คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปคงเคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับลูก (บางคน) ที่มีนิสัยขี้ฟ้องมาบ้าง หลายครั้งขณะคุณกำลังง่วนกับงานบ้าน สาวน้อยหรือหนุ่มน้อยตัวดีก็มายืนอยู่ข้างๆ พลางตั้งหน้าตั้งตาเล่าว่า
“คุณแม่ๆ เมื่อตะกี้พี่มาว่าหนูว่าไอ้ติงต๊อง หนูเลยบอกไปว่า อย่ามาว่าเค้าติงต๊องนะ! ไอ้ติงต๊อง แต่ที่หนูพูดไม่นับว่าเป็นคำหยาบ เพราะหนูบอกพี่ไปแล้วว่าห้ามพูดคำนี้ หนูมาเล่าให้แม่รู้ไว้เท่านั้นแหละ”
ไม่จบง่ายๆ แค่นั้นหรอก เรื่องเล่า (ที่คิดว่าแม่ควรจะรู้เอาไว้) ของลูกนั้นจะทยอยมาทั้งวันจนอารมณ์ดีๆ ของคุณอาจเริ่มขุ่นมัวได้ ถ้าอย่างนั้นทำอะไรสักอย่างจะดีกว่า
การที่ลูกเริ่มมีอาการเป็น “นักฟ้อง” โดยเฉพาะลูกคนเล็กสุดนั้น อาจเป็นเพราะเขาต้องการความสนใจมากเป็นพิเศษ จากที่มีแต่คนเอาใจจนเคยตัว คิดว่าทุกครั้งที่ตัวเองมีเรื่องคับข้องใจพ่อกับแม่จะช่วยได้เสมอ หรือในบางครั้งเป็นเพราะรีบให้พ่อแม่เข้าข้างตนเสียก่อนหลังจากไปมี “กรณีพิพาท” กับพี่หรือน้องมา และตระหนักดีว่าตนเองก็มีส่วนผิดด้วย ในฐานะเป็นกรรมการ อย่าเพิ่งด่วนทำโทษทั้งคนฟ้องและคู่กรณี หาวิธีสานสัมพันธ์ดีกว่า
1. ถามลูกก่อน
ถามลูกว่าการที่เขา (อุตส่าห์) มาฟ้องเรื่องไม่ดีของพี่นั้นเพื่อจะให้คุณลงโทษหรือว่าหาทางแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น เด็กวัยนี้มักจะตอบตรงๆ อยู่แล้ว
2. ถ้าลูกตอบว่า “ให้ลงโทษ”
ก็เป็นการดี เพราะคุณจะได้ใช้โอกาสนี้เปลี่ยนความคิดลูก ให้หาวิธีที่จะช่วยเหลือพี่ของเขาแทน หรือถ้าลูกตอบว่า “ให้ช่วยแก้ไข” ก็ลองกระตุ้นถามให้เขาคิดเองว่าจะช่วยได้อย่างไร เด็กมักจะตอบว่า ไม่รู้ คุณก็ให้คำแนะนำเขา เช่น ลูกไปถามพี่ดูดีไหม ว่าอยากให้ผม/หนูช่วยเก็บขนมที่หกหรือเปล่า
3. อย่าใช้วิธีบังคับ
แต่เมื่อลูกทำตามที่คุณแนะนำให้ชื่นชมเขา และทำแบบนี้ทุกครั้ง ท้ายสุดลูกก็จะเบื่อการฟ้องไปเอง เพราะเริ่มรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ช่วยเขา (แถมบอกให้ไปเสียแรงช่วยเหลือคู่กรณีอีกต่างหาก)
หากทำได้ตามนี้ นอกจากจะช่วยลดนิสัยช่างฟ้องของลูกให้ทุเลาเบาบางลงจนไม่เหลือเลย ในที่สุดแล้วยังช่วยสกัดกั้นปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้องให้หมดไปด้วย เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร AMARIN Baby & Kids
ภาพ : ShutterStock