คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหมคะ ระหว่างรับประทานอาหารเย็น อยู่ๆ เจ้าจอมซนวัยก่อนเรียนก็เอาช้อนเขี่ยข้าวเล่นแถมไม่เขี่ยเปล่า เอาผัดผักมาละเลงรวมกับน้ำจิ้มไก่ทอดเป็นภาพศิลป์บนจานอาหารอีกต่างหาก ตัวหนูน่ะสนุก แต่คุณพ่อคุณแม่นี่สิ…ทานข้าวต่อไม่ลงเลย
วิธีที่ถูกต้องในการแก้นิสัยชอบเล่นของกินนั้นไม่ใช่การบอกให้ลูกหยุดเล่น เพราะหนูๆ ทั้งหลายไม่ยอมฟังแน่ สุดท้ายช่วงรื่นรมย์เวลาอาหารเย็นก็จะกลายเป็นสงครามงอแงไปในทันใด วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีที่สุด คือ บอกลูกอย่างนุ่มนวลว่า “อ้าว หนูอิ่มแล้วเหรอ งั้นแม่เอาจานไปเก็บนะ” การยกจานออกไปจากตัวหนูเป็นการเตือนเด็กๆ ทางอ้อมว่า ข้าวมีไว้สำหรับกิน ไม่ได้เอาไว้เล่น
ถ้ากลัวว่าลูกจะทานข้าวไม่พอก็เบาใจได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กวัยก่อนเรียนจะรับประทานอาหารเมื่อเขาหิว และหยุดทันทีที่ท้องอิ่ม
แต่ถ้าหากลูกเล่นของกินตั้งแต่เริ่มรับประทานข้าวไปได้ไม่กี่คำ คุณแม่คงต้องลองสำรวจว่า พ่อหนูแม่หนูกินขนมหรือของว่างจุบจิบก่อนมื้ออาหารจนอิ่มแปล้หรือเปล่า บางครั้งไอศกรีมสักถ้วยอาจไม่หนักนักสำหรับผู้ใหญ่ แต่กินพื้นที่ในกระเพาะเล็กๆ ของหนูไปเยอะก็ได้นะ ดังนั้น 1 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร เป็นช่วงที่ไม่ควรปล่อยให้ลูกกินขนม (ยกเว้นลูกจะหงุดหงิดงอแงเพราะความหิว ก็หาอะไรเบาๆ รองท้องไปก่อน)
ในกรณีที่ลูกบ่นไม่ชอบอาหารที่คุณทำให้ ไม่ต้องรีบวิ่งเข้าครัวไปทอดไข่หรือทำกับข้าวใหม่ตามใจจอมบงการ แต่ชี้ให้เขาเห็นว่าสมาชิกคนอื่นในบ้านก็กินอาหารที่อยู่บนโต๊ะโดยไม่บ่น แต่ถ้าอยากเอาใจเด็กๆ บ้าง ก็ถามเมนูอาหารที่ลูกอยากหม่ำ ก่อนเริ่มทำกับข้าวเลยดีกว่า
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง