ทำไม “ขี้อาย” อย่างนี้ล่ะลูก - Amarin Baby & Kids

ทำไม “ขี้อาย” อย่างนี้ล่ะลูก

Alternative Textaccount_circle
event

ทำไมหนอ เวลาออกไปนอกบ้านทีไรเจ้าตัวเล็กเป็นต้องแอบหลบอยู่หลังพ่อแม่เสียทุกที ยิ่งถ้าเจอคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคยนี่แทบจะมุดดินหนีกันเลยทีเดียว ลูกเราขี้อายเกินไปไหม แต่แกเพิ่งเรียนชั้นอนุบาลเองนะ เร็วเกินไปที่จะแก้ไขนิสัยช่างประหม่าหรือเปล่า

อย่าเพิ่งกังวลไป มารีน กรีนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเล็กจากอโกราฮิลล์ แคลิฟอร์เนียให้ความเห็นว่า เด็กบางคนมีนิสัยขี้อายฝังอยู่ตามธรรมชาติ บางครั้งความขี้อายนี้อาจจะเป็นนิสัยส่งต่อทางพันธุกรรมได้ด้วยซ้ำ(ลองหันกลับมามองคุณพ่อคุณแม่เองสิว่าหวั่นใจเวลาต้องเจอคนที่ไม่รู้จักบ้างหรือเปล่า)ดังนั้นนิสัยนี้จึงไม่ใช่พฤติกรรมผิดปกติอะไรเว้นแต่ว่าลูกของคุณจะขี้อายเกินเหตุจนไม่กล้าพูดกับใครเลย คุณอาจจะต้องช่วยดึงเจ้าเต่าน้อยออกมาจากกระดองบ้างสักนิด

1. เริ่มต้นด้วยท่าทาง

หากลูกยังไม่กล้าเอ่ยทักทายคนที่เพิ่งรู้จัก ให้เขาลองใช้ภาษาท่าทางนำไปก่อน เดโบราส โกนิก หนึ่งในทีมกองบรรณาธิการนิตยสาร Parenting ใช้เทคนิคนี้กับเจนี ลูกสาววัย 5 ขวบของเธอ “ฉันบอกเจนีว่า ถ้าเขาเขินจนไม่กล้าคุยกับเพื่อนๆ ของแม่ ก็ให้โบกมือทักทายพวกเธอแทน” วิธีนี้ทำให้เด็กๆ เริ่มต้นสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องกันตัวเองออกมาเมื่ออายเกินกว่าจะเปิดปากพูดส่วนแม่ๆ ชาวไทย วิธี “ธุจ้าคุณน้าสิคะลูก” “ส่งจุ๊บหน่อย” หรือ “บ๊ายบาย” (โบกมือลา) ก็เป็นทางเลือกให้เจ้าหนูขี้อายได้

2. ละลายน้ำแข็ง

หลังจากแนะนำลูกให้รู้จักกับคนใหม่ๆ (ทั้งผู้ใหญ่และเด็กวัยเดียวกัน) อย่าลืมดึงพวกเขาเข้าสู่บทสนทนาด้วยประเด็นที่เด็กๆ ชื่นชอบหรือรู้เรื่องดี เช่น สัตว์เลี้ยงที่บ้านหรือการ์ตูนเรื่องโปรด ฯลฯ เมื่อลูกได้คุยในเรื่องที่เขาสนใจ ความเขินอายก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ

3. เตรียมพร้อม

ก่อนที่จะไปงานเลี้ยงหรืองานรวมญาติที่อาจมีคนใหม่ๆ ลองพูดคุยถึงคนเหล่านั้นอธิบายรูปร่างหน้าตาและความเกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น “คุณลุงชัยเป็นพี่ชายของคุณพ่อ แต่ว่าตัวอ้วนกว่า คุณลุงเคยเอาของเล่นมาให้ตอนหนูยังเล็กๆ ด้วยนะ” วิธีนี้จะทำให้คนใหม่ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับลูกเสียทีเดียว

4. ฝึกหัด

เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดกับคนอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคยบ้าง (แต่พ่อแม่ต้องอยู่ด้วยนะ) เช่น เวลาที่ออกไปกินข้าวนอกบ้าน หลังจากเลือกอาหารแล้ว ลองให้ลูกเป็นคนสั่งอาหารกับคนรับออร์เดอร์ หรือให้เป็นคนบอกอาการตัวเองเวลาไปหาคุณหมอ

5. อย่าผลักดันจนเกินไป

การผลักดันมากเกินไปอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม ลูกอาจรู้สึกกดดันจนไม่กล้าพูดคุยกับใครมากขึ้น หากว่าอาการเขินอายนั้นไม่ได้หนักหนาก็ปล่อยให้ลูกเป็นไปตามนิสัยของแกบ้างก็ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าพฤติกรรมนี้ส่งผลต่อการเรียนหรือการเข้าสังคม (การสร้างเพื่อนใหม่) คุณพ่อคุณแม่คงต้องพูดคุยกับลูก รวมถึงคุณครูของลูกเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่อไป

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up