สปอยล์ – ทุกวันนี้การตามใจลูกตัวน้อยตลอดเวลาได้กลายเป็นแบบแผนในชีวิตประจำวันของคุณหรือไม่? ยกตัวอย่าง เช่น ในทุกๆ วัน ลูกของคุณได้กลายเป็นเหมือนผู้กุมอำนาจในครอบครัวเพียงเพราะคุณกลัวการปล่อยให้ลูกเสียความรู้สึกหรือเกิดอารมณ์ด้านลบ ถ้าลูกต้องการขนม ลูกก็ได้ หากลูกต้องการดูมือถือจนดึกดื่น คุณก็ยอม แม้ว่ามันจะทำให้ลูกหรือคุณเหนื่อยล้าและเจ็บป่วย คุณก็ยังอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ หากคิดให้ดีแล้วได้คำตอบว่าครอบครัวของคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ นี่เป็นเวลาที่ดีที่จะทำอะไรบางอย่างแล้วค่ะ ซึ่งกุญแจสำคัญคือการเริ่มกำหนดขอบเขตและเริ่มควบคุมความสัมพันธ์ของคุณกับลูกให้ดีก่อนที่จะสายเกินแก้ค่ะ
เลี้ยงลูกอย่างไร? แบบไหนเรียกกว่า สปอยล์
มีเส้นแบ่งระหว่างการเข้มงวดเกินไปกับเอาแต่ใจเกินไป และการหาจุดกึ่งกลางที่มีความสุขเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องสร้างสมดุลอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าคุณจะไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ลูกเสียนิสัย แต่ก็มีโอกาสหลายครั้งที่คุณอาจยังทำแบบนั้น กุญแจสำคัญคือการไม่ทำให้ลูกของคุณเสียนิสัยในแบบที่ทำให้คุณไม่สามารถควบคุมพวกเขาได้ มีเหตุผลมากมายที่พ่อแม่อาจทำให้ลูกเสียนิสัยอย่างคาดไม่ถึง เหตุผลส่วนหนึ่งรวมถึงความรู้สึกว่าตัวเองมีภาระเกินไปหรือต้องทำงาน จนทำให้ขาดพลังงานที่จะบังคับใช้กฎอย่างสม่ำเสมอกับลูกๆ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วค่ะที่ต้องนึกถึงการปรับพฤติกรรมเชิงลบที่อาจส่งผลเสียต่อบุตรหลานของคุณเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
เด็ก สปอยล์ คืออะไร?
เด็กนิสัยเสีย หรือ ถูกเลี้ยงดูแบบสปอยล์ เป็นคำที่ใช้เรียกเด็กที่ทำตัวเอาแต่ใจและไม่ค่อยมีเหตุผล ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดจากวิธีที่พวกเขาถูกเลี้ยงดูมา ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันเป็นความผิดพลาดของผู้ปกครองในการบังคับใช้ข้อจำกัดที่สม่ำเสมอและเหมาะสมกับวัย เด็กที่เอาแต่ใจหลายคนมักเป็นเด็กที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทุกอย่าง
ลักษณะของเด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบ สปอยล์
แม้ว่าจะมีหลายวิธีในการบอกว่าลูกของคุณนิสัยเสียหรือไม่ แต่สัญญาณที่พบบ่อยที่สุดได้แก่
1. เมื่อคุณบอกพวกเขาว่า “ไม่” พวกเขาจะโกรธมาก
เด็กทุกคนอาจแสดงความผิดหวังเมื่อคุณบอกพวกเขาว่าพวกเขาทำไม่ได้ เช่น ไม่ให้กินช็อกโกแลตก่อนอาหารเย็น ไม่ซื้อของเล่นให้เวลาไปเดินห้าง ความจริงแล้วการแสดงออกด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเมื่อไม่ได้อย่างใจอาจเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กวัยเตาะแตะหรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเพียงพอ แต่ถ้าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาและไม่ดีขึ้นเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นโดยเฉพาะเข้าสู่วัยเรียน นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าพวกเขากำลังเสียนิสัย โดยพวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใดๆ
2. ไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี
เด็กนิสัยเสียอาจมีของเล่นและเสื้อผ้าทุกอย่างในโลกนี้ แต่พวกเขาจะรู้สึกไม่เคยพอ พวกเขาต้องการมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้นทุกวัน
3. คิดว่าโลกหมุนรอบตัวพวกเขา
เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบสปอยล์มักจะเอาแต่ใจตัวเอง และคิดถึงตัวเองมากกว่าคนอื่น พวกเขารู้สึกมีสิทธิ์ในสิ่งที่ตัวเองเรียกร้อง และมักจะคาดหวังความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
4. พวกเขาต้องการสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มาโดยเร็วที่สุด
พวกเขามักไม่สามารถอดทนรอได้ เมื่อพวกเขาต้องการอะไร พวกเขาจะต้องการทันที ซึ่งโดยปกติแล้วการยอมแพ้ของพ่อแม่จะง่ายกว่าการเพิกเฉยต่อคำร้องขอของพวกเขา
5. แพ้ไม่เป็น
ไม่มีเด็กคนไหนสนุกกับการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นเกมกระดาน หรือการแข่งขันต่างๆ แต่เด็กนิสัยเสียอาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากกว่าในการจัดการความผิดหวังเมื่อพวกเขาไม่ชนะ ถ้าลูกของคุณเอาแต่โทษคนอื่นสำหรับผลงานที่แย่ คาดหวังว่าจะได้รับการชื่นชมในทุกสิ่งที่พวกเขาทำ ตะคอกใส่คนอื่นที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนต้องการ และล้มเหลวในการให้การยอมรับเมื่อเพื่อนร่วมทีมหรือคู่แข่งประสบความสำเร็จ
6. ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ
เด็กนิสัยเสียอาจใช้กลวิธีบิดเบือนเพื่อให้ได้มาในข้อเรียกร้องต่างๆ ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะหมายถึงการโกหกหรือทำให้พ่อแม่ทะเลาะกัน
7. พวกเขาปฏิเสธที่จะทำงานง่ายๆ ให้เสร็จจนกว่าคุณจะขอร้องหรือติดสินบนพวกเขา
เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองจะกระตุ้นให้เด็กๆ แปรงฟันหรือเก็บของเล่นให้เรียบร้อยหลังเล่นเสร็จ เป็นต้น แต่เมื่อพ่อแม่ขอให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พวกเขาควรฟังและปฏิบัติตาม หากลูกของคุณปฏิเสธที่จะทำสิ่งง่ายๆ จนกว่าคุณจะอ้อนวอนหรือจูงใจเขาด้วย ขนม หรือของเล่น คุณอาจกำลังสร้างวินัยที่ผิดๆ ให้กับลูก
เลี้ยงลูกแบบไหนที่เรียกว่า สปอยล์ อาจทำให้เด็กนิสัยเสีย
1. ให้เวลาลูกอยู่กับหน้าจอมากเกินไป
การดูโทรทัศน์ มือถือ หรือ แท็บเล็ตมากเกินไปนั้นเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคอ้วน ปัญหาสมาธิสั้น และภาวะซึมเศร้า ทางที่ดีพ่อแม่ควรจำกัดเวลาหน้าจอของบุตรหลาน และบังคับใช้กฎเหล่านี้ในขณะที่กระตุ้นให้บุตรหลานของคุณทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเล่นนอกบ้าน จากข้อมูลของ American Academy of Pediatrics เด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี ควรมีเวลาอยู่หน้าจอเพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยเน้นที่การขีดเขียนเพื่อการเรียนรู้
2. ให้ลูกกินอาหารขยะมากเกินไป
นิสัยที่ดีต้องเริ่มแต่เนิ่นๆ และหากคุณใช้อาหารขยะเป็นรางวัลสำหรับพฤติกรรมที่ดี คุณสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยอาหารขยะในมือของคุณ ของกินเล่น เช่น ลูกอม คุกกี้ อาหารรสเค็ม และไอศกรีม ควรเป็นของว่างเป็นครั้งคราวแทนการอนุญาตให้ลูกสามารถกินได้ทุกวัน
3. ไม่สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน
การแบ่งปันมีความสำคัญต่อการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเด็กๆ และจะช่วยสอนบทเรียนชีวิตที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งของเมื่อเทียบกับมิตรภาพ พ่อแม่ควรสอนลูกให้แบ่งปันกับคุณ พี่น้อง และเพื่อนๆ และหมั่นอธิบายประโยชน์ที่ได้รับจากการให้
4. ไม่กำหนดกฎเกณฑ์หรือข้อจำกัด
การรับบทบาทผู้ปกครองหรือเจ้านายที่เข้มงวดอาจดูไม่น่ารื่นรมย์สำหรับผู้ปกครอง แต่ถ้าลูกของคุณไม่เห็นว่าคุณเป็นคนที่มีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ คุณจะไม่สามารถเป็นพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสมเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อต้องควบคุมหรือรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก
5. คุณไม่เคยพูดว่าไม่กับลูก
คำว่า “ไม่” เป็นวลีสำคัญ เสมอของผู้ปกครอง และมันจะต้องมีความหมายที่เด็ดขาด เมื่อคุณพูดว่า “ไม่” ลูกของคุณจะต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณปฏิเสธคือความตั้งใจจริงของคุณ เมื่อคุณตัดสินใจที่จะไม่อนุญาตในการกระทำบางอย่างของลูก คุณจะต้องบังคับใช้ คำว่า ไม่ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ก็คือไม่ โดยไม่ใจอ่อน
6. คุณไม่เคยใช้เวลาห่างจากลูก
การใช้เวลาทุกชั่วโมงที่ตื่นกับลูกของคุณจนถึงจุดที่คุณไม่อนุญาตให้พี่เลี้ยงเด็กหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ดูแลลูกของคุณอาจสร้างความผูกพันที่ไม่ดีต่อตัวเด็กได้ วันหนึ่งลูกของคุณจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมายจากภูมิหลังที่หลากหลาย เพื่อทักษะการเข้าสังคมที่ดีของลูกสิ่งสำคัญคือต้องมีการแยกจากกันบ้าง แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
7. คุณทำทุกอย่างเพื่อลูกของคุณ
พ่อแม่ต้องส่งเสริมความรู้สึกของความรับผิดชอบในตัวลูก อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ จะไม่สามารถเรียนรู้หน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองได้หากคุณแสดงให้เห็นว่าคุณทำทุกอย่างเพื่อพวกเขา ซึ่งหมายถึงการช่วยทำการบ้านแทนลูก เป็นต้น
8. ไม่สอนให้ลูกทำงานบ้าน
เมื่อลูกโตพอที่จะช่วยงานบ้านได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องสอนให้พวกเขาช่วยเหลืองานบ้านตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำความสะอาดโต๊ะหลังอาหารเย็น ล้างจานหรือทิ้งขยะ การสอนความรับผิดชอบให้ลูกของคุณไม่ว่าเรื่องใดๆ นั้นสามารถสร้างจากรากฐานของงานบ้านเป็นพื้นฐานสำคัญ
9. ปล่อยให้ลูกขัดจังหวะในการสนทนา
พฤติกรรมที่ไม่สุภาพในที่สาธารณะถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของเด็กที่เอาแต่ใจ ที่แสดงออกได้ในหลายสถานการณ์ อาทิ ระหว่างที่คุณกำลังพูดคุยกับผู้อื่น แม้ว่าเด็กจะอารมณ์ฉุนเฉียวได้ในบางครั้งที่ต้องรอคอย แต่ถ้าคุณกังวัลที่จะพาลูกไปน้องบ้านเพราะกลัวว่าลูกจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข บทเรียนสำคัญคือการสอนลูกให้เคารพการสนทนาของคุณเมื่อผู้ใหญ่กำลังพูดคุยกันโดยไม่พูดแทรกหรือขัดจังหวะในการพูดของคุณกับคู่สนทนา
10. คุณซื้อของเล่นให้ลูกเพื่อทำให้พวกเขามีความสุข
ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ควรซื้อของเล่นหรือขนมให้ลูก แต่ถ้าลูกของคุณมีของเล่นเต็มตู้ เขาหรือเธออาจไม่ต้องการของเล่นอีกชิ้นเพื่อบรรเทาอารมณ์ฉุนเฉียว หลักง่ายๆ คือการคิดว่าทำไมคุณถึงซื้อของเล่นชิ้นนั้น และวิธีที่มันจะช่วยเพิ่มเวลาเล่นของลูก และพิจารณาสิ่งที่คุณอาจเสริมด้วยของเล่นชิ้นนั้นๆ พ่อแม่ที่ต้องการปลูกฝังให้ลูกเป็นคนที่ได้รับการเลี้ยงดูให้เป็นคนที่รู้จักขอบคุณ มีความอดทน ควบคุมตนเองได้ และเป็นบุคคลที่น่า ชคบหาโดยทั่วไปสามารถใช้มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยชี้นำลูกไปในทิศทางที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน
อ่านต่อ..เลี้ยงลูกอย่างไร? แบบไหนเรียกกว่า สปอยล์ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่