เลี้ยงลูกแบบฝรั่ง – การมีลูกคือหนึ่งในวาระสำคัญของชีวิต เป็นงานที่ไม่เคยมีคำว่าสบายและ สิ่งที่ท้าทาย คือ จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ดีอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง พ่อแม่ทุกคนต่างต้องการให้ลูกเป็นเด็กดี ฉลาด มีความสุข มีอนาคตสดใส ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของอนาคตลูกอยู่ในมือของพ่อแม่ที่จะเป็นผู้กำหนดนำพาชีวิตลูกให้เป็นไปในทิศทางไหน เพราะการที่เด็กจะมีบุคลิกลักษณะนิสัยใจคออย่างไร หรือ เก่งกาจสามารถเพียงใดซึ่งมีส่วนที่จะกำหนดอนาคตของเด็กได้ คงหนีไม่พ้นรูปแบบในการเลี้ยงดูและการสนับสนุนจากพ่อและแม่
พ่อแม่แต่ละบ้านต่างก็มีแนวทางในการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันออกไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่แต่ละครอบครัวยึดถือปฏิบัติ แต่ว่ากันว่า การเลี้ยงลูกแบบฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ยุโรปหรืออเมริกา มักให้อิสระแก่ลูกค่อนข้างสูง ปล่อยให้ลูกคิดเองทำเอง จนบางครั้งพ่อแม่คนไทยอาจรู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางของเรา
ส่องเทคนิค เลี้ยงลูกแบบฝรั่ง ปล่อยลูกตามสบาย ฟรีสไตล์ แต่ได้ดี?
พ่อแม่เอเชียหรือพ่อแม่ไทยๆ อย่างเราอาจเคยเกิดคำถามในใจกันบ้างไม่มากก็น้อยใช่มั้ยคะ ว่าเพราะอะไรเด็กฝรั่งถึงได้ดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ทั้งกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก พูดจาฉะฉาน และสามารถทำอะไรเองได้มากมายตั้งแต่ยังเล็ก ดังนั้น วันนี้เรามาสอดส่องวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ฝรั่งกันค่ะ ว่าพวกเขาเลี้ยงลูกกันแบบไหน เจ้าตัวน้อยของพวกเขาถึงได้เก่งเกินวัย แล้วเราจะสามารถนำมาปรับเปลี่ยนได้ตามสไตล์ของเราแบบครอบครัวไทยหรือไม่? กับ 8 แนวทางการเลี้ยงลูกแบบฝรั่ง ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจและเป็นตัวของตัวเอง
- ทำตัวเหมือนโค้ช ไม่ ‘ควบคุม’ แต่ ‘แนะนำ’ หน้าที่ของโค้ช คือ เป็นผู้ช่วยนักกีฬาพัฒนาทักษะด้านต่างๆ แต่ผู้ที่ต้องลงแข่งขันเองก็คือนักกีฬา เช่นเดียวกับการเป็นพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่ฝรั่งมักยึดถือเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกคือการทำตัวเสมือนเป็นโค้ช ยอมปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้มากที่สุด พ่อแม่เป็นเพียงผู้ที่พร้อมที่จะสนับสนุนและแนะนำสิ่งดีๆ ในการใช้ชีวิต พ่อแม่ฝรั่งจะลดความวิตกกังวลต่างๆ ที่คิดว่าลูกจะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้หรือไม่ได้ออกไป แล้วให้โอกาสลูกได้ลองใช้ชีวิตด้วยตัวเองในหลายเรื่องตั้งแต่ยังเล็ก
- ไม่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เป้าหมายและแนวทางสำคัญในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ฝรั่ง พวกเขาไม่สนับสนุนแนวคิดในการหลอกหล่อเด็กๆ ด้วยสิ่งต่างๆ เพื่อ มุ่งหวังในการปรับปรุงพฤติกรรมหรือส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลาน เว้นแต่ผลลัพธ์จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเขามองว่าการแทรกแซงเด็กเป็นเหมือนการทำลายความมั่นใจของเด็ก และขัดขวางไม่ให้เด็กๆ ได้ลองเรียนรู้ด้วยตนเอง
- ปล่อยให้ทำสิ่งที่ยากตั้งแต่อายุยังน้อย ให้เด็กๆ ได้เผชิญกับความท้าทายต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ไม่ใช่การปล่อยปละละเลยลูกๆ แต่คือการยืนเคียงข้าง พร้อมที่จะช่วยเหลือระหว่างที่ลูกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้วยความสงบเสงี่ยม เฝ้ามองดู ให้กำลังใจอย่างเหมาะสม และจะยื่นมือช่วยก็ต่อเมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องช่วยจริงๆ การแสดงความกังวลและคอยประกบเคียงข้างลูกในขณะที่เด็กๆ เล็กๆ วัยไร้เดียงสากำลังปีนป่ายเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นอาจทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจ และผู้ปกครองคนอื่นๆ อาจมองคุณเป็นพ่อแม่ที่เอาใจส่ความปลอดภัยของลูก แต่ความจริงแล้ว การคอยประกบลูกทุกฝีก้าวเป็นเหมือนการไปจำกัดความสามารถของเด็กๆ การปล่อยให้ลูกได้ลองทำด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่คอยถามว่าลูกปลอดภัยดีไหม ยืนเคียงข้างลูก ยิ้มอย่างภาคภูมิใจพร้อมพูดว่า “ดูสิ! แม่รู้ว่าหนูทำได้!” และถ้าลูกล้มลง ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยพยุงขึ้นมาในทันที แต่อย่างไรก็ตาม ต้องปล่อยให้ลูกได้ลองทำด้วยตัวเองก่อน
- พร้อมสนับสนุน และสอนการให้กำลังใจตนเอง มนุษย์ทุกคนต้องการกำลังใจ การให้กำลังใจและพร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมลูกในทุกเรื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงพลังบวกและมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กๆ เกิดพลังที่พร้อมที่จะให้กำลังใจตัวเองในการทำเรื่องที่ท้าทายมากมายในชีวิต สร้างบรรทัดฐานในเรื่องการให้กำลังใจตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบาก บอกลูกเสมอว่า ยิ่งฝึกยิ่งเก่ง!” “ถ้าไม่สำเร็จ ต้องลองอีกครั้ง!” สอนลูกให้ฝึกให้กำลังใจตัวเองด้วยแนวคิดว่า “เราต้องทำได้ เราต้องทำได้!” เมื่อเด็กๆ มีความสามารถในการให้กำลังใจตัวเองจะทำให้พวกเข้ามีความฮึกเกิม และกระตือลอล้นในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในการพูดกับตัวเองในเชิงบวก ไม่ว่าคุณจะคนเป็นแบบใด ลูกมักจะเรียนรู้และเลียนแบบในสิ่งที่คุณเป็น การพูดกับตัวเองในเชิงบวก คือ แนวทางในการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งที่ยากลำบากให้เป็นจริง และสำเร็จได้ ซึ่งแตกต่างจากความคิดเห็นที่ดูถูกดูแคลนตัวเองที่พวกเราหลายคนอาจพูดออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งยิ่งหากว่าให้ลูกได้ยินคงไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้นหากรู้ตัวว่าสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเองกำลังหลุดออกจากปากให้รีบหยุดคำพูดเหล่านั้น เช่น “เรื่องแค่นี้ก็ทำไม่ได้” “ทำไมเรามันโงอย่างงี้นะ” แต่ให้ฝึกพูดให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ เมื่อยังทำสิ่งที่ยากไม่สำเร็จ เช่น “ไม่เป็นไร เอาใหม่นะ” “มันจะยากสักเท่าไหร่เชียว” เป็นต้น
- มีศิลปะในการชื่นชมลูก เมื่อลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ดี วิธีนี้คือการฝึกให้ลูกประเมินความสามารถของตัวเองแทนที่จะไปตีตราในความสามารถของลูก เพราะคำชมจากพ่อแม่ คือ การประเมินผลงานของลูก เด็กเล็กๆ จะรู้สึกดีหรือไม่ดีต่อตัวเองส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งที่พ่อแม่พูด การพูดแค่เพียงสั้นๆ ว่า “ทำได้ดีมากลูก!” “เก่งที่สุดเลย” คำพูดลักษณะนี้ พ่อแม่ฝรั่งมองว่า เป็นการชมที่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรไปมากกว่าการที่ลูกทำผลงานได้ดี แต่พวกเขามักเลือกที่จะพูดกับลูกเมื่อลูกๆทำผลงานได้ดี ด้วยคำพูดที่พวกเขามองว่าให้คุณค่าและมีมิติมากกว่านั้น เช่น เมื่อชมว่าลูกทำได้ดีแล้ว จะต่อด้วยการอธิบายถึงเหตุและผล เช่น “เพราะลูกฝึกหนัก และไม่ยอมแพ้ ลูกถึงทำมันได้ไง” คำพูดลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กๆ ได้ประเมินตนเอง และส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกในเชิงบวก และรู้สึกภูมิใจในตัวเองได้มากกว่ากัน
- เน้นที่ความพยายาม ไม่ใช่ผลลัพธ์ บางครั้งมุมมองของพ่อแม่อย่างเรา ๆ อาจมองดูแต่ที่ผลลัพธ์ เช่น ลูกสอบได้คะแนนดี เกรดดี สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ จริงอยู่ว่าผลลัพธ์มีความสำคัญ แต่พ่อแม่ฝรั่งมักมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ กระบวนการและขั้นตอน ตลอดจนความตั้งใจและความพยายามของลูก หากลูกพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ทำอย่างเต็มที่แล้วแต่ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิดก็พร้อมที่จะเข้าใจลูกเสมอและชื่นชมในความพยายามทั้งหมดที่ลูกได้ทำ ซึ่งหากผลลัพธ์ออกมาดี พวกเขาก็มักจะไม่ชมลูกว่าเก่งจังสอบได้คะแนนดีจัง แต่มักเลือกที่จะชมเชยที่ความตั้งใจและพยายามของลูกมากกว่า
- เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างในการทำให้พ่อแม่ฝรั่งฝึกฝนลูกให้เก่งกาจ การสนับสนุนให้ลูกๆ ได้เล่นกีฬา ทำกิจกรรมนอกโรงเรียนมักสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้เลือกค้นหาในสิ่งที่ชอบหรือถนัดตั้งแต่อายุยังน้อย สิ่งนี้ทำให้เด็กมีโอกาสในการค้นพบตัวเองได้เร็วและมุ่งไปยังความสนใจนั้นได้ตั้งแต่ยังเล็ก บางบ้านส่งเสริมให้ลูกเข้าคอร์สฝึกอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย หรือส่งเสริมให้ประกอบอาชีพหารายได้ด้วยตัวเองเพื่อให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เช่น ให้ลูก รับตัดหญ้า ทำงานในซูเปอร์มาร์เกต หรือช่วยเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : psychologytoday.com