อาการผิดปกติ – ช่วงเวลาที่น่าประทับใจ และน่ายินดีที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของผู้หญิง คือ ช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสดูแลและเลี้ยงดูทารกน้อยให้สมบูรณ์แข็งแรง แต่ความทุกข์อาจอยู่ไม่ไกลออกไปนัก หากแม่ท้องพบว่าตัวเองมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ หรือมีผลกระทบจากโรค หรือความผิดปกติใด ๆ ก็อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้ ในบางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อทั้งแม่และลูกในเวลาเดียวกัน ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรมั่นใจว่าจะไม่เป็นอะไร หรือลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพียงลำพัง แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพ ต่อไปนี้ คือ อาการผิดปกติ 5 ที่พบเจอได้บ่อยซึ่งสามารถเป็นข้อบ่งชี้ของการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติและคนท้องควรต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
10 อาการผิดปกติ ตอนท้อง ที่แม่ควรรีบไปหาหมอ!
การตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดอาการต่างๆ มากมายซึ่งเป็นปกติ ตั้งแต่ ความอยากอาหารไปจนถึงการแพ้ท้อง และแน่นอนคือเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แต่ทว่าอาการที่ผิดปกติก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่าภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญ คือ คนท้องควรต้องตระหนักถึงอาการการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ต่อไปนี้ และคุณควรรีบติดต่อแพทย์ทันที :
1. อ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะมาก
เป็นเรื่องปกติที่คนท้องจะรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติเล็กน้อยในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ความเหนื่อยล้าและเวียนศีรษะที่ค่อนข้างรุนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคโลหิตจางได้ โรคโลหิตจางเป็นผลมาจากจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำซึ่งหมายความว่ามีการขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายไม่เพียงพอ
นอกเหนือจากความเหนื่อยล้าอย่างมากและหายใจถี่แล้วยังสามารถเห็นภาวะแทรกซ้อนจากการหายใจได้อีกด้วย นี่เป็นอีกข้อบ่งชี้ว่าการขนส่งออกซิเจนไม่มีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วสิ่งนี้สามารถรักษาได้อย่างโดยการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กมากขึ้น หรืออาหารเสริมธาตุเหล็ก
2. คลื่นไส้อย่างรุนแรง
อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่พบบ่อยโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปเรียกว่าอาการ แพ้ท้อง อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามมีเส้นแบ่งระหว่างอาการปกติและผิดปกติ หากแม่ท้องมีการอาเจียนไม่หยุด นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีภาวะที่เรียกว่า อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง (hyperemesis gravidarum) ซึ่งเป็นภาวะที่มีโอกาสทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงได้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา หากคุณไม่สามารถลดการอาเจียนได้ภายใน 8 ชั่วโมง คุณควรโทรติดต่อแพทย์ของคุณอย่างเร่งด่วน
3. ตรวจช่องคลอด พบว่ามีเลือดออก
การวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงประมาณ 20-30% มีอาการเลือดออกในระหว่างการตั้งครรภ์ระยะแรก ในบางกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในสองสัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดซึ่งเกิดจากไข่ที่ปฏิสนธิฝังตัวเองในเยื่อบุมดลูก ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ระยะแรก อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) หรือการระคายเคืองที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตามหากคุณพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่มากขึ้น แนะนำให้ใส่แผ่นรองหรือซับในกางเกงใน เพื่อให้คุณสามารถตรวจสอบได้ว่าคุณมีเลือดออกมากแค่ไหน และเป็นลักษณะเลือดออกแบบใด หากคุณพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นสีแดงสดจำนวนมาก หรือมีลิ่มเลือดอุดตัน คุณควรโทรติดต่อแพทย์ของคุณ
4. เป็นตะคริวที่ท้องอย่างรุนแรง
ในขณะที่ความเจ็บปวดจากการเตะของลูกน้อยในครรภ์เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังของการตั้งครรภ์ แต่คนท้องควรสังเกตอาการตะคริวหรือปวดท้องอย่างรุนแรง หากอาการตะคริวไม่บรรเทาลงอาจบ่งบอกถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับรกหรือการหยุดชะงักตามธรรมชาติของการตั้งครรภ์ซึ่ง รวมถึงการแท้งบุตร
5. ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นผิดปกติ
ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นเรื่องปกติเนื่องจากความเครียดที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย อย่างไรก็ตามหากความดันโลหิตเริ่มสูงขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่นอาการบวมและตาพร่ามัวอาจมีภาวะที่เรียกว่าครรภ์เป็นพิษ หากเป็นเช่นนี้อาจจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด และทารกอาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติมภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อให้มีพัฒนาการตามธรรมชาติต่อไปก่อนออกจากโณงพยาบาลได้
6. การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ลดลง
ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 13 ถึง 25 สัปดาห์ คุณจะรู้สึกว่าลูกน้อยของคุณเริ่มเคลื่อนไหวได้ ในหลาย ๆ กรณีคุณแม่อาจไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครั้งแรก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่าผู้หญิงแต่ละคน และการตั้งครรภ์ในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน หากคุณตั้งครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ และไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ของคุณ เมื่อคุณรู้สึกว่าลูกน้อยของคุณเคลื่อนไหวแล้วคุณควรติดต่อแพทย์ของคุณ หากคุณสังเกตเห็นการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ลดลง (น้อยกว่า 10 ครั้งในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมง)
7. มีไข้สูงกว่า 38 °C
คุณอาจคิดว่าการมีไข้เล็กน้อยไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าคุณตั้งครรภ์ และมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส และแม้จะทานยาลดไข้แล้วก็ตามแต่ไข้ก็ไม่มีท่าทีจะลดลงดังนั้นการไปพบแพทย์คือทางออกที่ปลอดภัยที่สุด
8. ปัสสาวะแสบขัด และปัสสาวะบ่อย
ความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงความถี่ในการปัสสาวะ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ประมาณ 5% ของผู้หญิงสามารเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) ได้ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในระหว่างตั้งครรภ์ และในจำนวนนี้ 1 ใน 3 มีแนวโน้มที่จะมีอาการกำเริบ โดยทั่วไป การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ในกรณีที่การติดเชื้อลามไปถึงบริเวณไตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด (IV) ข้อควรระวังคือ อาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การติดเชื้อในไต รวมทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการขัดขวางการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษและการคลอดก่อนกำหนดได้
9. ของเหลวในช่องคลอดมีสีหรือกลิ่น
การเกิดมูกหรือตกขาวไม่ใช่เรื่องแปลกในระหว่างตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามของเหลวที่เกิดขึ้นควรเป็นสีใสหรือสีขาวและไม่มีกลิ่น ถ้านอกเหนือจากนี้แสดงว่าอาจเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้นได้ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เจ้าของครรภ์
10. อาการเจ็บท้องคลอด
หากคุณมีอาการเจ็บท้อง คุณควรโทรหาแพทย์ทันที ซึ่งอาการเจ็บท้อง รวมถึงการหดรัดตัวของมดลูก 5 ครั้งใน 1 ชั่วโมงหากอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ การหดรัดตัวของมดลูกทุก ๆ 5 นาที หรือน้อยกว่าเป็นเวลา 1 ชั่วโมง และ /หรือ การแตกของเยื่อบุมดลูกหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “น้ำคร่ำแตก” ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์ในทันที
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : raleighob.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ สาเหตุ ภาวะแท้งคุกคาม แม่ท้องต้องสังเกตให้เป็น!
ครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร ประสบการณ์ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์
เลือดออกทางช่องคลอด ไม่ใช่เลือดประจำเดือน สัญญาณอันตรายที่ต้องไปหาหมอ!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่