เรียลพาเรนติ้งเน้นย้ำ ทักษะการเป็นพ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข โดยต่อยอดส่งเสริมลูกให้พัฒนาถึงที่สุดของศักยภาพในตัวเขา ด้วยสติ ปัญญา สมาธิ สร้างสรรค์และฝีมือ หรือ 360 ํ Parenting Skills: Super Brain
ซึ่งมีข้อคิดและทัศนะในการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ที่ท่าน ว.วชิรเมธีได้อธิบายไว้ ซึ่งประจักษ์ในแนวทางการทำงานท่านมาโดยตลอดมาเป็นแนวทาง
สมาธิ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการมีจิตที่มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัว มีความสงบในจิตใจเพื่อให้พร้อมกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว
สติ ในที่นี้หมายถึง การมีจิตใจที่ดีงาม มีศีลธรรมประจำใจ เบิกบาน ผ่องใส มีความยั้บยั้งชั่งใจ ควบคุมความอยากได้ อยากทำสิ่งที่ไม่ดีต่อตัวเอง หรือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เป็นผู้มีวินัย รู้ว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ยอมรับในกฎ กติกา มารยาทและสามารถครองตนอยู่ในสังคมอย่างเป็นพลเมืองดีที่สังคมยกย่องได้
ปัญญา ในที่นี้หมายถึง รู้เท่าทันทางโลก รู้เท่าทันทางธรรม มีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดอย่างมีเหตุผล และรู้จักในการคิดเป็น คิดถูก คิดดี คิดมีประโยชน์
สร้างสรรค์ ในที่นี้คือ มีอิสรภาพในการใช้ปัญญา อิสรภาพในการรู้จักคิดอย่างเป็นตัวของตัวเองในทางที่ถูกต้องเหมาะสม
ฝีมือ ในที่นี้คือ การมีทักษะและการได้แสดงออกถึงความสามารถ หรือความถนัดในทางใดทางหนึ่งในแบบของตัวเอง โดยได้รับการส่งเสริมและให้โอกาสแสดงออกอย่างเป็นอิสระ
อย่างไรก็ต้องตระหนักรู้เพดานสูงสุดที่ลูกจะไปได้
ทั้งนี้เพดานสูงสุดของศักยภาพมนุษย์ที่จะพัฒนาไปถึงได้เราจะต้องตั้งไว้ เพราะหากพ่อแม่ไม่ตระหนักรู้จุดสูงสุดที่ศักยภาพของมนุษย์จะไปถึงได้แล้ว พ่อแม่ก็จะพัฒนาลูกเท่าที่คุณคิดเอาเอง กลายเป็นการพัฒนาลูกโดยมีความอยากของพ่อแม่นำ โดยปราศจากความรู้
พ่อแม่ต้องรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีขีดจำกัดของมัน ดินก้อนหนึ่งคุณจะพัฒนาสูงสุดไปได้ถึงขนาดไหน ดอกไม้ดอกหนึ่งมันจะงามถึงจุดสูงสุดได้เมื่อไร มะม่วงผลหนึ่งมันจะอร่อยถึงจุดสูงที่สุดได้ตอนไหน
คุณต้องมองเห็นภาพรวมของคนหนึ่งคนให้ได้ทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงมาดูบริบทแวดล้อมว่าจะพัฒนาเขาได้แค่ไหน ค่อยๆ พัฒนาไปตั้งเป้าหมายสูงสุดเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติเขามีขีดจำกัดแค่ไหน เราก็ลดลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของเด็กๆ แต่ละคน ค่อยๆ เรียนรู้ร่วมไปกับเขา ถ้าทำได้อย่างนี้เด็กๆ ก็จะมีโอกาสพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามลำดับ
“ให้มองลูกด้วยความคาดหวังที่สูงอยู่เสมอ และจากนั้นมาดูว่าถ้าเราจะพัฒนาเขา เราจะพัฒนาให้เขามีคุณสมบัติอย่างไร”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง