5 วิธีทำให้ลูกฉลาด
- ปล่อยให้ความรักลอยไปทั่วบ้าน การสร้างบรรยากาศของบ้านให้น่าอยู่ คนในบ้านต่างพากันยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกันด้วยความรักและความเข้าใจ รู้จักให้อภัยและมีน้ำใจต่อกัน จะเป็นพื้นฐานให้ลูกเรียนรู้และอยู่ด้วยความรู้สึกอบอุ่น มั่นคงในจิตใจ เมื่อลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่แสดงความรักให้กับลูกทุกครั้งที่มีโอกาส ลูกก็จะเลียนแบบและแสดงความรักนั้นตอบ และก็จะรู้จักพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับกับสิ่งใหม่ ๆ เช่นกัน
- สร้างประชาธิปไตย การอยู่ร่วมกัน การเคารพในสิทธิของกันและกัน การรับฟังความคิดเห็น คือ การมีประชาธิปไตยภายในบ้าน ซึ่งเราสามารถฝึกลูกด้วยการเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ ให้ลูกได้เล่นตามวัย ในแต่ละกิจกรรมต้องให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ฝึกให้ลูกรู้จักคิด รู้จักสิทธิ และความสามารถของตัวเอง แต่ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และข้อตกลงร่วมกัน เป็นต้น
- คำชมสร้างกำลังใจ วิธี การหนึ่งที่ช่วยให้ลูกฉลาดได้คือ การสนับสนุนในด้านกำลังใจ ชมเชยลูกในช่วงที่เหมาะสม ควรชมแต่พอเหมาะ ให้ลูกรู้สึกว่าคำชมนั้นมีคุณค่า ชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อลูกได้รับคำชม ก็จะเกิดกำลังใจในการทำสิ่งนั้นต่อไป
- คำว่า “ไม่รัก” ไม่มีอยู่ในบ้าน อย่าพยายามขู่เด็ก ๆ ด้วยการพูดว่า “ถ้าไม่นอน เดี๋ยวตุ๊กแกมากินตับ” “ดื้อเหรอ เดี๋ยวยักษ์มาจับตัวนะ” “ทำแบบนี้เดี๋ยว คุณแม่/คุณพ่อ ไม่รักนะ” หรือบางครั้ง อาจจะหยอกล้อ เช่น “ไม่รักลูกแล้ว ไปรักคนอื่นดีกว่า” การพูดยั่ว ขู่ หรือลงโทษ โดยใช้คำว่า “ไม่รัก” เพราะคิดว่าเป็นการลงโทษให้ลูกรู้สึกกลัว และไม่กล้าทำอีก หรือจะเป็นการล้อเล่นสนุก ๆ ก็แล้วแต่ เท่ากับเป็นการตัดกำลังใจ และตัดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก เมื่อเขารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่รัก ก็อาจจะมีพฤติกรรมที่แปรปรวน ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเจ้าอารมณ์ เด็กก็จะมีนิสัยเจ้าอารมณ์ตามมาเช่นกัน
- คำห้าม มีให้น้อยที่สุด เด็กวัย 2-6 ปี เป็นช่วงหนึ่งที่พ่อแม่เหนื่อยหน่อยกับพละกำลัง ความอยากรู้อยากเห็นอันมหาศาลของลูก แล้วยังเป็นวัยที่ช่างจินตนาการอีกด้วย สิ่งไหนที่อยากรู้ เด็กก็มักจะอยากลองทำ อยากรู้ผลที่ตามคืออะไร ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้ ก็อาจจะห้ามลูกในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะกลัวว่าอาจจะเกิดอันตรายกับลูก
นอกเหนือจากนี้ ก็ได้มีนักวิชาการกล่าวว่า เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้ โดยการมีประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการเก็บข้อมูล จนมีความเข้าใจ เกิดความชำนาญ และเชื่อมโยงนำมาใช้ได้ ฉะนั้น การห้ามลูกทำนู่นทำนี่ทุกเรื่องก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสการเรียนรู้ที่ดี ที่สุดของลูก นอกจากนี้แล้ว การให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นการส่งเสริมให้เขารู้จักพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ได้เร็ว ก็จะมีความสนใจในเรื่องต่อไปมากขึ้นเช่นกัน คำพูดของพ่อแม่จึงมีผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของลูกได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยละค่ะ
เครดิต: Kapook
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่