ฮีทสโตรก ในเด็ก เด็กติดในรถ เสียชีวิตได้อย่างไร? - Amarin Baby & Kids
ฮีทสโตรก

ทำความเข้าใจ ฮีทสโตรก ในเด็ก เด็กติดในรถ เสียชีวิตได้อย่างไร?

Alternative Textaccount_circle
event
ฮีทสโตรก
ฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก – หรือ โรคลมแดด คือ โรคที่มีสาเหตุเกิดจากความร้อนที่ร้ายแรงที่สุด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิปกติเอาไว้ได้ ส่งผลให้กระบวนการขับเหงื่อของร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งโดยปกติเมื่อเหงื่อออกจะทำให้ผิวหนังเย็นลง แต่หากไม่มีกระบวนการนี้ ร่างกายจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิภายในร่างกายได้ และอุณหภูมิของร่างกายอาจสูงขึ้นถึง 41 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่านั้นได้ภายใน 10 ถึง 15 นาที  ดังนั้นการรู้วิธีป้องกันฮีทสโตรก จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะหากอาการเกิดขึ้นในเด็ก หรือเด็กเล็ก

ทำความเข้าใจ ฮีทสโตรก ในเด็ก เด็กติดในรถ เสียชีวิตได้อย่างไร?

การเกิดภาวะฮีทสโตรก เป็นรูปแบบของความเจ็บป่วยจากความร้อนที่ร้ายแรงที่สุด และเป็นเหตุฉุกเฉินที่สามารถคุกคามถึงชีวิตได้ เป็นผลมาจากการได้รับแสงแดดหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อได้มากพอที่จะลดอุณหภูมิของร่างกาย ผู้สูงอายุ ทารก เด็กเล็ก หรือผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง มักเสี่ยงต่อโรคลมแดด เป็นภาวะที่พัฒนาอาการได้อย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันที

สาเหตุของ ฮีทสโตรก ในเด็ก

ร่างกายของคนเราสร้างความร้อนภายในจำนวนมาก และโดยปกติร่างกายจะปรับสภาพให้อุณหภูมิเย็นลงโดยการขับเหงื่อและปล่อยความร้อนผ่านผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ เช่น ความร้อนจัด ความชื้นสูง หรือกิจกรรมท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจัด ระบบทำความเย็นของร่างกายนี้อาจทำงานได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมจนถึงระดับอันตรายได้ หากบุคคลนั้นขาดน้ำ และร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อได้มากพอที่จะทำให้ร่างกายเย็นลง อุณหภูมิภายในอาจสูงขึ้นจนเป็นอันตรายและทำให้เกิดฮีทสโตรก

สำหรับฮีทโสตรกในเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กได้รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมมากเกินไป  ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะเริ่มพัฒนาจากความอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat Exhaustion) และนำไปสู่การเกิดฮีทโสตรก สำหรับเด็กเล็กๆ ควรได้รับการดูแลจากผู้ปกครอง หรือครูเป็นพิเศษเมื่ออยู่ที่โรงเรียน เพราะพวกเขาไม่สามารถหลบหนีจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนระอุได้

เด็กอาจเกิดภาวะอาการของโรคลมแดดเมื่ออุณหภูมิร่างกายภายในสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และเด็กอาจเสียชีวิตได้ที่อุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส แม้ว่าโรคลมแดดจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงฤดูร้อน แต่เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดดได้ในรถยนต์ได้เมื่ออุณหภูมิภายในรถสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้แสงแดดโดยตรง อุณหภูมิภายในรถจะสูงขึ้นได้มากถึง 20 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิปกติ  ที่สำคัญเด็กมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ที่จะเสียชีวิตจากโรคลมแดดในรถยนต์ เนื่องจากร่างกายจะร้อนเร็วกว่าผู้ใหญ่สามถึงห้าเท่า

มีหนึ่งตัวอย่างน่าเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือน สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เมื่อเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ถูกลืมทิ้งไว้ในรถนักเรียนโดยไม่มีใครรู้ ด้วยอุณหภูมิภายในรถที่ปิดไว้นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับอันตราย เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตในที่สุดท่ามกลางความเสียใจของพ่อแม่ ซึ่งภายหลังจากการชันสูตรแพทย์ลงความเห็นว่า เด็กเสียชีวิตจากอาการฮีทโสตรก ซึ่งนี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในแระเทศไทย อุบัติเหตุและเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถตู้รับส่งนักเรียน จนเป็นเหตุทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากสถิติของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่าตั้งแต่ปี 2557-2563 มีเด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถถึง 129 ครั้ง เด็กเสียชีวิต 6 ราย โดยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 2- 6 ปี และยังเกิดขึ้นให้เห็นจนปัจจุบัน

เด็กเกิดอาการ ฮีทสโตรก ในรถจากสาเหตุใด?

  • ลมแดดในรถยนต์เนื่องจากถูกกักขัง

เด็กอาจเข้าไปในรถเพื่อเล่น หยิบของเล่นที่ลืมไว้ หรือด้วยเหตุผลอื่นใดโดยที่ผู้ดูแลไม่ทราบ เด็กที่ไม่สามารถออกมาจากรถได้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดด การเสียชีวิตจากโรคลมแดดเกือบ 3 ใน 10 คนเกิดขึ้นเมื่อเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเข้าถึงยานพาหนะ ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่คุณจอดรถควรมั่นใจว่าล็อครถทุกครั้ง และเก็บกุญแจพ้นจากมือเด็ก

  • อาการลมแดดในรถยนต์เนื่องจากผู้ใหญ่ลืมเด็กไว้ในรถโดยไม่รู้ตัว

เด็กส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคลมแดดในรถยนต์ มักถูกผู้ใหญ่ทิ้งไว้ในรถโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยครั้งเมื่อเด็กถูกทิ้งไว้ในรถโดยไม่มีใครรู้นั้นอันตรายต่อชีวิตของเด็กอย่างยิ่ง เด็กที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแลในรถขณะที่พ่อแม่ทำธุระด่วน หรือเมื่อเด็กติดอยู่ในรถ อาจส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้

ซึ่งการชอบลืมเด็กหรือทารกไว้ในรถนั้น ทางการแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยของผู้ใหญ่ ด้วยอาการที่เรียกว่า “กลุ่มอาการลืมเด็กในรถ” (Forgotten Baby Syndrome) ซึ่งเป็นผลมาจากการทำกิจวัตรประจำวันจนเคยชิน เช่น การขับรถไปทำงาน หากวันใดวันหนึ่งมีเหตุที่ต้องเอาลูกนั่งรถไปด้วย เหตุร้ายอาจเกิดขึ้นได้เมื่อสมองของผู้ป่วยสั่งงานให้ทำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างการขับรถไปทำงาน แต่ระหว่างทางอาจคิดหรือสนใจเรื่องอื่นๆ จนบกพร่องในการใส่ใจและสนใจลูก จนลืมไปได้อย่างสนิทใจว่าความจริงแล้วมีเด็ก หรือลูกของตัวเองโดยสารมาในรถด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายอย่างร้ายแรงต่อเด็กเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเด็กเล็ก

เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่จะต้องเข้าใจว่าเด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดดได้มากกว่า และการเสียชีวิตจากกรณีนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ เราในฐานะพ่อแม่ ผู้ดูแล  มีบทบาทในการช่วยให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดการเสียชีวิตในกรณีนี้อีก  ที่สำคัญเด็กที่อายุน้อยเกินไปที่จะสื่อสารหรือเปิดประตูรถเองได้ มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษจากโรคลมแดดในรถยนต์  ดังนั้นผู้ปกครองไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพัง

 

โรคลมแดด
โรคลมแดด

ความแตกต่างระหว่าง การอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat Exhaustion)  และ ฮีทสโสตรก (Heat Stroke)

อาการของลมแดด และ ความอ่อนล้าจากความร้อนในเด็กฟังดูค่อนข้างร้ายแรง ทั้งสองเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน อาการอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat Exhaustion) ทำให้เกิดเหงื่อออกมากเกินไป ชีพจรเต้นเร็ว เวียนศีรษะ และอาการอื่นๆ ที่เริ่มต้นเมื่อลูกของคุณร้อนเกินไปเร็วกว่าที่ร่างกายจะระบายความร้อนได้ โดยปกติ คุณสามารถบรรเทาความเหนื่อยล้าจากความร้อนได้โดยการพาลูกออกจากความร้อนและเข้าไปในห้องปรับอากาศหรือเข้าในที่ร่ม

อย่างไรก็ตาม อาการอ่อนเพลียจากความร้อนที่ไม่ได้รับการรักษา สามารถพัฒนาไปสู่อาการฮีทสโตรก ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของลูกคุณจะค่อยๆ สูงขึ้น และไม่สามารถทำให้ตัวเองเย็นลงได้อีกต่อไป ซึ่งอาการฮีทโสตรกเป็นเหตุฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันที ภาวะตัวร้อนเกินไป (Hyperthermia) อาจเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขาอยู่นอกบ้านเป็นเวลานานเกินไปในสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาขาดน้ำ หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ

อาการของโรค ฮีทสโตรก

โดยทั่วไปแล้วอาการฮีทสโตรกจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องตระหนักว่าเมื่อลูกของคุณเริ่มมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน ( Heat Exhaustion) ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นที่พัฒนาไปสู่อาการฮีทโสตรกได้ ซึ่งสัญญาณของความอ่อนเพลียจากความร้อนมีดังนี้:

  • ผิวซีด
  • เหงื่อออกมากขึ้น
  • ความอ่อนล้า ความเมื่อยล้า
  • กระหายน้ำมาก
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะ
  • หงุดหงิด
  • ตัวเย็น
  • อุณภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ

ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการอ่อนเพลียจากความร้อนจะเปลี่ยนเป็นภาวะฮีทสโตรกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายและเป็นอันตรายถึงชีวิต และถือเป็นกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ สัญญาณที่อันตราย ได้แก่

  • วิงเวียนศีรษะ
  • สับสน
  • ปวดหัวอย่างรุนแรง
  • หายใจลำบากและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
  • หมดสติ
  • อาการชัก
  • หน้าแดง ร้อนและแห้ง
  • เหงื่อออกน้อยถึงไม่มีเลย
  • อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

อ่านต่อ…ทำความเข้าใจ ฮีทสโตรก ในเด็ก เด็กติดในรถ เสียชีวิตได้อย่างไร? ได้ที่หน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up