ความกังวล และข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิง ปัญหาคนท้อง ทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงหลังคลอดลูกไปแล้ว สุขภาพจะเป็นยังไง มีอะไรให้ต้องกังวล หรือต้องดูแลในเรื่องใดบ้าง หมอนิวัฒน์มีคำตอบให้
แม่ถาม หมอตอบ สารพันปัญหาสุขภาพ
ในผู้หญิง และ ปัญหาคนท้อง ที่ต้องรู้เท่าทัน !
Q 1 : ลักษณะน้ำคาวปลาเหมือนกับประจำเดือนหรือไม่ น้ำคาวปลาจะมีกี่วัน
A : น้ำคาวปลา (Lochia) คือสารคัดหลั่ง + ส่วนของโพรงมดลูกที่หลงเหลือจากการคลอดบุตร ซึ่งร่างกายพยายามขับออกจากร่างกาย ในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอดจะมีลักษณะ
- เป็นสีแดงสด เหมือนเลือดประจำเดือน อาจมีลักษณะเป็นลิ่มหรือก้อนเลือดเล็ก ๆ ได้ เรียกว่า Lochia Rubra
- แต่หลังจากนั้น วันที่ 4-10 หลังการคลอดสีของน้ำคาวปลาจะจางลงเรื่อย ๆ เป็นสีชมพู หรือชมพูปนน้ำตาล เรียกว่า Lochia Serosa
- หลังคลอดวันที่ 10 น้ำคาวปลาจะออกเป็นสีขาว หรือขาวปนเหลือง เรียกว่า Lochia Alba และจะค่อย ๆ หมดไปภายใน 4-6 สัปดาห์
บางครั้งคุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำคาวปลาใกล้จะแห้งแล้ว พอให้นมลูก มดลูกบีบตัว ก็อาจจะมีก้อนเลือดหรือเลือดสีแดงออกมาอีก ทำให้หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นประจำเดือน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ประจำเดือน เพราะร่างกายจะไม่มีการสร้างประจำเดือนได้ทันทีในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังคลอด เนื่องจากกว่าที่ฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะลดลง และฮอร์โมนสร้างรอบเดือนใหม่จะทำงาน เร็วสุดก็ต้องใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป ในรายที่ให้นมแม่และน้ำนมไหลค่อนข้างดี ฮอร์โมนกระตุ้นน้ำนม จะทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของรังไข่ไม่ให้ไข่ตก จึงทำให้ไม่มีประจำเดือน ดังนั้นในรายที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และน้ำนมไหลดี ประจำเดือนมักจะมาหลังจาก 6 เดือนขึ้นไป การที่น้ำคาวปลาหมดช้า หรือมีกลิ่นผิดปกติ อาจบ่งบอกถึงภาวะติดเชื้อในมดลูก ดังนั้นถ้าหลังคลอดลูกคุณแม่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ร่วมกับมีไข้ และมีน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ควรรีบกลับมาพบแพทย์
Q 2 : หลังคลอดลูก ควรเว้นระยะการมีเพศสัมพันธ์กี่สัปดาห์
A : หลังคลอดบุตร ควรรอให้น้ำคาวปลาแห้งก่อนจึงค่อยเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเรื่องการเกิดการติดเชื้อเข้าไปในโพรงมดลูก เพราะถ้าน้ำคาวปลายังไหลอยู่ แสดงว่าปากมดลูกยังเปิดอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดภาวะมดลูกอักเสบตามมาได้ โดยทั่วไปแนะนำประมาณ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนหลังคลอด แต่ในช่วงแรกควรป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และคุมกำเนิดไปในตัวด้วย
Must read >> คุณแม่ท้อง มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
Q 3 : ในรอบเดือนผู้หญิงควรมีประจำเดือนกี่วัน ถึงจะเรียกว่าปกติ
A : ปกติรอบเดือนของสตรีทั่วไป จะมีรอบเดือน หรือ Cycle ประมาณ 28-30 วัน แต่บางคนอาจจะมาเร็วกว่านี้บ้าง หรือช้ากว่านี้บ้าง ก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างไร ถ้ารอบประจำเดือนยังอยู่ในช่วง 21-35 วัน คนที่มีประจำเดือนรอบสั้นกว่า 21 วัน (0.5) คนที่รอบเดือนนานกว่า 35 วัน (พบได้ร้อยละ 0.9) ทั้งสองกลุ่มนี้คสรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาต่อไป ส่วนจำนวนวันที่มา ตั้งแต่ 3-7 วัน (นับจากวันที่มาวันแรกจนถึงวันที่ประจำเดือนหมด) ในเรื่องปริมาณของประจำเดือน ส่วนใหญ่จะมามากในช่วง 2-3 วันแรกของรอบเดือน และใช้ผ้าอนามัยประมาณ 2-4 ผืนต่อวัน ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาน้อยวัน มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ถ้ารอบเดือนที่มาสม่ำเสมอ และตรงรอบดี เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประจำเดือนจะมาน้อยกว่ารอบธรรมชาติที่ไม่ได้รับประทานยาคุม เพราะปริมาณฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดจะควบคุมไม่ให้มีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาเกินไป ทำให้ร่างกายไม่ต้องบีบขับประจำเดือนที่เป็นของเสียออกมามาก อาการปวดท้องประจำเดือนก็จะน้อยลง จึงเป็นที่มาของการใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อมารักษาเรื่องการปรับประจำเดือน และรักษาอาการปวดประจำเดือนได้
ส่วนในรายที่มานานเกินกว่า 7 วัน ถ้าลักษณะการออกของประจำเดือนในวันท้าย ๆ คือเกินวันที่ 7 เป็นต้นไป ออกไม่มาก ก็ไม่ถือว่าผอดปกติแต่อย่างไร แต่ถ้าออกเป็นปริมาณมาก ๆ เกือบทุกวัน เปลี่ยนแผ่นอนามัยทุก 2-3 ชั่วโมง นานมากกว่า 7 วัน ร่วมกับการออกเป็นลิ่มเลือด จนบางรายมีอาการอ่อนเพลียหรือหน้ามืดเป็นลม แสดงถึงภาวะซีดจากการเสียเลือดแบบเรื้อรัง และบางรายมีอาการปวดท้องประจำเดือนร่วมด้วย อาจนึกถึงภาวะการมีเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma Uteri) กลุ่มนี้ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
Q 4 : ประจำเดือนที่ออกมาเป็นลิ่มเลือด อันตรายไหม หรือว่าเป็นปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้
A : ประจำเดือนที่ออกเป็นลิ่ม หรือเป็นก้อนเลือด บ่งบอกถึงการที่มีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ ทำให้การไหลของประจำเดือนออกทางช่องคลอดไม่ทัน หรือเรียกว่าระบายไม่ทัน ขังอยู่ในมดลูก ทำให้ขบวนการแข็งตัวของเลือดทำงาน ทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ซึ่งการที่ร่างกายจะขับก้อนเลือดออก จึงทำได้ยากกว่าเลือดประจำเดือนที่เป็นน้ำ ร่างกายจึงต้องเพิ่มแรงบีบมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน มักพบภาวะดังกล่าวในคนไข้ที่มีเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก ที่เรียกว่า Myoma Uteri โดยเฉพาะชนิดที่อยู่ใกล้เยื่อบุโพรงมดลูก หรือเบียดดันเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก (Intramural or Submucous type of Myoma uteri) เนื้องอกพวกนี้จะรบกวนหรือขัดขวางการบีบตัวของมดลูก และเพิ่มพื้นที่ผิวของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้มีเลือดออกมาก และนานกว่าปกติ โดยเฉพาะถ้ามีลิ่มเลือดออกมาด้วยทุกครั้งที่มีประจำเดือน ควรรีบปรึกษาแพทย์
Must read >> ประจำเดือนสีดำ เลือดล้างหน้าเด็กจะมีข่าวดีหรือผิดปกติ?
Q 5 : ปัญหาคนท้อง อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือไม่
A : กรมอนามัยแจ้งให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ แต่ถ้าช่วงเวลาดังกล่าว หญิงตั้งครรภ์ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ หมอแนะนำว่าควรรอให้อาการแพ้หายไปหรือดีขึ้นก่อน ค่อยไปรับการฉีดวัคซีน เพราะบางรายพบภาวะแทรกซ้อนหลังการได้รับวัคซีนได้เช่นกัน เช่น อาการไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือมีคลื่นไส้ อาเจียนได้ ซึ่งรายที่มีอาการแพ้ท้องอยู่อาจทำให้อาการยิ่งแย่ลง หมอเห็นว่าควรเลื่อนออกไป 2-4 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ่นค่อยกลับมารับวัคซีนน่าจะเหมาะสมกว่าครับ
Q 6 : 1-2 วันก่อนประจำเดือนจะมา หรือขณะมีประจำเดือน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้หรือไม่
A : ปัจจุบันพบว่าฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ทุกวัน ไม่เกี่ยวกับรอบเดือนของสตรี แต่สตรีบางท่านมีอาการก่อนหรือขณะมีประจำเดือน เช่น บางคนมีตัวรุม ๆ เหมือนมีไข่ต่ำ ๆ บางคนมีอาการเปลี่ยนแปลงของอารามณ์ บางคนประจำเดือนมามากจนซีด อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อรับวัคซีนแล้วบางท่านมีผลข้างเคียงจากวัคซีน ก็จะโทษว่าเป็นสาเหตุจากวัคซีน ดังนั้นถ้าไม่สบายใจก็เลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอจนประจำเดือนหายดี ค่อยไปรับวัคซีน แต่ถ้าคนไหนคิดว่าแข็งแรงดีก็สามารถฉีดได้เลยครับ ไม่ต้องกังวลเรื่องประจำเดือน
Q 7 : คุณแม่ที่ให้นมลูกสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ไหม และจะมีผลต่อน้ำนมหรือไม่
A : คุณแม่ให้นมบุตรอยู่ สามารถรับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ครับ ไม่ว่าจะเริ่มเป็นเข็มแรก หรือเป็นเข็มต่อเนื่อง ต่อจากที่ได้รับขณะตั้งครรภ์ มีรายงานการตรวจภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนของแม่ในน้ำนมที่ใช้เลี้ยงลูกด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อทารกในด้านภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิดโดยทางอ้อมด้วยครับ
Q 8 : ปัญหาคนท้อง ติดโควิด หากรักษาอาการจนหายเป็นปกติแล้ว สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิคได้ทันทีหรือไม่
A : โดยปกติคนที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แล้ว ร่างกายคนไข้ที่เคยติดเชื้อ จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ ซึ่งภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งในแต่ละโรคไม่เท่ากัน เช่น โรคอีสุกอีใส เมื่อเราติดเชื้อเพียงหนึ่งครั้งร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ได้เกือบตลอดชีวิต (มีน้อยรายที่กลับมาเป็นซ้ำ) แต่ไวรัสโควิด 19 เนื่องจากเชื้อมีการพัฒนาหลายสายพันธุ์ เราอาจจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่เคยติด แต่ไม่มีภูมิต่อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ ดังนั้นกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว โดยฉีดหลังหายจากการติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
Q 9 : ผู้หญิงหลังคลอดลูก มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าปกติจริงหรือเปล่า และจำเป็นต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปีไหม
A : การมีเพศสัมพันธุ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีคู่นอนหลายคน ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ และการมีบุตรหลายคน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นผู้หญิงหลังคลอดบุตร มีความเสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่าปกติ ก็มีส่วนที่เป็นจริงอยู่ ถ้าเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์ หรือไม่เคยติดเชื้อ HPV เลย ดังนั้นหญิงหลังคลอดบุตรจึงต้องมีการตรวจภายใน และรับการตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกหลังคลอด หลังจากนั้นยังแนะนำให้รับการตรวจทุก 1 ปี เพราะยังเป็นมะเร็งที่พบเป็นลำดับต้น ๆ ของผู้หญิงไทย ยกเว้นในรายที่ได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งครบแล้ว สามารถรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกห่างออกได้ทุก 3 ปี
Q 10 : คลอดลูกคนแรกด้วยวิธีการผ่าคลอด ถ้าท้องลูกคนที่สอง สามารถผ่าคลอดได้อีกหรือเปล่า มีข้อห้ามอะไรหรือไม่
A : การคลอดลูกคนแรกด้วยวิธีการผ่าคลอด เมื่อตั้งครรภ์ท้องที่สอง เป็นข้อบ่งชี้สำหรับประเทศไทย ในการแนะนำให้ใช้วิธีการคลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอดซ้ำ เนื่องจากหลังการผ่าตัดคลอดใน้องแรก จะมีรอยแผลเป็นที่กล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อ่อนแอ (Weak point) ของมดลูก เมื่อเข้าสู่ระยะคลอดกล้ามเนื้อมดลูกจะบางลง จากการับตัวของมดลูก และการกดของศีรษะลูก และเมื่อต้องเบ่งคลอดจากการคลอดธรรมชาติ อาจทำให้เกิดรอยปริฉีกหรือแตกของมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการตกเลือดในช่องท้อง นำมาซึ่งการเสียชีวิตของมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นการผ่าตัดคลอดบุตรจึงยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ถ้าท้องแรกเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใช่เกิดจากการผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะกับทารกในครรภ์ เช่น ผ่าคลอดจากภาวะรกเกาะต่ำ สามารถให้ลองคลอดธรรมชาติเองได้ ที่เรียกว่า VBAC (Vaginal Birth After Cesarean Section) ซึ่งต้องมีการเตรียมทีมแพทย์และห้องผ่าตัดให้พร้อม ในกรณีที่มดลูกเกิดแตกสามารถเข้าทำการผ่าตัดได้แบบรวดเร็วทันที
สำหรับอีกคำถามหนึ่งที่คุณแม่หลายคนชอบถาม คือ ถ้าผ่าตัดคลอดบุตร สามารถผ่าได้กี่ท้อง คำตอบของหมอก็คือ กี่ท้องก็ได้ ไม่ได้จำกัดแค่เพียง 2 ครั้ง หรือ 2 ท้อง ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของคนไข้ แต่มีข้อแนะนำอยู่ว่า การผ่าตัดคลอดในแต่ละครั้งจะทำให้เกิดพังผืดในช่องท้อง ซึ่งพังผืดที่เกิดขึ้นจะทำให้การผ่าตัดครั้งต่อ ๆ ไป มีความยากลำบากมากขึ้น อาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ได้สูงขึ้น ทางการแพทย์จึงแนะนำว่าควรผ่าตัดคลอดแค่ 2 ครั้ง การผ่าตัดครั้งที่ 3 หรือ 4 ควรสงวนไว้ในกรณีจำเป็นจริง ๆ หรือแพทย์พิจรณาแล้วว่า มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการผ่าตัดในครั้งต่อไป
บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา
สำหรับเรื่อง สารพันปัญหาสุขภาพในผู้หญิง และ ปัญหาคนท้อง ที่ต้องรู้เท่าทัน! ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ HQ หนึ่งใน 10 ของ Power BQ (Power Baby & Kids Quotients) อาวุธที่ช่วยให้ลูกฉลาดรอบด้าน เพราะเด็กยุคนี้มีแค่ IQ และ EQ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังมี Quotient ต่างๆ ถึง 10Q นั่นคือ “10 ความฉลาด” ที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ครบไปพร้อมกันนั่นเอง ทั้งนี้ HQ หรือ Health Quotient คือ ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ
ซึ่งคนที่มี HQ ดี จะรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น กินอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ ขับถ่ายดี ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของตัวเอง ฯลฯ สำหรับเด็กเล็กเราอาจจะยังไม่เห็นพัฒนาการด้านนี้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มปลูกฝังและใส่ใจเรื่องสุขภาพ การดูแลร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับและดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นการสร้าง HQ ที่ดีในตัวลูกได้ ยิ่งในปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีเยอะขึ้น โรคใหม่ๆ แปลกๆ เชื้อโรคที่พัฒนาขึ้นจาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และมลภาวะต่างๆ เราจึงต้องสอนให้ลูกของเราฉลาดใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ รอบตัว เพราะการไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐนั่นเองค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
หมอสูติตอบเอง ฝากท้องแบบไหนดี? “ ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา ”
คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!