กรมอนามัยปรับเกณฑ์ น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ เด็กไทยใหม่ตามค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของเด็กจากเมื่อปี 2538 แบบนี้ลูกยังมีค่าตามเกณฑ์หรือไม่เช็กเลย
ปรับเกณฑ์ น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ เด็กไทยใหม่!!
อาหาร เป็นสิ่งสำคัญในการเจริญเติบโตของลูกน้อย หากลูกได้รับโภชนาการที่ดี ก็ย่อมนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีด้วยเช่นกัน แต่การที่จะทราบว่าลูกได้รับโภชนการที่ดีเพียงพอแล้วหรือยังนั้น จำเป็นต้องใช้การประเมินภาวะโภชนาการด้วยการวัดสัดส่วนของร่างกายของลูก น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ ในแต่ละช่วงวัย ซึ่งการประเมินนี้อาศัยหลักการที่ว่าขนาดและส่วนประกอบของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงตามภาวะโภชนาการของเด็กนั่นเอง และเรายังสามารถแปลผลข้อมูลนั้นมาเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของเด็กที่มีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพเป็นเกณฑ์อ้างอิงได้อีกด้วย
สธ.ปรับเกณฑ์เติบโตเด็กไทยครั้งแรกในรอบ 26 ปี
เนื่องจากภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จึงส่งผลทำให้เกณฑ์อ้างอิงน้ำหนัก ส่วนสูงเพื่อประเมินภาวการณ์เจริญเติบโตของเด็กไทย ที่เริ่มดำเนินโครงการในปี 2538 (เผยแพร่เอกสาร พ.ศ.2543) มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาวะในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ปรับเกณฑ์เติบโตเด็กครั้งแรกในรอบ 26 ปี เพราะที่ใช้อยู่วิเคราะห์ปัญหาต่ำกว่าความจริง การปรับเกณฑ์ประเมินใหม่ให้เหมาะสม จากสถิติพบว่าเด็กไทยอ้วนเพิ่มเกินร้อยละ 10 เตี้ยเกินร้อยละ 5 เสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรมอนามัยผนึกเครือข่ายขับเคลื่อนให้เด็กโตเต็มศักยภาพ โดยตั้งเป้าให้ปีพ.ศ. 2569 เด็กอายุ 19 ปี ผู้ชายควรสูง 175 ซม. ผู้หญิงควรสูง 162 ซม.
ข้อดีของการปรับเกณฑ์ประเมินการเจริญเติบโตของเด็กไทย
คณะกรรมการพัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิดถึง 18 ปี และสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้พัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปีชุดใหม่ ที่สามารถสะท้อนภาวะโภชนาการสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปีชุดใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก การประเมินภาวะการเจริญเติบโตโดยการชั่ง น้ำหนัก วัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต จะทำให้ทราบว่าเด็กคนหนึ่งมีภาวะโภชนาการเป็นอย่างไร อ้วน ผอม หรือเตี้ย เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
เพื่อร่วมกันลดปัญหาเด็กอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 10 ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมาย และเด็กเตี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินร้อยละ 5 สูงกว่าค่าเป้าหมาย โดยเด็กอ้วนมีโอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคตได้ รวมทั้งเด็กที่มีภาวะเตี้ย อาจเนื่องจากมีการขาดอาหารเรื้อรังหรือมีการเจ็บป่วยบ่อย ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ และเด็กซีด หมายถึง ร่างกายขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะง่าย อาจตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน และสมองทำงานได้ช้าลง ส่งผลให้เรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็ก
ดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการประเมินการเจริญเติบโตนั้น นิยมใช้นํ้าหนักและส่วนสูงในการประเมินภาวะการเจริญเติบโต ซึ่งมี 3 ดัชนีด้วยกัน ดังนี้
- น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ (weight for age)น้ำหนักเป็นผลรวมของกล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ และกระดูก น้ำหนักตามเกณฑ์อายุเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของการเจริญเติบโตของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก เป็นดัชนีที่นิยมใช้แพร่หลาย ในการประเมินภาวะการขาดโปรตีน และพลังงาน
- ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ (height for age)เป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อยาวนานในอดีต ถ้าเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอเป็นเวลานาน หรือมีการเจ็บป่วยบ่อย ๆ มีผลให้อัตราการเจริญเติบโตของโครงสร้างของกระดูกเป็นไปอย่างเชื่องช้า หรือชะงักงัน ทำให้เป็นเด็กตัวเตี้ย กว่าเด็กที่เป็นเกณฑ์อ้างอิงซึ่งมีอายุเดียวกัน ดังนั้นส่วนสูงตามเกณฑ์อายุจึงเป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะการขาดโปรตีน และพลังงานแบบเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีความบกพร่องของการเจริญเติบโตด้านโครงสร้างส่วนสูงทีละเล็กทีละน้อย สะสมจนตกเกณฑ์ได้
- น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (weight for height)น้ำหนักจะมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าส่วนสูง ถ้าเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอจะมีน้ำหนักลดลง เกิดภาวะผอม ดังนั้นน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงจึงเป็นดัชนีบ่งชี้ที่ไวในการสะท้อนภาวะโภชนาการในปัจจุบัน แม้ไม่ทราบอายุที่แท้จริง และอิทธิพลจากเชื้อชาติมีผลกระทบน้อย และเป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะโภชนาการเกิน (อ้วน) ที่ใช้กันอยู่ในสากล
เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตสำหรับเด็กอายุ 0-5 ปี
เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้จัดทำมาตรฐานอ้างอิงของน้ำหนักและส่วนสูงเด็กของเด็ก 0-5 ปี (Child Growth Standard Apr 2006) ซึ่งเป็นมาตรฐานอ้างอิงแบบอิงเกณฑ์ ไม่ได้อิงกลุ่มเพื่อเป็น Gold standard ให้ประเทศต่างๆทั่วโลกนำไปใช้เปรียบเทียบกับ Gold Standard ดังกล่าว ฉะนั้นเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กใหม่ จึงทำในช่วงอายุ 6-19 ปี ส่วนที่อายุ 0-5 ปี ให้ไปใช้เกณฑ์ของ Child Growth standards ของ WHO แทน
เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตสำหรับเด็กอายุ 6-19 ปี ฉบับปรับปรุง
กรมอนามัยโดย สำนักโภชนาการ ได้ร่วมมือกับศูนย์อนามัย สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 16 จังหวัดที่เป็นตัวแทนของประเทศ ทำการเก็บข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูงและรอบเอว ของเด็กอายุ 4 ปี 6 เดือนถึง 19 ปี จำนวน 46,587 คน ระหว่าง พ.ศ.2558-2562 จากสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน จัดทำเป็นเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปีชุดใหม่ และส่งมอบข้อมูลชุดดังกล่าวให้กับภาคีเครือข่ายที่ดูแลสุขภาพของเด็กไทย
วิธีการอ่านกราฟ น้ำหนัก ส่วนสูง มาตราฐาน ตามอายุ
กราฟอ้างอิงนั้น เป็นการนำน้ำหนักเทียบกับมาตรฐานที่ส่วนสูงเดียวกัน ใช้ดูลักษณะการเจริญเติบโตว่าเด็กมีน้ำหนักเหมาะสมกับส่วนสูงหรือไม่ เพื่อบอกระดับภาวะการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 6 ระดับ ดังนี้
- อ้วน (อยู่เหนือเส้น +3D) หมายถึง มีภาวะอ้วนชัดเจน (อ้วนระดับ 2 ) มีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่มีส่วนสูงเท่ากันอย่างมาก เด็กมีดอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน และหากไม่ได้รับการคุมน้ำหนักเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีลักษณะอ้วนมากยิ่งขึ้น
- เริ่มอ้วน (อยู่เหนือเส้น +2D ถึง +3D) หมายถึง น้ำหนักมากก่อนเกิดภาวะอ้วนชัดเจน (อ้วนระดับ 1 ) มีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่มีส่วนสูงเท่ากัน เด็กมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน และเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคตหากไม่ควบคุม
- ท้วม (อยู่เหนือเส้น +1.5SD ถึง+2SD) หมายถึง น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อการมีภาวะเริ่มอวบ เป็นการเตือนให้ระวัง หากไม่ดูแลน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเริ่มอ้วน
- สมส่วน (อยู่ในระหว่าง -1.5SD ถึง +1.5SD) หมายถึง น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับส่วนสูง ต้องเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตอยู่ในระดับนี้ แต่อาจพบการแปลผลผิดในกรณีที่เด็กเตี้ย ซึ่งมักพบว่าเด็กมีรูปร่างสมส่วนเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเด็กมีภาวะขาดอาหาร(เตี้ย) แม้ว่าเด็กจะมีรูปร่างสมส่วนก็ตาม
- ค่อนข้างผอม (อยู่ต่ำกว่าเส้น -1.5SD ถึง -2 SD) หมายถึง น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อภาวะผอม เป็นการเตือนให้ระวังหากไม่ดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้น จะตกอยู่ในระดับผอม
- ผอม (อยู่ต่ำกว่าเส้น -2SD) หมายถึง น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ขาดอาหารฉับพลัน มีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานที่มีส่วนสูงเท่ากัน แสดงว่าได้รับอาหารไม่เพียงพอ
กราฟแสดงน้ำหนักอ้างอิงตามเกณฑ์อายุ ของเด็กหญิงอายุ 6-19 ปี
กราฟแสดงน้ำหนักอ้างอิงตามเกณฑ์อายุของเด็กชาย 6-19 ปี
กราฟแสดงส่วนสูงอ้างอิงตามเกณฑ์อายุของเต็กหญิง 6-19 ปี
กราฟแสดงส่วนสูงอ้างอิงตามเกณฑ์อายุของเด็กชาย 6-19 ปี
กราฟแสดงน้ำหนักอ้างอิงตามเกณฑ์ส่วนสูง ของเด็กหญิง 6-19 ปี
กราฟแสดงน้ำหนักอ้างอิงตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กชาย 6-19 ปี
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดคู่มือการใช้เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ของกรมอนามัยได้ ที่นี!!คลิก
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมอนามัย / สสส.
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่