กรมอนามัยเตือน! ปล่อยลูก ฟันผุ เสี่ยงเด็กแคระแกร็น!! - Amarin Baby & Kids
ฟันผุ

กรมอนามัยเตือน! ปล่อยลูก ฟันผุ เสี่ยงเด็กแคระแกร็น!!

Alternative Textaccount_circle
event
ฟันผุ
ฟันผุ

กรมอนามัยเตือน! ปล่อยลูก ฟันผุ เสี่ยงเด็กแคระแกร็น!!

ตั้งแต่ลูกเริ่มฟันขึ้น พอเวลาจะแปรงฟันให้ลูก ลูกก็งอแงวิ่งหนีทุกที ทำเอาทั้งคุณพ่อคุณแม่เหนื่อยในการพาลูกแปรงฟัน เชื่อว่าหลายบ้านต้องเคยประสบปัญหานี้กันมาก่อน พอรู้ตัวอีกทีลูกก็ ฟันผุ เสียแล้ว

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบเด็กเล็กที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากกับเด็กเล็กที่ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก พบว่า

  • เด็กที่ไม่มีปัญหาช่องปาก มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า
  • ในเด็กอายุ 3 ปี เป็นโรคฟันผุ ถึงร้อยละ 52.9
  • เด็กอายุ 5 ปี มีฟันผุร้อยละ 75.6

และจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพช่องปาก พบว่า เด็กวัยเรียนแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันเพียงร้อยละ 30 จึงทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็กเล็กเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะลามลึกลงไปถึงรากฟัน สร้างความเจ็บปวด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ฟันผุ จึงเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เลยค่ะ

สาเหตุของ ฟันผุ

ฟันผุคือ ผิวฟันเกิดเป็นจุดหรือรูโหว่ ตัวการของฟันผุ คือ แบคทีเรียภายในช่องปาก ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับอาหารที่ลูกกินเข้าไป และก่อให้เกิดกระบวนการทำลายฟันตามลำดับ ดังนี้

  • คราบแบคทีเรียก่อตัวบนผิวฟัน เวลาที่ลูกกินอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเข้าไป แล้วน้ำตาลยังคงตกค้างอยู่ที่ผิวฟัน แบคทีเรียหลายชนิดที่มีอยู่แล้วในปากจะไปจับกับน้ำตาลจนเกิดคราบเหนียวเคลือบอยู่ที่ฟัน หรือที่เรียกกันว่าคราบหินปูน ซึ่งจะเพิ่มความหนามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วทำปฏิกิริยากับน้ำตาลเกิดเป็นกรดทำลายผิวฟันให้ผุกร่อน
  • คราบหินปูนทำลายผิวฟัน กรดที่อยู่ในคราบหินปูนจะทำลายผิวฟันส่วนที่แข็งและอยู่ชั้นนอก เมื่อเกิดรูที่ผิวฟันชั้นนอก แบคทีเรียจะเข้าไปยังผิวฟันชั้นในซึ่งมีพื้นผิวอ่อนกว่าและต้านทานต่อกรดได้น้อยกว่าชั้นนอก
  • การทำลายผิวฟันอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดฟันผุ แบคทีเรียและกรดที่เกิดขึ้นจะเข้าทำลายผิวฟันในระดับที่ลึกเข้าไปเรื่อย ๆ อาจทำลายเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทและหลอดเลือด จนทำให้ลูกเกิดอาการเสียวฟัน มีการบวมในบริเวณนั้น ปวดฟันอย่างรุนแรง หรือปวดฟันเวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร เป็นต้น

อาการของ ฟันผุ

อาการที่พบนอกเหนือจากจุดหรือรูสีน้ำตาลดำบริเวณผิวฟันแล้ว หากลูกไม่ได้รับการรักษา ลูกอาจมีอาการปวดฟัน เสียวฟัน ปวดฟันมากเวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร หรือเวลารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารร้อน ๆ หรืออาหารที่มีความเย็น ขมปาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ฟันเปลี่ยนสี หรือเป็นหนองได้ค่ะ

ลูกควรไปพบทันตแพทย์เมื่อใด

โดยปกติแล้ว เด็กทุกคนควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจรักษาดูแลสุขภาพฟันอยู่เสมอ แต่หากมีอาการอย่างปวดฟัน ปวดบวมภายในปาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุดนะคะ

รับมือปัญหาที่เกิดจากฟันผุ

เมื่อลูกเกิดฟันผุ และเริ่มมีสัญญาณของความเจ็บปวดบริเวณเหงือกและฟัน ในเบื้องต้นให้ใช้ผ้าบาง ๆ ห่อน้ำแข็ง หรือใช้ถุงประคบเย็นประคบไว้บริเวณแก้มลูก ครั้งละประมาณ 10-15 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการปวด และสามารถรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน โดยต้องใช้ยาอย่างถูกต้องตามวิธีการและตามปริมาณที่เหมาะสมกับอายุที่ระบุไว้บนฉลากยา จากนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาฟันผุและรับการรักษาในขั้นต่อไป

เด็กเล็กฟันผุหลายซี่ เสี่ยงแคระแกร็น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาฟันผุส่งผลให้เด็กเจ็บปวดทรมาน เสียสุขภาพ กระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก และพบว่า การมีฟันผุหลายซี่ในปาก มีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็ก เพราะทำให้เด็กกินอาหารลำบาก เคี้ยวไม่สะดวก และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่า ฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ควรแปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และแปรงฟันให้ต่อเนื่อง จนกว่าเด็กจะแปรงฟันได้เองค่ะ

ฟันผุ
ให้ลูกแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์

วิธีรักษาฟันผุ

วิธีที่ควรใช้ในการรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของฟันผุด้วย ได้แก่

  • ฟลูออไรด์ มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและฟื้นฟูสภาพฟันจากการผุ หากฟันผุในระยะแรกเริ่ม ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์ ทั้งในรูปแบบยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เจล โฟม หรือสารเคลือบฟัน รวมทั้งแนะนำปริมาณน้ำตาลจากอาหารที่ลูกควรรับประทาน เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุเพิ่มจากการสะสมของน้ำตาล
  • การอุดฟัน เป็นวิธีการรักษาที่นำมาใช้ในระยะที่ฟันผุเข้าไปถึงชั้นผิวด้านใน แพทย์จะใช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟันหรือมีความแข็งแรง เช่น พอร์เซเลน แร่เงิน หรือใช้วัสดุหลายชนิดรวมกัน อุดไปบริเวณที่มีรูฟันผุ
  • การครอบฟัน ใช้ในกรณีที่ฟันผุกร่อนเป็นบริเวณกว้าง เหลือเนื้อฟันน้อย หรือมีสุขภาพฟันไม่แข็งแรง แพทย์จะกำจัดเนื้อฟันบริเวณที่ผุออกไปจนหมด ก่อนจะใช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟัน หรือมีความแข็งแรงทนทาน เช่น พอร์เซเลน เรซิ่น หรือทอง ครอบไปที่ฟันซี่นั้นแล้วตกแต่งให้ฟันยึดเยอะในบริเวณที่เหมาะสม
  • การรักษารากฟัน หากฟันผุลึกลงไปจนถึงรากฟัน ทันตแพทย์จะรักษาที่รากฟันเพื่อซ่อมแซมความเสียหายและรักษาในบริเวณที่ติดเชื้อ อาจใช้ยาเพื่อรักษารากฟันที่มีการติดเชื้อ ก่อนจะแทนที่บริเวณที่มีการผุด้วยการอุดฟัน
  • การถอนฟัน เด็กที่มีฟันผุอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเยียวยาเนื้อฟันที่เหลือได้ ทันตแพทย์จะถอนฟันซี่นั้นออกเพื่อรักษาอาการ แต่หลังจากถอนฟันแล้ว สามารถปรึกษาหาวิธีการทดแทนช่องว่างของฟันซี่ที่ถูกถอนออกไป เช่น การใส่ฟันปลอม การใช้สะพานฟัน หรือปลูกถ่ายรากฟันเทียมซึ่งเป็นไททาเนียมยึดเกาะบริเวณรากฟันแทนที่ฟันที่ถูกถอนออกไป

ป้องกันฟันผุอย่างไรให้ได้ผล

สิ่งสำคัญ คือ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี ทำความสะอาดทั้งเหงือกและฟัน แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์หลังการรับประทานอาหาร หรืออย่างน้อยต้องแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้น้ำยาบ้วนปาก ลดหรืองดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง ขนมขบเคี้ยว ของหวาน เครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลม เลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพฟัน อย่างผักและผลไม้ที่มีแร่ธาตุและเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

 

สุขภาพฟันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรดูแลและให้ความสำคัญกับลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟันผุและอาการต่าง ๆ ที่จะตามมานะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ไทยรัฐออนไลน์,pobpad

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก 

8 วิธีเลือกและดูแลแปรงสีฟันลูก ช่วยลดการสะสมของเชื้อโรค

แปรงสีฟันเด็ก เลือกใช้ยังไงให้เหมาะกับวัยลูก

หมอฟันตอบเอง..แท้จริงแล้ว! ควร บีบยาสีฟัน ให้ลูกแค่ไหนถึงจะพอดี

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up