอย่างนั้น เพราะพฤติกรรมแบบนี้ เราถือว่า ไม่ซื่อสัตย์ เราเรียกว่า ขี้โกง และที่สำคัญลูกก็จะไม่ได้ฝึกที่จะทำข้อสอบด้วยตัวเองด้วย”

พอนึกภาพออกไหมครับเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปเรื่อยๆ ตามความสามารถในการรับรู้ของลูกเรา ไม่พูดเหมือนกันสำหรับเด็กทุกคน ให้มีความแตกต่างกัน ตามความเหมาะสมครับ

ลูกเรียนออนไลน์

3. บอกว่าพ่อแม่ต้องให้ลูกทำแบบไหน

อันดับถัดไปหลังจากเราบอกให้เขาได้รับรู้แล้วว่า พฤติกรรมแบบนี้เราไม่ต้องการ แล้วที่เราต้องการให้เขาประพฤติคืออย่างไร เช่น

  • “แม่อยากให้ลูกทำเองนะคะ”
  • “แม่อยากให้ลูกทำเองนะคะ ลูกจะได้หัดทำ”
  • “แม่อยากให้ลูกทำเองนะคะ ลูกจะได้หัดทำ อีกหน่อยพอลูกเรียนยากขึ้น จะได้ทำเองได้”
  • “แม่อยากให้ลูกทำเองนะคะ ลูกจะได้หัดทำ อีกหน่อยพอลูกเรียนยากขึ้น จะได้ทำเองได้  เป็นการซื่อสัตย์ต่อตนเองและคนอื่น ไม่เป็นคนคดโกงด้วย”

4. โต้ตอบง่ายๆ สั้นๆ ตามความเป็นจริง

เลือกเอานะครับ สั้นยาวตามความสามารถในการรับรู้ของลูกเลยครับ ทีนี้ระหว่างที่เราพูดคุยกับลูก ลูกก็คงจะพูดถึงสิ่งที่เขาเห็น สิ่งที่คนอื่นทำ และสิ่งที่เขาอยากทำ ให้พูดคุยโต้ตอบกับเขาง่ายๆ สั้นๆ ตามความเป็นจริง เน้นว่า ตามความเป็นจริง ไม่พูดอะไร ที่ไม่จริงเพื่อหลอกล่อลูกให้ทำตามใจเรานะครับ เช่น ไม่พูดว่า “ใครลอกข้อสอบเพื่อน ตำรวจจะจับติดคุก”  เพราะความจริง คือ “ใครลอกข้อสอบ ถ้าคุณครูรู้  ครูจะไม่ให้สอบผ่าน ต้องเรียนซ้ำชั้น” เหมือนตัวอย่างข้างต้นนะครับ  พูดสั้นพูดยาว ตามความสามารถในการรับรู้ของลูกเลยครับ

5. หาสาเหตุที่ลูกทำข้อสอบไม่ได้

นอกจากคำพูดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องวิเคราะห์ลูกให้ได้ด้วยนะครับว่า ลูกเราทำข้อสอบที่ระดับเดียวกับเพื่อนได้หรือไม่ได้เพราะเหตุใด เพื่อหาทางช่วยให้ลูกมั่นใจในความสามารถของตนเอง จนสามารถทำข้อสอบได้เองไม่ต้องพึ่งคุณพ่อคุณแม่ หรือลอกเพื่อนครับ ตรงนี้ก็มีความสำคัญนะครับ เพราะลำพังพูดกันเพียงอย่างเดียวแต่ถ้าลูกไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ก็รังแต่จะสร้างความเครียดให้ลูกมากขึ้นจนไม่อยากทำข้อสอบครับ

การจะรับรู้และเข้าใจลูกได้ดีไม่มีอะไรดีไปกว่า การที่เรามีเวลาอยู่ร่วมกันกับลูก ใช้เวลาสังเกต พูดคุย สอบถามครู จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้นทั้งวิธีคิด ความสามารถ ทักษะ เพื่อจะได้รู้ว่าจะส่งเสริมเขาด้านใดมากน้อยเพียงไร  มาถึงตรงนี้ ลูกอาจสงสัยว่า แล้วทำไมเพื่อนถึงทำแบบนั้นได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ย้อนไปตอนต้นที่ผมเล่าไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ ดึงสติกลับมาถามตัวเองว่า เรายอมรับได้หรือไม่กับการที่จะให้ลูกเราประพฤติแบบนั้น ถ้า คำตอบคือไม่ เราก็จะต้องหนักแน่นในแนวทางของเรา พูดคุยกับลูกให้รับรู้บรรทัดฐานของบ้านเรานะครับว่า  “บ้านเราจะไม่ทำแบบนี้” ให้เหตุผลยากง่ายตามความเหมาะสมกับความสามารถในการรับรู้และเข้าใจของเขาครับ

6. ใช้เทคนิคเสริมแรง เมื่อลูกทำดี

เมื่อลูกทำได้ดีเหมาะสมก็ให้เสริมแรงกัน เช่น ชื่นชมลูก ให้รางวัลทางใจกับเขาบ้างตามสมควรแก่เหตุนะครับ บางบ้านอาจใช้เวลาฝึกกันไม่นาน แต่บางบ้านอาจต้องนานหน่อย ยากง่ายไม่เท่ากัน ความอดทนและความตั้งใจของคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกจะสามารถช่วยให้ลูกได้ฝึกฝนและพัฒนา ความฉลาดทางด้านคุณธรรมซึ่งเป็นหนึ่งใน Power BQ ได้ไม่ยากเลยครับ เรียนออนไลน์แบบนี้ ก็ฝึกฝนต่อยอด Power BQ ได้นะครับ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี? หมอแนะ 10 วิธีรับมือเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี

ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็กสั่งจากสมอง! หนูรู้ หนูจำได้

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up