อาการคนท้อง1เดือน เป็นแบบไหน? - Amarin Baby & Kids
อาการคนท้อง1เดือน

อาการคนท้อง1เดือน เป็นยังไง? พร้อม 5 เคล็ดลับดูแลแม่ท้องอ่อน

Alternative Textaccount_circle
event
อาการคนท้อง1เดือน
อาการคนท้อง1เดือน

อาการคนท้อง1เดือน หรือในช่วง 6 สัปดาห์แรก มีอาการอย่างไร ว่าที่คุณแม่ที่เริ่มมีอาการตะหงิด ๆ คิดว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่านะ เพราะสังเกตลักษณะทางร่างกายบางอย่างที่แสดงออกมาจนรู้สึกได้ ซึ่งอาจจะเริ่มจากอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย มาเช็กอาการและเตรียมพร้อมกับการดูแลท้องแรกที่ต้องเอาใจใส่และประคบประหงมกันเป็นพิเศษเมื่อเริ่มรู้ว่าตัวว่าตั้งครรรภ์กันค่ะ

อาการคนท้อง1เดือน พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์

เริ่มตั้งครรภ์ในระยะ 1 เดือนแรก ว่าที่คุณแม่จะสังเกตเห็นอาการและลักษณะทางร่างกายที่มีความเปลี่ยนแปลงจากปกติไปบ้าง โดยในช่วง 1-3 สัปดาห์แรกนั้นจะยังไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน แต่เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4 – 5 สัปดาห์ ก็จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายบางอย่าง ดังนี้

ประจำเดือนไม่มา

โดยปกติประจำเดือนของผู้หญิงจะมาในระยะใกล้เคียงกันทุกเดือน แต่หากพบว่าเดือนนี้ประจำเดือนไม่มาตามปกติเกิน 1 สัปดาห์ หรือขาดหายไปนานเกินกว่า 10 วัน ก็อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นได้ว่า เข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์แล้ว เนื่องจากไข่กับตัวอสุจิเริ่มปฏิสนธิกัน จะทำให้ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนเป็นจำนวนมากออกมา ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการยับยั้งไม่ให้ผนังมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน เป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม สาเหตุของประจำเดือนขาดอาจไม่ใช่อาการที่บ่งบอกว่าตั้งครรภ์เสมอไป แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ความผิดปกติของฮอร์โมนหรือภายในมดลูก การใช้ยาคุมกำเนิด ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ความเครียดมากเกินไปที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของรอบเดือนได้ หรือเป็นโรคบางอย่างที่มีผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น โรคของระบบต่อมไร้ท่อ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับรังไข่ เป็นต้น  ดังนั้นหากประจำเดือนไม่มาก็สามารถใช้ชุดตรวจครรภ์ทำการตรวจเช็ก หรือไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุจากประจำเดือนที่ขาดไปเพื่อความแน่ใจ

ปัสสาวะถี่

อาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของคนท้อง 1 เดือนได้ เนื่องจากร่างกายที่มดลูกเริ่มขยายใหญ่ขึ้นทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูกและบริเวณเชิงกรานมากกว่าปกติ จึงทำให้ไตทำงานหนักมากกว่าปกติ เมื่อมีเลือดผ่านไตมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ไตกลั่นกรองเอาปัสสาวะมามากขึ้น ในขณะเดียวกันมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นและอยู่ติดกับด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะจึงไปเบียดและกดทับกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลทำให้แม่ท้องปวดปัสสาวะบ่อยถี่มากขึ้นกว่าปกตินั่นเอง

มีอาการตกขาวมากผิดปกติ

ในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์หลังขาดประจำเดือนอาจเกิดอาการตกขาวมามาก ถือเป็นอาการปกติของคนท้องในระยะแรก เนื่องจากเมื่อมีการตั้งครรภ์ทั้งสรีระและฮอร์โมนในร่างกายก็มีการปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้มี “ตกขาว” ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ โดยลักษณะของตกขาวที่ปกติจะเป็นลักษณะสีขาวขุ่นหรือมูกใส ถือว่าเป็นสภาวะปกติที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด คุณแม่สามารถดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศได้อย่างสม่ำเสมอ และในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตกขาว หากสีของตกขาวที่มีการเปลี่ยนแปลงมีสีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็นคล้ายปลาเน่า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสมดุลในช่องคลอดอย่างหนึ่ง ที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อในน้ำคร่ำ การคลอดก่อนกำหนด และการติดเชื้อหลังคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่จะต้องรีบรับการรักษา และหากตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายโยเกิร์ต ซึ่งจะเกิดจากการติดเชื้อรา หรือมีอาการคันระคายเคืองร่วมด้วย อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อบางอย่าง ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการทันที

คลิกชมคลิปวิดีโอ “อย่ามองข้าม..ตกขาวในผู้หญิงตั้งครรภ์” จากรายการพบหมอศิริราช โดย ผศ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้สึกมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น

การตั้งครรภ์ในระยะแรกที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและกระทบไปยังภาวะทางอารมณ์ได้ แม่ท้องบางรายอาจรู้สึกมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น หรือบางรายอาจะลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง

รู้สึกเมื่อยล้าอ่อนเพลียง่าย

ในระยะตั้งครรภ์แรก ๆ คุณแม่ส่วนมากมักรู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลียง่าย มีแรงน้อยลง และเหนื่อยง่ายมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากกำลังมีอีกหนึ่งชีวิตเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการปรับสภาพแวดล้อมภายในครรภ์ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของทารกในครรภ์ด้วย อีกทั้งร่างกายยังต้องมีการสูบฉีดเลือดที่มากกว่าปกติเพื่อหล่อเลี้ยงสารอาหารไปยังตัวอ่อนด้วย นอกจากนี้ร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด และระบบไหลเวียนโลหิต มีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัว ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหาร ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและสูญเสียพลังงานมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาการนี้จะค่อย ๆ หายและรู้สึกดีขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง

ดังนั้นในระยะนี้แม่ท้องควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มเติม ลดกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวันลงบ้าง เพื่อให้ได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำอารมณ์ให้ผ่อนคลาย ช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากการตั้งครรภ์

อาการคนท้องระยะแรก

อาการแพ้ท้อง

แพ้ท้อง เป็นหนึ่งในสัญญาณของการตั้งครรภ์ อาการมักจะเริ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ จนถึงประมาณ 15 สัปดาห์ หรือในช่วงไตรมาสแรก โดยอาการและระยะเวลาจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่บางคนอาจจะแพ้ท้องเร็ว คุณแม่บางคนมีอาการแพ้ท้องลดลงตอนตั้งครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ หรือมีบางคนอาจจะไม่พบอาการแพ้ท้องเลย

อาการหลักของการแพ้ท้องที่พบได้ อาทิเช่น คุณแม่จะรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนส่วนใหญ่จะเป็นตอนตื่นนอนตอนเช้าหรือเป็นหนักตอนที่ท้องว่าง มีพฤติกรรมความชอบกินที่เปลี่ยนไป บางคนมีความอยากรับประทานอาหารมากขึ้น บางครั้งก็อยากกินของที่ไม่เคยชอบหรือรู้สึกไม่สามารถกินของที่เคยชอบได้ขึ้นมา หรือมีความรู้สึกไวต่อกลิ่น รู้สึกคลื่นไส้ไม่สบายทันทีเมื่อได้กลิ่นจากปกติทั้ง ๆ ที่เคยคุ้นเคยหรือไม่เคยรู้สึกเหม็นมาก่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาการแพ้ท้องจะเริ่มดีขึ้นเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง ซึ่งมีว่าที่คุณแม่เพียง 50% เท่านั้นที่จะมีอาการแพ้ท้อง หรือบางรายที่มีอาการแพ้ท้องต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์

ความเปลี่ยนแปลงบริเวณหัวนมและเต้านม

อีกหนึ่งสัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ในช่วง 1 เดือนแรกหลังจากขาดประจำเดือน คือความรู้สึกของเต้านมและหัวนมที่จะมีความเปราะบางและอ่อนไหวได้ง่ายมากขึ้น เริ่มมีอาการเจ็บตึงบริเวณเต้านมและหัวนม รู้สึกเสียวได้ง่าย ไวต่อการสัมผัส รวมทั้งมีความเปลี่ยนแปลงบริเวณหัวนมและเต้านม เช่น หัวนมจะมีสีคล้ำขึ้นและขยายใหญ่มากขึ้น บริเวณลานหัวนมจะกว้างขึ้นและมีปุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้นโดยรอบผิวหนังบริเวณเต้านมบางลงจนสังเกตเห็นเส้นเลือดเต้านมมีสีแดงเข้มและนูนเด่นชัด โดยสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และผลของการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมให้กับทารกนั่นเอง ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่มีขนาดพอดีเพื่อช่วยรับน้ำหนักเต้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการเจ็บหัวนมหรือคัดเต้าจะหายไปได้เองภายหลังตั้งครรภ์แล้วประมาณ 3 เดือน

อาการคนท้องระยะแรก เป็นยังไง

ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ

อาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ เป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย และการปรับตัวตามธรรมชาติของร่างกายขณะตั้งครรภ์นั่นเอง แม่ท้องบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น และจะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแม่ท้องเป็นสำคัญ บางคนอาจจะเครียดวิตกกังวล หรือมีอาการภูมิแพ้ที่ทำให้อาการปวดหัวจากการตั้งครรภ์มีความรุนแรงกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งท้องคุณแม่ควรเริ่มปรับพฤติกรรมในการดูแลตัวเองทั้งเรื่องอาหารการกินเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มากพอ ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน พักผ่อนเยอะ ๆ ทำจิตใจให้สงบ อยู่ในที่ ๆ อากาศปลอดโปร่ง ก็จะช่วยห่างไกลหรือบรรเทาอาการปวดหัวลงได้

อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

ภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนไหวได้ง่ายกว่าปกติ มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ หงุดหงิดง่าย มีความกังวล ซึมเศร้า และเกิดความกลัวต่าง ๆ นานา ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายของคุณแม่กำลังพยายามปรับตัวเพื่อสร้างสมดุลในการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ โดยภาวะนี้จะดีขึ้นหลังผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหาอะไรทำเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ และคนใกล้ตัวที่ควรทำความเข้าใจกับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น คอยช่วยดูแลเพื่อทำให้แม่ท้องไม่เครียด ที่จะส่งผลให้ลูกในท้องอารมณ์ดีตามไปด้วย

ท้อง 1 เดือน ดูแลยังไง

เคล็ดลับดูแลแม่ท้องอ่อน ท้อง 1 เดือนควรดูแลตัวเองอย่างไร?

1.ทำการฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์

สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อรู้ว่าได้เป็นแม่แล้ว คือการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ทันทีและควรฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 3 เดือน ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอแนะนำตลอดระยะ 9 เดือนของการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง และคุณพ่อคุณแม่จะได้รับรู้ความเจริญเติบโตและความผิดปกติของทารกในครรภ์ทุกระยะของการตั้งครรภ์จากการไปพบคุณหมอตามนัด

2.พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

ในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ที่ร่างกายของแม่มือใหม่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง และร่างกายจะอ่อนล้า เหนื่อยง่ายกว่าปกติ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือการได้งีบพักสายตาในช่วงกลางวันประมาณ 10 นาทีก็จะช่วยทำให้มีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 14 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จะส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องให้มีสุขภาพดีและแข็งแรงตามไปด้วย

3.ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน

ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับสารอาหารต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ทั้งบำรุงร่างกายตัวเองและส่งผ่านไปยังลูกน้อยในท้อง โดยเฉพาะ 1 เดือนแรกอาหารที่คุณแม่ท้องอ่อนควรได้รับประทาน ได้แก่ อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลตหรือกรดโฟลิก เช่น ผักใบเขียวต่าง ๆ โปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียม เป็นต้น ซึ่งการที่แม่ได้รับสารอาหารเพียงพอก็จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในครรภ์โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมอง แต่หากลูกน้อยขาดสารอาหารก็จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้าลงทั้งทางร่างกายและสมอง  มีผลทำให้น้ำหนักแรกคลอดน้อยและส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์  ทำให้สมองมีจำนวนเซลล์สมองน้อยกว่าที่ควรเป็น และขนาดของสมองเล็กก็จะส่งผลต่อระดับสติปัญญาของทารก นอกจากอาหารที่ควรเลือกรับประทานที่มีประโยชน์แล้ว การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วต่อวัน  ซึ่งการที่คุณแม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ส่งผลให้การไหลเวียนของสารอาหารจากแม่ไปสู่ลูกในท้องทำได้ดีมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดอาการท้องผูก ขับสารพิษได้ดี และควรได้ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว หรือดื่มน้ำผลไม้เพื่อเพิ่มวิตามินให้กับร่างกายก็มีความสำคัญไม่น้อย ส่วนอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เช่น อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารไม่ปรุงสุก ของหมักดอง หรืออาหารรสจัด ฯลฯ และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในขณะตั้งครรภ์เพื่อสุขภาพที่ดีต่อคุณแม่และลูกน้อย

4.ปรับไลฟ์สไตล์ที่เคยเป็นให้ช้าลง

เป็นคนท้องแล้วต้องระวังมากขึ้นกว่าเดิม และอาจจะต้องปรับไลฟ์สไตล์ที่เคยเป็นให้ช้าลงและเบาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง และหลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงในช่วงนี้ รวมถึงการเดินทางที่จะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่ของลูกน้อยในท้อง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ที่ควรจะป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อทารกในครรภ์ได้

5.ไม่เครียดนะแม่

ความเครียดที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่มีผลกระทบต่อลูกในท้องได้ เมื่อแม่ท้องเครียดร่างกายจะหลั่งสารเคมีและสารอะดรีนาลีนออกมาทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกและรกเกิดการหดตัว ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง ทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า มีโอกาสติดเชื้อในครรภ์สูง มีภาวะเสี่ยงต่อการแท้ง และส่งผลให้ทารกหลังคลอดมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพ มีพัฒนาการช้า ส่งผลให้มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ยากตามมาได้ อีกทั้งการที่คุณแม่เครียดลูกในท้องจะสามารถรับรู้อารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ของคุณแม่ได้ ส่งผลกระทบต่อปัญหาทางด้านอารมณ์ของลูกน้อยได้ เช่น ขี้แย  โมโหง่าย ร้องไห้เก่ง กลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก และอาจทำให้เด็กมีภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย ดังนั้นคุณแม่ท้องจึงควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายให้อารมณ์ดี ไม่ให้เกิดความเครียด เช่น การฟังเพลง อ่านหนังสือ ฯลฯ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีและส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในครรภ์

ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ถึงบทบาทจะอยู่ที่คุณแม่มากหน่อยแต่การที่คุณพ่อช่วยดูแลคุณแม่ขณะตั้งท้องก็ถือว่าสำคัญไม่น้อย ทั้งคู่ควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ศึกษาหาข้อมูลการตั้งครรภ์และเตรียมคลอดไปจนถึงหลังคลอด การดูแลสุขภาพคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ถ้าว่าที่คุณแม่มีสุขภาพครรภ์ดีก็จะส่งผลต่อการคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาลืมตาดูโลกได้อย่างมีพัฒนาการที่ดีและสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.kapook.comwww.happymom.in.thwww.honestdocs.co

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก !

อาการคนท้อง เริ่มเมื่อไหร่? อาการไหนแปลว่า ท้องชัวร์!!

7 วิธีดูแลตัวเองตอนท้อง อยากให้ลูกในท้องแข็งแรง ต้องทำสิ่งนี้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up