อันดับ 2 โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
โรคเบาหวานโดยมากเกิดจากพันธุกรรมร่วมกับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป น้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นต้น สำหรับคุณแม่ เบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์แม้จะไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนก็ตาม
ทำไมจึงเป็นเบาหวาน และใครเสี่ยงเป็นบ้าง
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดที่สร้างจากรก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่เพียงพอ ยิ่งคุณแม่ท่านใดชอบรับประทานรสหวาน อ้วน มีไขมันสะสมที่หน้าท้องมากเกินอยู่แล้ว ยิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมากยิ่งขึ้น นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจช่วยเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนี้
- พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน และคุณแม่มีอายุมากกว่า 25 ปี
- ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- เมื่อครั้งคุณแม่เป็นทารก มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 3.8 กิโลกรัม
- ก่อนตั้งครรภ์เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เมื่อตั้งครรภ์มีน้ำหนักขึ้นเกิน 1 กิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์
- เคยคลอดลูกน้ำหนักมากกว่า 3.8 กิโลกรัม
- ท้องที่แล้วเคยเป็นโรคเบาหวาน และท้องก่อนเคยมีทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
- เป็นโรครังไข่หนา
- ใช้สารสเตียรอยด์เป็นประจำ
- ตรวจปัสสาวะพบว่ามีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน
โดยปกติจะมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว และมักจะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ แต่หากมีความเสี่ยงเป็นโรคสูง ก็จะตรวจทันทีที่ฝากครรภ์
ผลกระทบของเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
เบาหวานเต็มขั้น (Overt diabetes) ผลกระทบต่อแม่ เช่น ครรภ์เป็นพิษ แฝดน้ำ บาดเจ็บจากการคลอด ผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เช่น ทารกพิการ คลอดก่อนกำหนด คลอดยากเพราะตัวโต ปอดไม่พัฒนา ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด
เบาหวานในขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เนื่องจากค่าน้ำตาลไม่ได้สูงก่อนตั้งครรภ์ โอกาสเกิดทารกพิการหรือภาวะแทรกซ้อนน้อยพอๆ กับคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่ผลกระทบอื่นๆ ยังมีอยู่เช่นเดียวกับเบาหวานเต็มขั้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่