สอนเรื่องเวลา กับ เด็กวัยอนุบาล - Amarin Baby & Kids

สอนเรื่องเวลา กับ เด็กวัยอนุบาล

Alternative Textaccount_circle
event

Q. พอลูกเริ่มไปโรงเรียนก็เลยซึ้งกับคำว่า ไม่รู้ร้อนรู้หนาวค่ะ บางวันยิ่งรีบกลับยิ่งช้า เก็บอารมณ์กันไม่ทันทีเดียว คิดว่าต้องสอนเรื่องเวลาไปพร้อมๆ กับกิจวัตรประจำวัน จะได้หรือไม่คะ อยากได้คำแนะนำค่ะ

เป็นไอเดียที่ดี และทำได้แน่นอนค่ะ แม้ว่าลูกวัยนี้ยังไม่เข้าใจเรื่องตัวเลขและจำนวน จึงไม่เข้าใจเรื่องเวลา และมีเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อที่เราจำเป็นต้องสอนเรื่องเวลาให้ลูกๆ ค่ะ อย่างแรกความเป็นไปในแต่ละวันมีเวลาเป็นเครื่องกำกับ เด็กที่ทำอะไรอย่างรู้เวลา แปลว่าเขามีวินัย และข้อสอง การรู้จักเวลาทำให้เขาอดทนและรอคอยเป็นการสอนเรื่องเวลาให้เด็กๆ ก็เหมือนกับการฝึกวินัยเรื่องอื่นคือสอนทีเดียวไม่จบ แต่ค่อยๆ เรียนรู้ไปได้ คุณหมอหรือคนที่ทำงานกับเด็กจึงมักแนะนำการสอนเรื่องเวลาให้ลูกว่า เริ่มได้ตั้งแต่เบบี๋ เช่น พูดคุย บอกกับลูกว่าคุณกำลังทำอะไร ระหว่างที่อยู่กับเขา เช่น “แม่กำลังหยิบเสื้อให้ อุ่นนมให้ แป๊บเดียว เดี๋ยวหม่ำของอร่อยกันนะ ฯลฯ”

พอถึงวัยเตาะแตะจะให้เขาทำอะไร ไม่ทำอะไร ตอนไหน ก็ใช้วิธีบอกให้เขานึกภาพออก เช่น “ลูกจะเล่นได้จนคุณพ่อกลับถึงบ้าน แล้วไปอาบน้ำ แต่งตัวไปกินข้าวที่บ้านคุณปู่กันนะ” “แม่เก็บผ้าพับผ้าเสร็จ ค่อยออกไปสนามเด็กเล่นกัน”

มาถึงวัยอนุบาล ที่แม้จะรู้ความจนเริ่มป่วนพ่อแม่เป็น แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจเรื่องเวลา ยิ่งถ้าไม่ค่อยได้ฝึกมาก่อนหน้านั้น 1 นาทีกับ 5 นาทีก็เท่ากันหมด เพราะเด็กวัยนี้พูดปุ๊บก็ต้องเดี๋ยวนี้ปั๊บ แต่แน่นอนว่าเขาได้เรียนรู้แล้วว่าอะไรทำก่อนทำหลัง ดังนั้นการฝึกให้เข้าใจเรื่องเวลามากขึ้นจึงทำได้ไปพร้อมๆ กับการทำกิจวัตรประจำวัน

1. บอกเป็นกิจกรรม

เช่น “พรุ่งนี้พวกเราจะไปห้างสรรพสินค้า เราจะไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อน ซื้อของเสร็จ เราจะไปกินไอศกรีม แม็คคิดไว้ตอนนี้ได้เลยลูกจะกินรสอะไร กินเสร็จก็พาแม็กไปตัดผมต่อ“ หรือ “หลังอาบน้ำเสร็จแล้ว ก็จะต่อด้วยแปรงฟัน “ หรือ “ดื่มนมให้เรียบร้อยก่อน ค่อยแปรงฟัน จากนั้นอ่านนิทาน แล้วก็เข้านอน“

2. ให้ตัวเลือก+ตั้งเวลา

เด็กวัยนี้การให้ตัวเลือกยังใช้ได้ผล “แต่งตัว 5 หรือ 6 นาทีดีลูก แม่ตั้งเวลาให้”ตกลงกันแล้วคุณก็ตั้งเวลาจากโทรศัพท์ หรือนาฬิกาปลุกเล็กๆ ตามแต่สะดวก ถึงเวลาให้เขาได้กดเอง หากยังไม่เสร็จก็ถามเขาได้ “อีกกี่นาทีเสร็จ 2 หรือ 3 นาที” เมื่อลูกทำได้ อย่าลืมกอดหรือหอมเขาสักฟอด คราวต่อไปเขาก็มีแรงใจทำอีก

การได้เลือกและกดเวลาเป็นวิธีที่เด็กๆ ให้ความร่วมมืออย่างที่คุณจะคาดไม่ถึง เขาได้เลือกเองและเขาจะได้เห็นภาพว่าระยะเวลาที่เขาทำแต่ละกิจกรรมมากน้อยขนาดไหน แปรงฟัน ดื่มนม เล่นของเล่น โดยเฉพาะเล่นเกม ฝึกไว้ตั้งแต่ตอนนี้ โตขึ้นการควบคุมเวลาเล่นเกมและออนไลน์ของลูกจะไม่ใช่ยาขมสำหรับคุณ

3. นับเลข

อยากให้เขาทำอะไรเร็วขึ้น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง ติดกระดุม รูดซิบ เร็วขึ้นก็นับเลข “นับ 1-10 นะ โอ๊ตจะใส่เสื้อเสร็จเลขไหน”ทำให้สนุก แม่อยากได้เร็วแค่ไหน เจ้าหนูก็จัดให้

4. เผื่อเวลา

ถึงจะมีตัวช่วยต่างๆ แล้ว ก็ยังต้องประเมินด้วย ถ้าการอาบน้ำแต่งตัวของลูกคุณไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งลูกและคุณอาจต้องการเวลาเพิ่ม เพื่อไม่ให้ต้องมีอาการเร่งรีบ จนต้องเสียอารมณ์กัน การเผื่อเวลาไว้ จะช่วยให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น

5. ใช้ปฏิทินก็ได้

นอกจากยังไม่เข้าใจเรื่องเวลาแล้ว วัยนี้ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องวันด้วย แต่ก็เรียนรู้ได้ เริ่มจากกำหนดวันพิเศษของเดือน เช่น วันไปเที่ยวของครอบครัว (ไม่ควรกำหนดให้ไกลเกินไป เด็กวัยนี้ความสุขตรงหน้าสำคัญที่สุด) “อีก 4 วันเราจะไปทะเลกัน ทำเครื่องหมายบนวันที่ให้เขาเห็น ถึงเวลานับวันเข้าใกล้ ก็ให้เขาเป็นคนทำเครื่องหมายบนปฏิทินเอง

 

บทความโดย:  กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up