ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ตีเด็กอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง? - Amarin Baby & Kids
ครูตีเด็ก

ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ตีเด็กอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง?

Alternative Textaccount_circle
event
ครูตีเด็ก
ครูตีเด็ก

จากข่าวที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม ทำให้เกิดคำถามว่า ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ควรลงโทษเด็กอย่างไรเพื่ออบรมสั่งสอนเด็ก?

ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ตีเด็กอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง?

คำว่า “ไม้เรียวสร้างคน” เป็นคำที่เรามักได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เพราะการอบรมสั่งสอนเด็กที่ทำสิ่งไม่ถูกต้อง นิยมใช้การตีหรือการลงโทษทางร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อให้เด็กหลาบจำ และไม่กลับมาทำผิดซ้ำ ๆ จนทำให้การอบรมสั่งสอนเด็กถูกส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นจนเป็นเรื่องที่ดูปกติกันไปแล้วในสังคมไทย จนในบางครั้งการลงโทษในรั้วโรงเรียน ของคุณครูบางท่านก็ถูกวิจารณ์กันว่าเป็นการทำรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นการ ตัดผมหรือกล้อนผม คาบไม้บรรทัด ขว้างด้วยแปลงลบกระดาน วิ่งรอบสนาม ให้ทำงานหนักอื่น ๆ และที่หนักมากที่สุดคือ
การเฆี่ยนตีหน้าเสาธง หรือหน้าชั้นเรียน การลงโทษเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็กในอนาคตอีกด้วย (อ่านต่อ เด็กที่ถูกทำร้าย มีผลต่อร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการอย่างไรบ้าง?) การกระทำที่รุนแรงเหล่านี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ทีมแม่ ABK จึงขอนำคำตอบจากบทความจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ  คุณชัชวัสส์ เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ ที่ได้กล่าวถึงกรณีนี้  ดังนี้

ครูทำโทษนักเรียนโดยการตีผิดกฎหมายหรือไม่ ?

ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ได้กำหนดวิธีการลงโทษไว้โดย ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป

พฤติกรรมเด็ก
พฤติกรรมเด็กที่ถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง

ครูตีเด็ก อย่างไรไม่ให้ถูกผู้ปกครองฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมาย?

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ได้กำหนดวิธีการลงโทษไว้ว่า “การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน โดยโทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิดทำได้ 4 สถาน ดังนี้

  1. ว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรง
  2. ทำทัณฑ์บน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา
    ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ
    การทำทัณฑ์บน ให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บน ไว้ด้วย
  3. ตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน
  4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

จากข้อกำหนด 4 ข้อนี้ หมายความว่าครูไม่ควรลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ด้วยวิธีการอื่น ๆ นอกเหนือจาก 4 มาตรการนี้ การลงโทษควรเป็นวิธีการสุดท้ายสำหรับครู/อาจารย์ที่จะพึงกระทำต่อผู้เรียน และการทำโทษต้องอยู่บนเจตนาของความต้องการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น การทำการบ้านผิด ตอบคำถามผิด หรือมีการเรียนที่ล่าช้า ไม่สมควรได้รับการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงมาก

การลงโทษที่เหมาะสมในยุคปัจจุบันจึงควรละเว้นการทำร้ายร่างการและจิตใจ วิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอย่างสิ้นเชิง ความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากกระบวนการเรียนการสอนนั้น ต้องได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม ถ้านักเรียนหรือนักศึกษาทำความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและสมควรต้องได้รับการลงโทษ ครู/อาจารย์ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการแก้ไขพฤติกรรมด้วยการทำร้าย ร่างกายหรือจิตใจ ด้วยประการทั้งปวง ครู/อาจารย์ควรให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการจะดีกว่า เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจากหน่วยงานที่ รับผิดชอบในการแก้ไขความประพฤติของ เยาวชน หรือคนในสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ และมีความชำนาญในกระบวนการและวิธีการลงโทษตามลักษณะของพฤติกรรมที่ควรได้รับ

หากการลงโทษที่กระทำโดยยึดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่แก้ไขเป็นปัจจุบันก็จะทำให้ผู้ปกครอง ไม่สามารถฟ้องร้องความผิดกับครูได้ หรือกรณีได้สร้างความเข้าใจอันดีงามระหว่างนักเรียนและผู้ปกครองแล้ว ผู้ปกครองอาจจะไม่ฟ้องร้องเอาผิดกับผู้บริหารและครูได้เพราะลงโทษด้วยเมตตาจิตหวังความดีงามของนักเรียนเป็นที่ตั้ง และการลงโทษที่ไม่เกินเหตุไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของนักเรียน หรือนักศึกษา

ครูที่ลงโทษด้วยการตีเด็กมีผลอย่างไร?

หากครูฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกระทรวงศึกษาธิการ อาจถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายบุคคล รวมถึงยังต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่งซึ่งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถเรียกค่าเสียหายเมื่อบุตรหลานของท่านถูกทำละเมิดร่างกายได้อีกด้วย

โดยการดำเนินคดีอาญา ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น อันเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและใจ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 295 ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการดำเนินคดีทางแพ่งฐานละเมิดนั้น สามารถเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนได้ เช่น ค่ารักษาพยาลาลทั้งหมดที่จ่ายไป อันเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น รวมทั้งค่าสินไหมทดแทนหรือที่เราเรียกว่าค่าทำขวัญอีกได้

แต่ในทางปฏิบัติก็คงอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ปกครองว่าจะดำเนินคดีเอาเรื่องกับครูที่ทำผิดหรือไม่ ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสม ดูจากเจตนาที่แท้จริง และข้อเท็จจริงจากการกระทำของลูก ซึ่งเหตุผลและมาตรฐานแต่ละครอบครัวก็คงแตกต่างกัน

เด็กมีสิทธิฟ้องร้องแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับครูที่ตีเขาได้หรือไม่ ?

เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ยังไม่สามารถดำเนินคดีเองได้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเด็กจึงต้องดำเนินคดีแทนโดยแจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่นั้น หรือฟ้องศาลโดยตรงในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ส่วนโทษของครูนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรม เจตนาของครูและเด็ก รวมทั้งวิธีการลงโทษและการทำร้ายร่างกายว่าทารุณมากน้อยเพียงใด ลักษณะบาดแผล ผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต่อร่างกายและจิตใจของเด็กผู้ถูกกระทำ ซึ่งศาลท่านจะนำมาประกอบกับดุลพินิจในการลงโทษครูผู้กระทำความผิด และ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองยังมีสิทธิฟ้องร้องค่าเสียหายจากครูและโรงเรียนที่เป็นนายจ้าง ของครูได้อีกส่วนหนึ่ง

 

การลงโทษเด็ก
การลงโทษเด็ก

 

นี่เป็นเพียงคำถามทางด้านกฎหมายที่จะชี้ให้เห็นว่าหากมีการทำรุนแรงเกินกว่าเหตุในรั้วโรงเรียนนั้น คุณพ่อคุณแม่จะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเอาผิดกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายลูกของเรา แต่หากเกิดเหตุเหล่านี้กับลูกจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องมาชั่งน้ำหนักดูถึงผลดีผลเสียต่าง ๆ วัตถุประสงค์ที่ ครูตีเด็ก รวมถึงพฤติกรรมของลูกตนเอง ประกอบกัน เพราะการฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายนั้น นอกจากจะใช้เวลาแล้ว ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคมของลูกอีกด้วย ต้องอย่าลืมว่าลูกของเรายังต้องไปเรียนที่โรงเรียนนี้อีก ดังนั้น เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรจะเลือกวิธีการฟ้องร้องหรือจะเลือกวิธีการประนีประนอมแบบสันติวิธี ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์นั้น ๆ แต่ทาง ทีมแม่ ABK เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องเลือกวิธีที่เหมาะที่สุดและส่งผลดีต่อลูกมากที่สุดแน่นอนค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ตีลูกบ่อย ไม่สร้างวินัย แต่คือ การทำร้าย ทำลายอนาคตลูก

รวมข่าวครูทำร้ายเด็ก ความรุนแรงในสังคม ที่นับวันมีแต่เพิ่ม

9 วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด ลงโทษลูกอย่างไร ถ้าไม่ตี!

ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่…ลูกจะรู้สึกอย่างไร?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.settaluck.legal, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, รายการคลายทุกข์ชาวบ้าน AMARIN TVHD

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up