ขัดใจทำไม…ตามใจดีกว่า!! หมอแนะเทคนิคดี รีบสอน…ก่อนสาย เลี้ยงแบบ ตามใจลูก อีกหนึ่งวิธีสร้างวินัยเชิงบวกให้ทรงประสิทธิภาพ ฝึกลูกคิดเป็น มีความรับผิดชอบ
“ขัดใจทำไม? … ตามใจลูก ดีกว่า!”
หมอแนะ! อยากให้ลูกคิดเป็น ลองสอนแบบนี้?
ทำไมลูกเราถึงสอนไม่จำ! ต้องให้คอยบอก..คอยเตือนทุกวัน จนปากเปียกปากแฉะหมดแล้ว!
ทีมแม่ ABK เชื่อว่าต้องมีคุณพ่อคุณแม่หลายคนเกิดคำถามนี้…ผุดขึ้นมาในใจ หรือเคยแอบบ่นใส่ลูกบ้างว่า … เพิ่งพูดไปหยกๆ ทำไมทำอีกแล้ว! นั่นน่ะสิคะ!! เพราะลูกพูดยาก หรือ เพราะเราไปขัดใจลูก?
มาลองทบทวนกันค่ะ…
หากว่าพ่อแม่เตือนลูก แปลว่าใครกันที่เป็นคนจำได้…พ่อแม่หรือลูก? คำตอบที่ถูกต้อง ก็น่าจะเป็นพ่อแม่ เพราะถ้าลูกจำได้ลูกก็ไม่ต้องรอให้พ่อแม่เตือนจริงไหมคะ
แต่เอ…แล้วพ่อแม่จะทราบได้อย่างไรว่าที่ลูกยังไม่ทำ >> เพราะจำไม่ได้จริงๆ หรือจำได้แต่ยังไม่ทันทำ พ่อแม่ก็มาชิงเตือนตัดหน้าไปเสียก่อน!?!?
ลองนึกภาพตามนะคะ หากเราตั้งนาฬิกาปลุกไว้ 8 โมง แต่ยังไม่ทัน 6 โมงก็มีคนมาปลุกให้ตื่นไปทำงาน เราจะรู้สึกอย่างไร…ขอบคุณที่ปลุกตั้งแต่ 6 โมง หรือแอบขัดใจนิดหน่อย แล้วถ้าเราบอกเขาไปแล้วว่า “เดี๋ยวจะตื่นเอง ไม่ต้องปลุก”
แต่เขาก็ยังปลุกเราทุก 15 นาที ตอนนี้เราจะรู้สึกอย่างไร…ขอบคุณในความหวังดีหรือรู้สึกไม่พอใจ? แน่นอนว่าเราย่อมรู้สึกรำคาญและไม่พอใจถึงแม้ว่าคนนั้นจะปลุกเราด้วยความหวังดีก็ตาม!
> ทีนี้เริ่มเข้าใจหรือยังคะ ว่าทำไมเวลาเอ่ยปากเตือน ลูกถึงอารมณ์ไม่ดี และทำไมพอตามเตือนตามบอก ลูกถึงชอบต่อต้านและลงท้ายด้วยการทะเลาะกับลูกทุกที
- คำพูดยอดแย่ ที่พ่อแม่มักใช้ตีตรา และทำร้ายจิตใจลูก
- คำพูดเชิงบวก ที่ควรใช้พูดกับลูก 64 คำ
- วิธีสร้างวินัยเชิงบวก ด้วย 10 เทคนิคแสนง่าย ไม่ให้ลูกต่อต้าน!
“เตือนลูกบอกลูกทุกวัน ระวังลูกจะไม่จำว่าต้องทำอะไร!”
ถ้าอยากให้ลูกคิดเป็น อย่าคอยเตือนลูกบ่อยๆ … คำถามต่อไปคือ หากพ่อแม่คอยตามบอกตามเตือนลูกทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้ายันเข้านอนตอนกลางคืน ลูกยังจำเป็นต้องจำอยู่ไหมคะ?
ลองนึกภาพตามอีกทีว่า… ตั้งแต่เราบันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้ในโทรศัพท์มือถือ สมองของเราก็เรียนรู้ไปแล้วว่า ข้อมูลนี้ไม่ต้องจำ จะใช้ค่อยเปิดหาดู เราก็เลยกลายเป็นคนที่จำเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ เด็กๆ ก็เช่นกัน หากว่าพ่อแม่คอยบอกคอยเตือนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขาก็จะไม่จำเป็นต้องจำ รอพ่อแม่บอกเมื่อไหร่ค่อยทำ!
ดังนั้นแทนที่พ่อแม่จะตามบอกตามสอน ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการ ตามใจลูก แบบการสร้างวินัยเชิงบวกกันดีกว่าค่ะ เพียงบอกหน้าที่รับผิดชอบของลูกว่ามีอะไรบ้าง แล้ว ตามใจลูก ให้เขาตัดสินใจเองว่าจะทำอะไรก่อนหรือหลัง เช่น “พรุ่งนี้เช้าสิ่งที่หนูต้องทำคือ อาบน้ำแต่งตัว กินข้าว และหนูจะทำอะไรก่อนก็ได้ พอ 7 โมงครึ่งเราจะขึ้นรถไปโรงเรียนกันค่ะ” หรือ “พอไปถึงบ้านคุณยาย หลังจากสวัสดีคุณยายแล้ว สิ่งที่หนูต้องทำคือ เข้าห้องน้ำ ล้างมือ เล่น ช่วยเก็บผลไม้เข้าตู้เย็น หนูจะทำอะไรก่อนก็ได้ พอ 6 โมงเย็น เราจะกินข้าวด้วยกัน และกลับบ้านตอน 2 ทุ่มค่ะ”
เทคนิคนี้เป็น ตามใจลูก นี้นอกจากจะสอนวินัยและความรับผิดชอบได้แล้ว ยังทำให้ลูกอยากให้ความร่วมมือมากขึ้นและไม่รำคาญเราอีกด้วย เพราะการให้อิสระในการเลือก เป็นการให้โอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนลงมือคิด บริหารเวลา วางแผน เรียงลำดับความสำคัญ ควบคุมความต้องการของตนเอง และกำกับตนเองให้รับผิดชอบจนเสร็จทุกหน้าที่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5 เคล็ดลับ ตามใจลูก เสริมให้ลูกคิดเป็น
วางแผนได้ ลำดับความสำคัญถูก!!
อย่างไรก็ตามเทคนิค ตามใจลูก แบบนี้จะทรงประสิทธิภาพมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเคล็ดลับต่อไปนี้
-
เตือนเพื่อชวนคิด
หากสังเกตเห็นว่า ลูกเริ่มติดกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนานเกินไป เราสามารถเตือนเพื่อชวนลูกให้เริ่มคิดวิธีบริหารเวลาที่เหลือได้ เช่น เหลือเวลาอีก 30 นาทีเราจะออกจากบ้านแล้วนะคะ หนูคิดว่าเสร็จทันไหมคะ ต้องการให้แม่ช่วยอะไรไหม แทนการเตือนเพื่อชวนทะเลาะ เช่น จะเสร็จหรือยัง เห็นนั่งเล่นนานแล้ว เหลือเวลาอีกแค่ 30 นาทีนะ จะกินข้าวเตรียมกระเป๋าทันไหม!
-
เป็นคนช่วยเหลือ
ในกรณีที่ลูกงอแง โยเย และไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เช่น ไม่ยอมเก็บของเล่น แต่ก็ไม่ยอมไปอาบน้ำ เราสามารถบอกได้ว่าลูกอยู่ในอารมณ์ที่ไม่พร้อม เราเลยจะเป็นคนช่วยพาเขาทำเอง แทนการเป็นคนช่วยซ้ำเติม เช่น เก็บของเล่นเดี๋ยวนี้ แล้วไปอาบน้ำเร็วๆ เลยนะ! ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมอารมณ์ให้ลูกโยเยเข้าไปใหญ่
-
คำถามนำทางความคิด
ในกรณีที่ลูกไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่บอกเอาไว้ ให้ถามลูกว่า ลูกคิดเอาไว้ว่าจะทำเมื่อไหร่ แทนการใช้คำถามที่นำมาซึ่งการแก้ตัว เช่น ทำไมถึงยังไม่ทำ หรือ ทำไมไม่ยอมทำ
- คำถามที่ควรถาม หลังลูกกลับจากโรงเรียน
- “ลูกควบคุมตัวเอง” ได้ ต้องฝึกให้สมองได้ “คิด”
- เลี้ยงลูกอย่างไร? ให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี
-
ชม ชม ชม
เมื่อเห็นลูกทำหน้าที่เสร็จแล้ว เราต้องชื่นชม และให้ความสำคัญกับความพยายามและความรับผิดชอบของลูก เพื่อลูกจะได้มองเห็นความสามารถของตัวเอง และเกิดความภาคภูมิใจ เช่น แม่ขอบคุณมาก ที่ลูกพยายามควบคุมความอยากเล่นไว้ก่อน แล้วทำการบ้านจนเสร็จ ลูกแม่เรียงลำดับความสำคัญได้ยอดเยี่ยม เป็นนักบริหารเวลาตัวยงเลยนะเนี่ย แทนการ ติ ติ ติ หรือให้ความสนใจแค่ตอนที่ลูกทำไม่ดีเท่านั้น
-
รับผิดชอบผลที่ตามมา
บางอย่างที่ลูกไม่ทำ แล้วเป็นปัญหาของลูกเอง เราต้องปล่อยให้เขาได้รับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของเขา เช่น หากเหลือเวลากินข้าวอีกแค่ 5 นาที เพราะมัวแต่เล่น ก็ต้องให้ลูกกินแค่ 5 นาที พอถึงกำหนดเวลา ก็ต้องพาขึ้นรถไปโรงเรียนเลย เพื่อให้เขารู้ว่า หากบริหารเวลาไม่ดีและไม่ควบคุมตัวเอง ผลจะเป็นอย่างไร
การปลูกฝังพฤติกรรมที่เหมาะสมจนเป็นนิสัย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน แค่การตามบอกตามเตือนลูก จึงยังไม่พอ แต่จำเป็นต้องอาศัยความรักและความเข้าใจจากพ่อแม่ด้วย เมื่อลูกปรารถนาแรงใจจากเรา แล้วเราจะไปขัดใจทำไม รีบตามใจ
ให้แรงใจเขาดีกว่า…จริงไหมคะ?
ขอบคุณบทความจาก ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Thanasetkorn, P.**, Chumchua, V. Suttho, J., & Chutabhakdikul, N. (2015). The preliminary research study on the impact of the 101s: A guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. ASIA-PACIFIC Journal of Research in Early Childhood Education, 9(1), pp. 65-89.
Jutamard Suttho*, Vasunun Chumchua, Nuanchan Jutapakdeekul, Panadda Thanasetkorn**. The impact of the 101s: A Guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. The 2nd ASEAN Plus Three Graduate Research Congress (AGRC). 2014;255.
8 วิธี สร้างวินัยเชิงบวก ง่ายๆ ป้องกันลูกดื้อ เริ่มได้ตั้งแต่ 1 ขวบ
[สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ
เลี้ยงลูกเชิงบวก คุยกับลูกแบบนี้ ไม่ต้องตี ลูกก็เชื่อฟัง โดยพ่อเอก