โดยทั่วไปแล้ว การเจริญเติบโตของร่างกายคนเรานั้น สามารถแบ่งได้ด้วยกันทั้งสิ้น 3 ช่วงได้แก่
- ช่วงแรกเกิด จะอยู่ในระหว่าง 0 – 2 ปีจะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 30-35 เซนติเมตร
- ช่วงวัยเด็ก จะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5-7 เซนติเมตรต่อปี
- ช่วงวัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ จะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8-14 เซนติเมตรต่อปี
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ร่างกายของลูกเติบโตนั้นก็ได้แก่ ยีนหรือพันธุกรรม ฮอร์โมน และอาหารการกิน แต่ถ้าหากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีความสูงน้อยกว่าเกณฑ์มากเกินไป จนดูเหมือนร่างกายแคระแกร็นละก็ งานนี้อาจจะต้องคำนึงถึงโรค ๆ หนึ่งที่เรียกกันว่า “โรคเตี้ยในเด็ก“
โรคเตี้ยในเด็ก คืออะไร?
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อเด็กได้กล่าวว่า
โรคเด็กเตี้ยในเด็ก เป็นภาวะหรืออาการแสดง ที่ทำให้เห็นว่าเด็กคนนั้นตัวเล็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเตี้ยมีหลายประการทั้งจากพันธุกรรม และจากโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตหรือเรียกกันว่า โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)
ซึ่งโกรทฮอร์โมนที่ว่านี้ เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง หากต่อมใต้สมองไม่ผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโต ก็จะทำให้ระดับการเจริญเติบโตของเด็กต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และสาเหตุที่ทำให้ต่อมนี้ทำงานผิดปกตินั้น อาจเป็นพันธุกรรมบางอย่างหรือมีก้อนเนื้อไปกดทับ จึงทำให้ต่อมใต้สมองไม่สามารถทำงานได้